รู้จักโรค ‘ขี้เต็มท้อง’ ผลร้ายคนชอบอั้น ปล่อยไว้นานเสี่ยงเดินไม่ได้

ขี้เต็มท้อง

รู้จัก ‘ภาวะอุจจาระอัดแน่น’ หรือ ‘ขี้เต็มท้อง’ ผลร้ายคนชอบอั้น ปล่อยไว้นานเสี่ยงเดินไม่ได้ พร้อมบอกท่านั่งขับถ่ายที่เหมาะสม

เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาการเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรจะต้องใส่ใจ หมั่นตรวจสุขภาพและไปพบแพทย์เมื่อมีอาการน่าสงสัย

อย่างเช่น ในกรณีของ “ตุ๊กตา จมาพร” หรือ “ตุ๊กตา The Voice” นักร้องสาวที่ออกมาเปิดเผยอาการป่วยภาวาอุจจาระอัดแน่น หรือที่เธอขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “โรคขี้เต็มท้อง” ซึ่งเป็นผลมาจากการชอบอั้นอุจจาระของเธอ ด้วยวิถีชีวิตในการเดินทางไปทำงานที่ต้องอยู่บนท้องถนน ติดประชุม และอื่นๆ จากปกติที่เป็นคนสุขภาพดี ระบบขับถ่ายไม่มีปัญหา ก็มีอาการดังนี้

– เวียนหัวคลื่นไส้ ตลอดเวลา แบบต้องหาอะไรพิงหัวตลอด
– หายใจติดขัด เหมือนแน่นท้อง หายใจได้ครึ่งเดียว รู้สึกต้องหายใจลึกๆ ตลอดเวลา
– กินข้าวได้น้อยมาก ไม่อยากกินอะไร หรือกินไปได้นิดเดียวก็แน่นท้อง
– เรอเปรี้ยว และตดเปรี้ยว ตลอดทั้งวัน เหมือนมีรถสูบส้วมเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขมคอทั้งวัน
– ลมในท้องเยอะ แน่นท้อง แสบท้องเบาๆ อาการคล้ายๆ โรคกระเพาะ
– ปวดตัว ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ

Advertisement

กระทั่งไปหาหมอจึงได้เอกซเรย์ท้องและพบว่ามีอุจจาระอัดแน่นเต็มท้อง ซึ่งหมอได้ให้ยาระบายแก่นักร้องสาว และแนะนำว่าไม่ควรไปหาซื้อยาระบายมากินเองเด็ดขาด

อ่าน : นักร้องสาว ตุ๊กตา จมาพร แชร์ประสบการณ์ พร้อมเล่าอาการป่วยเป็นโรคขี้เต็มท้อง

ทว่าอาการแบบนี้ก็ไม่ใช่เคสแรก ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2562 มีการรายงานข่าวชายออสเตรเลีย วัย 57 ปี ก็มีอาการอุจจาระอุดตัน หนักถึง 2 ลิตร จนเดินไม่ได้ ซึ่งเขามีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดขา จนต้องนำตัวไปส่งโรงพยาบาล แพทย์ตรวจแล้วพบว่าเป็นผลมาจากอาการท้องผูกมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งพออุจจาระอัดแน่นกระทั่งไปกดทับเส้นเลือดบริเวณใกล้เคียงทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะขาขวา จนเกิดอาการเดินไม่ได้นั่นเอง

สะท้อนให้เห็นว่า อาการท้องผูกไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน

ทั้งนี้ “โรคขี้เต็มท้อง” หรือที่ทางแพทย์เรียกว่า “ภาวะอุจจาระอัดแน่น” มีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไร?

ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ในเอกสารการแพทย์ เรื่อง “ภาวะท้องผูก ใครว่าแก้ไม่ได้ ?” เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ระบุตอนหนึ่งว่า

ภาวะท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำออกมากเกินไปหรือกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่บีบตัวเชื่องช้าหรือเฉื่อยชา ทำให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่อย่างช้าๆ ส่งผลให้ก้อนอุจจาระแข็งและแห้งยิ่งๆ ขึ้น

ภาวะท้องผูกอาจทำให้อุจจาระอัดกันเป็นก้อนแข็งอยู่ในลำไส้และไส้ตรงแน่นมากจนทำให้แรงบีบตัวของลำไส้ใหญ่ไม่พอเพียงผลักดันให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนลงมา ภาวะนี้เรียกว่า “อุจจาระอัดแน่น” (Fecal impaction) เกิดขึ้นบ่อยในเด็กและผู้สูงวัย

ภาพเอกซเรย์ของนักร้องสาวตุ๊กตา จมาพร

ทว่าข้อควรจำคือ 1.ภาวะท้องผูกนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนในเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต 2.ผู้คนจำนวนมากคิดว่าตนเองมีท้องผูก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมีการขับถ่ายอุจจาระปกติสม่ำเสมอ 3.สาเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดของภาวะท้องผูกเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลีลาชีวิต ได้แก่ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องและขาดการออกกำลังกาย

