Shoplifters ชีวิตครอบครัวชนชั้นล่าง “เรียบง่าย” แต่ “ซับซ้อน” ยิ่ง : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

ไม่มีทุ่งนาข้าวเขียวขจี ไม่มีปลาดิบชวนยั่วน้ำลายให้เห็น ไม่มีสี่แยกใหญ่ที่ผู้คนใส่สูทผูกเนกไทเดินขวักไขว่สวนกัน ไม่มีภาพจำอันคุ้นตาชวนส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นใดๆ

แต่ภาพที่ปรากฏตรงหน้าตลอด 2 ชั่วโมงในหนัง Shoplifters คือ “ครอบครัว” ชนชั้นแรงงานระดับล่างตั้งแต่ชายกรรมกรก่อสร้าง สาวโรงงานซักอบรีด เด็กชายเสื้อผ้าสีหม่นหลวมโพรก หญิงวัยรุ่นกับอาชีพเอ็นเตอร์เทนหนุ่มผ่านการโชว์สยิว

เด็กหญิงตัวน้อยแววตาเศร้ากับรอยแผลไหม้จากเตารีด และหญิงชราในบ้านรก ต้นไม้ใบหญ้าท่วมหัว หาความมินิมอลแบบแม็กกาซีนญี่ปุ่นไม่เจอ

Advertisement

พอๆ กับที่เราเห็นตัวละครดำรงชีพด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ อย่างดีก็กินโซเม็งคลายร้อน การได้กินปลาทูน่าคือโอกาสพิเศษ

“สภาพอากาศ” ที่หนาวจัดและร้อนจัด ที่ปรากฏในหนังยังถูกนำมาใช้ส่งต่ออารมณ์ให้คนดูสัมผัสได้ถึง “ความยากลำบาก” ในชีวิตของกลุ่มชนชั้นล่างชายขอบของกรุงโตเกียวได้เป็นอย่างดี

หน้าตาตัวละครที่ดูมันเยิ้ม เหนียวเหนอะหนะตามลำคอแขนขาในหลายฉาก ยิ่งขับเน้นความอัตคัดของชีวิตคนชั้นล่างในชุมชนเมือง

แต่ท่ามกลางฤดูร้อนนั้น กลับมี “ความอบอุ่น” ผูกพันของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว ผ่านฉากกินข้าวเย็นพร้อมกันแบบนั่งกระจัดกระจายกันตามอัธยาศัย ตะโกนคุยกันไปมา การฟังเสียงพลุแบบมโนภาพร่วมกันทั้งที่มองไม่เห็น และฉากสมาชิกทั้งบ้านนั่งรถไฟไปเที่ยวทะเล

ขณะที่บรรยากาศหนาวเหน็บของหิมะ ถูกใช้เป็นฉากขยี้ความสัมพันธ์ของ “พ่อ-ลูก” ปลอมๆ ที่อีกฐานะหนึ่งคือ “คู่หูหัวขโมย”

ภาพยนตร์ Shoplifters ของ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” หนังรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ ถ่ายทอดภาพ “ชีวิตอันเรียบง่าย” แต่ “ใช้ชีวิตได้ยาก” ของสังคมชายขอบญี่ปุ่นออกมาได้ทุกขณะจิต

ทั้งความหดหู่ และความผูกพันที่ซุกซ่อนอยู่ ด้วยธีมเรื่องครอบครัวที่ตั้งคำถามว่า หากสมาชิกในครอบครัวไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ ทางสายเลือด พวกเขาพอใจจะ “เลือก” ครอบครัวของตัวเองได้หรือไม่ และถามต่อไปว่า ถ้ามีโอกาสทำได้…มันจะออกหัวหรือออกก้อย?

หนังยังก้าวไปถึงประเด็นว่า หากคนชราที่ไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยวพร้อมเปิดบ้านให้คนแปลกหน้าที่ไม่รู้ที่มาที่ไป มาร่วมชายคาครอบครัวเดียวกันเล่า?

