เรื่องคนท้องต้องรู้ ‘ความดันสูง’ เสี่ยง ‘ครรภ์เป็นพิษ’ เช็กปัจจัย-กลุ่มไหนเสี่ยงและวิธีป้องกัน

เรื่องคนท้องต้องรู้ ‘ความดันสูง’ เสี่ยง ‘ครรภ์เป็นพิษ’ เช็กปัจจัย-กลุ่มไหนเสี่ยงและวิธีป้องกัน

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมสำหรับต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว การดูแลและบำรุงลูกน้อยระหว่างตั้งครรภ์ นับเป็นหัวใจสำคัญที่คุณแม่และคนรอบข้างต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว จะต้องใส่ใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการดูแลด้านอาหารและโภชนาการ การพักผ่อน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ไม่เพียงจะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทว่ายังเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” อีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อความรู้ที่ครบรอบทุกมิติ นพ.ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทาง ด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพผู้หญิง (Women’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช เผยว่า

“ครรภ์เป็นพิษ” คือ ภาวะที่มีความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ทั้งต่อแม่และลูก

Advertisement

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
หากกล่าวถึงความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

1. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Gestational Hypertension) คือ ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพียงอย่างเดียว ตรวจพบหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์

2. ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia and Eclampsia) คือ ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตรวจพบหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ อาจเกิดอาการรุนแรงจนชัก และเสียชีวิตได้

3. ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง (Chronic Hypertension) คือ โรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือ ตรวจพบก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์

4. ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ร่วมกับครรภ์เป็นพิษ (Chronic Hypertension with Superimposed Preeclampsia) โดยความดันโลหิตสูงทุกชนิด อาจพัฒนากลายเป็นครรภ์เป็นพิษรุนแรง และอาจส่งผลต่อชีวิตของแม่และลูกได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ
• เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน
• ความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์
• โรคไต
• โรคเบาหวาน
• โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง เช่น SLE, Antiphospholipid Syndrome
• ครรภ์แฝด
• อ้วน
• ประวัติครอบครัว มีคนเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ
• อายุมากกว่า 35 ปี

ครรภ์เป็นพิษมีอาการอย่างไร
• ความดันโลหิตสูง > 140/90 มิลลิเมตรปรอท
• ปวดหัว
• ตามัว
• ปวดท้อง จุกแน่นชายโครงขวา หรือ ใต้ลิ้นปี่
• บวมที่เท้า ขา มือ หน้า
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ
• ปัสสาวะเป็นฟอง
• ตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
• หอบเหนื่อย
• ชัก
• รกลอกตัวก่อนกำหนด
• ทารกโตช้าในครรภ์

การประเมินความรุนแรง
• ครรภ์เป็นพิษไม่รุนแรง (Preeclampsia without Severe Feature) คือ ความดันโลหิตสูง > 140/90 มิลลิเมตรปรอท ไม่มีอาการรุนแรง และไม่มีภาวะแทรกซ้อน

• ครรภ์เป็นพิษรุนแรง (Preeclampsia with Severe Feature) คือ ความดันโลหิต > 160/110 มิลลิเมตรปรอท มีอาการรุนแรง ตรวจพบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ การทำงานของไตลดลง หรือไตวาย เม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ น้ำท่วมปอด หากมีอาการรุนแรง ชัก หรือหมดสติ ต้องรีบทำการรักษา เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งแม่และลูก

การตรวจคัดกรองและการป้องกัน
• การตรวจคัดกรองสามารถใช้การซักประวัติความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ การเจาะเลือดประเมินความเสี่ยง อัลตราซาวด์ตรวจเส้นเลือดที่มดลูก และพิจารณาให้ยาแอสไพริน ป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษ

การดูแลผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและการรักษา

• ครรภ์เป็นพิษสามารถพยากรณ์การเกิดและป้องกันได้ คุณแม่ไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

• หากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ควรดูแลรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขานั้น ๆ อย่างใกล้ชิด ควบคุมโรคให้อยู่ในภาวะสงบ และปรึกษากับแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์

• สังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการที่เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เช่น บวมมาก น้ำหนักขึ้นเร็ว ปวดหัว ตามัว หอบเหนื่อย ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์

• หากวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษรุนแรง ต้องทำการรักษาโดยการยุติการตั้งครรภ์ เช่น ผ่าตัดคลอด อย่างเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางในการรักษาจากอายุครรภ์ ณ ขณะวินิจฉัยเป็นหลัก จำเป็นต้องให้ยาป้องกันการชักตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึง 24 ชั่วโมงหลังคลอด และให้ยาลดความดันโลหิต

• หากอายุครรภ์ยังก่อนกำหนดมาก ทารกยังไม่สมบูรณ์มากพอ อาจรักษาด้วยการประคับประคอง ควบคุมความดันโลหิต ร่วมกับให้ยากระตุ้นปอดทารก และยุติการตั้งครรภ์เมื่อมีข้อบ่งชี้

• ร่วมดูแลรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ๆ เช่น อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

แม้ว่าภาวะครรภ์เป็นพิษจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การฝากครรภ์ที่ถูกต้อง การตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์แต่ละคน ก็อาจจะช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

นพ.ธิติพันธุ์ น่วมศิริ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image