4.สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ยาบางชนิด กลุ่มอาการลำไส้ทำงานแปรปรวน การใช้ยาระบายในทางที่ผิด และโรคจำเพาะบางโรค และ5.การซักประวัติและการตรวจร่างกายทางการแพทย์ อาจเป็นการทดสอบเดียวที่จำเป็นก่อนที่แพทย์จะเริ่มให้การรักษา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณรับประทานยาอะไรเป็นประจำ เพราะว่ายาบางชนิดทำให้เกิดท้องผูกได้ คุณอาจได้รับการตรวจทางทวารหนักร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะสอดนิ้วมือที่สวมถุงมือและหล่อลื่นแล้วเข้าไปทางรูทวาร เพื่อตรวจคลำหาก้อนหรือความผิดปกติภายในไส้ตรง และยังสามารถตรวจหาว่ามีเลือดปนในอุจจาระหรือไม่

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะบรรเทาอาการลงได้และป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยการปฏิบัติตนตามแนวทางง่ายๆ ต่อไปนี้ 1.รับประทานอาหารที่มีสมดุลและมีเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำง่าย ได้แก่ ผักและผลไม้สด 2.ดื่มน้ำปริมาณมากเพียงพอ 3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 4.ภายหลังอาหารมื้อเช้าหรือมื้อเย็นควรมีเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายโดยไม่ถูกรบกวน 5.อย่าเพิกเฉยเมื่อมีความรู้สึกปวดอยากขับถ่ายอุจจาระ 6.ตระหนักว่านิสัยการขับถ่ายปกตินั้นมีความแปรปรวนแตกต่างกัน และ 7.เมื่อใดที่นิสัยการขับถ่ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือเกิดต่อเนื่องยาวนาน ควรปรึกษาแพทย์

กล่าวถึงผลร้ายปลายเหตุไปแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ “ต้นเหตุ” โดยสาเหตุของท้องผูกที่พบบ่อย ได้แก่
1.การรับประทานอาหารที่ไม่สม่ำเสมอ และมีปริมาณเส้นใยไม่เพียงพอ
2.ขาดการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ)
3.ยาบางชนิด เช่น ยาระงับปวด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาระงับปวดที่เป็นสารเสพติด), ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมและแคลเซียม, ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด (ยากลุ่มยับยั้งแคลเซียม), ยารักษาโรคพาร์กินสัน, ยาต้านปวดเกร็ง, ยาต้านซึมเศร้า, ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก, ยาขับปัสสาวะ, ยาต้านการชัก
4.การเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือกิจวัตร เช่น การตั้งครรภ์ อายุมาก การเดินทางท่องเที่ยว
5.การใช้ยาระบายที่ไม่ถูกต้อง
6.การละเลยที่จะออกแรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระ
7.การขาดสารน้ำ
8.โรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (พบได้บ่อยที่สุด)
9.ปัญหาของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
10.ปัญหาของการทำงานของลำไส้เอง (ภาวะท้องผูกเรื้อรังไม่รู้สาเหตุ)

แล้วขั้นไหนถึงเรียกว่า “ท้องผูก” สำหรับการวินิจฉัยภาวะท้องผูกนั้น ส่วนใหญ่ได้จากการซักถามอาการและตรวจร่างกาย แพทย์อาจวินิจฉัยโดยใช้เกณฑ์ดังนี้ คือ การมีอาการสองอาการใดๆ ต่อไปนี้ ปรากฎขึ้นนานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ (ไม่จำเป็นต้องเกิดเรียงตามลำดับ) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อาการได้แก่
– ขับถ่ายอุจจาระถี่น้อยกว่า 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์
– ต้องออกแรงเบ่งมากขณะถ่ายอุจจาระ
– อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง
– รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่หมด
– รู้สึกว่ามีอะไรมาขัดขวางหรืออุดกั้นบริเวณไส้ตรงต่อกับรูทวาร

ปิดท้ายด้วย ท่านั่งขับถ่ายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายอุจจาระของคุณ ท่านั่งที่ถูกจะช่วยให้ไส้ตรงทำมุมดีขึ้นต่อการขับถ่าย ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและไม่ล้า ท่าที่ควรนั่งขับถ่าย คือ ท่าประเภทนั่งยองหรืองอเข่า โดยใช้เทคนิคดังต่อไปนี้
– นั่งสบายๆ บนส้วม โดยแยกขาทั้งสองข้างออกจากกันให้กว้างกว่าส่วนสะโพก
– วางเท้าทั้งสองข้างในแนวราบแนบไปบนม้าวางเท้าที่สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร
– โน้มตัวไปข้างหน้าและวางปลายแขนไปบนต้นขา
– ผ่อนคลายและหายใจปกติ อย่ากลั้นหายใจ
– ทำให้เอวคุณขยายออก โดยยื่นกล้ามเนื้อหน้าท้องคุณออกมา
– ผ่อนคลายบริเวณรูทวารหนัก
– ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องของคุณในการออกแรงเบ่งอย่างนุ่มนวลแต่แรงพอ ให้แนวแรงมีทิศทางไปทางด้านหลังและลงล่างไปยังรูทวารหนัก
– อย่านั่งนานกว่า 10 นาที ถ้าลำไส้คุณยังไม่พร้อมให้ลองใหม่อีกครั้งในภายหลัง

ที่มา : คุยข่าวเมาท์กับหมอ : อุจจาระอุดตัน 2 ลิตร จนเดินไม่ได้ พบหมอรามาฯ (https://www.youtube.com/watch?v=lo2NP2XV0qI), ภาวะท้องผูก ใครว่าแก้ไม่ได้ ? (https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-45)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image