ภาพยนตร์ Shoplifters ตั้งคำถามถึง “ครอบครัว” ที่ไม่ได้มาจากสายเลือดเดียวกันได้แยบคายหลายมิติ

“โคเรเอดะ” ได้แรงบันดาลใจเขียนบทหนัง Shoplifters จากข่าวดังในญี่ปุ่นที่รายงานว่า ครอบครัวหนึ่งไม่ยอมแจ้งการตายของหญิงชราในบ้านเพื่ออำพรางรับเงินบำนาญผู้สูงอายุจนถูกจับได้ ไปจนถึงข่าวการโกงเงินและฆ่ากันในครอบครัว

เช่นเดียวกับในหนังที่เมื่อเรื่องแดงขึ้นมา “สื่อมวลชน” ตีแผ่ทางข่าวที่อาจชวนให้คิดได้ว่า นี่คือเรื่องของ “แก๊งมิจฉาชีพ” หรือการ “ก่ออาชญากรรม” มากกว่าเป็น “ครอบครัวต่างสายเลือด”

กลายเป็นหนังคนละม้วน มีอีกเรื่องราวที่สังคมพร้อมจะเชื่ออีกด้าน

เชื่อมโยงได้ตั้งแต่ ลักลอบเข้าไปอยู่ในบ้านหญิงชรา ลักพาตัวเด็ก ลักขโมยของตามร้านค้า และซ่อนศพ

ชีวิต “ครอบครัวต่างสายเลือด” ที่ยากจะเข้าใจนี้ เป็นดั่งเช่นที่ หญิงชราผู้เป็นย่าของบ้าน พูดไว้ “มันจะเป็นแบบนี้ได้ไม่นานหรอก”

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ…

ในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ หนังเรื่องนี้ทำให้สังคมญี่ปุ่นอภิปรายกันจนถึง นโยบายเงินสวัสดิการผู้สูงอายุโดยรัฐ และโครงสร้างปัญหา “ความยากจน” ที่ในหนังเสนอให้เห็นผ่านการทำงานแบบ Workshare ให้แรงงานแบ่งครึ่งกันเข้างาน เพื่อลดรายจ่าย ส่วนตัวลูกจ้างเท่ากับถูกลดชั่วโมงทำงานและต้องหารค่าแรงกับเพื่อนร่วมกะ

เฉกเช่นหนังหลายเรื่องที่เคยได้รางวัลใหญ่ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่กลับมีประเด็นกับบ้านเกิดตัวเอง ซึ่ง Shoplifters ก็มิอาจรอดพ้น

เมื่อคนดูสายอนุรักษ์กร่นด่าบนโซเชียลมีเดียว่า ตัวหนังสร้างภาพ “ความอัปยศของญี่ปุ่น” และโคเรเอดะ เลือกปิดตาเล่าแต่มุมที่ตรงข้ามกับประเด็นอาชญากรรม

ท้วงจนถึงว่าหนังเรื่องนี้ได้ทุนสร้างจากภาครัฐ

โคเรเอดะบอกว่า “เป็นเรื่องชอบธรรมที่งานศิลปวัฒนธรรมจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เพื่อสร้างภาพยนตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐได้”

เขายังปฏิเสธที่ภาครัฐจะจัดงานแสดงความยินดีและยกย่องหลังคว้ารางวัลปาล์มทองคำ ด้วยเหตุผลต้องการสร้างระยะห่างกับหน่วยงานรัฐ

น่าสนใจที่ทั้งตัวหนังและมุมมองของ “โคเรเอดะ” ทำให้สังคมญี่ปุ่นเกิดการอภิปรายถกเถียงกัน

…เป็นความสำเร็จของ Shoplifters ที่ตั้งคำถามผ่านภาษาหนังได้อย่างเรียบง่าย แต่ภายในกลับซับซ้อนยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image