ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ ‘ตัวตน’ ที่ไม่อยู่ใต้เงา ‘พี่ชาย’

ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ 'ตัวตน' ที่ไม่อยู่ใต้เงา 'พี่ชาย'

ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ ‘ตัวตน’ ที่ไม่อยู่ใต้เงา ‘พี่ชาย’

“รู้สึกเกร็งๆ เหมือนกันเวลามีคนถามว่าเป็นน้องของท่านสุรินทร์ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) เหรอ!” “น้องท่านสุรินทร์หนิ!”

“บางทีก็นึกว่า ทำไมคนไม่รู้จักดิฉันด้วยตัวตนดิฉันจริงๆ รู้ในสิ่งที่ดิฉันสนใจ เพราะเราต่างก็มีความถนัด มีความสนใจในมุมของเราเอง แม้อาจไม่โดดเด่น เป็นที่ทราบ เป็นที่รู้จักในวงกว้างเหมือนพี่ชาย”

นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง ซึ่งเรียกแทนตัวเองว่า “ย๊ะ” กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มระหว่างพักหาเสียง ในศึกเลือกตั้งชิง ส.ส.เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ณ สำนักงานพรรค ปชป. สาขาเขตคลองสามวา

ฮู วัยดียะห์ พิศสุวรรณ อุเซ็ง เขตคลองสามวา

 

ฮูวัยดีย๊ะเป็นบุตรลำดับที่ 6 จากบุตร 11 คน ซึ่งมี ดร.สุรินทร์เป็นพี่ชายคนโตสุด ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เด็ก อานิสงส์จากกิจการของครอบครัวที่ก่อตั้งโรงเรียนปอเนาะบ้านตาล หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทำให้ลูกสาวเจ้าของโรงเรียนอย่างฮูวัยดีย๊ะได้ฝึกทุกอย่าง ตั้งแต่บทบาทภารโรง ยันผู้บริหารโรงเรียน จนเรียนจบ มศ.5

Advertisement

เธอสอบเอนทรานซ์ติดแต่ไม่สะดวกเดินทางไปเรียน เพราะต้องอยู่บริหารโรงเรียนและดูแลครอบครัวที่ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากพี่ๆ ไปเรียนต่างจังหวัดและต่างประเทศกันหมด เธอจึงทิ้งโอกาส แต่ก็ยังไปลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ

ซึ่งด้วยภาระหน้าที่ต่างๆ จึงเป็นลักษณะลงทะเบียนเรียน แต่บางครั้งไม่ได้ไปสอบ ที่สุดต้องใช้เวลากว่า 6 ปี ถึงเรียนจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านผู้นำการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างติดตามสามีคือนายมูหมัดลูตฟี อุเซ็ง ซึ่งไปรับราชการเป็นนักการทูตแคนเบอร์รา

เมื่อศึกษาจบ ฮูวัยดีย๊ะมีโอกาสได้เข้ามาสนับสนุนงานเบื้องหลังของพี่ชาย โดยเฉพาะการเป็นผู้ช่วย ส.ส. จนพี่ชายเห็นแวว กระทั่ง ดร.สุรินทร์ขยับไปสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรค ปชป. แล้วผลักดันน้องสาวลงสมัครแบบเขตแทน

Advertisement

ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ฮูวัยดีย๊ะชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 1 จ.นครศรีธรรมราช ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 อยู่จนครบวาระ

และยังมีโอกาสได้สนับสนุนงานการเมืองของพรรค ปชป.เรื่อยมา อาทิ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยนายอิสสระ สมชัย เป็นอดีตรองนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช

ซึ่งถือเป็นหนึ่งเดียวในบรรดาน้องๆ ของ ดร.สุรินทร์ที่สนใจเรื่องการเมืองเหมือนพี่ชาย

 

“ถือเป็นความโชคดีของดิฉันที่มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดพี่สุรินทร์ ที่ผ่านมาได้ฟังแนวคิด เห็นวิธีการทำงาน การวางตัวกับชาวบ้าน กับนักการเมืองและผู้ใหญ่มาตลอด ซึ่งพี่สุรินทร์เป็นต้นแบบนักการเมืองที่เป็นที่ยอมรับ เป็นที่รัก ไว้วางใจของประชาชนและของพรรค พี่ได้ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ในงานรับผิดชอบทางการเมือง”

“เหล่านี้ถือเป็นแบบอย่างที่ดิฉันจะก้าวตาม แม้ศักยภาพของดิฉันอาจไม่ได้มากมายเหมือนพี่ แต่ก็เชื่อในตัวเองว่ามีวิธี มีมุมที่เป็นเรื่องเฉพาะของตัวเอง อย่างความสนใจประเด็นสำคัญแต่ซับซ้อนละเอียดอ่อน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดสิทธิ”

นางฮูวัยดีย๊ะเล่าว่า เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็น “สิ่งที่ไม่เห็นด้วย” มาตลอด ที่ผ่านมาสังคมไทยอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในบ้าน ภายในครอบครัว แต่เธอกลับคิดว่า นี่คือปัญหาสังคม

“ช่วงที่เป็น ส.ส.จึงได้ยกประเด็นนี้ในการพูดคุยเวทีต่างๆ และในฐานะเลขานุการชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ซึ่งมี ส.ส.หญิงจากพรรคต่างๆ และ ส.ว.เป็นสมาชิก ก็ได้นำเสนอประเด็นนี้จนมีความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องเสนอกฎหมายเข้ามาจัดการดูแล ช่วงนั้นต่อสู้กันมาก ท่ามกลางสังคมไทยที่มองประเด็นนี้เป็นเรื่องปกติ” ฮูวัยดีย๊ะเล่าลงรายละเอียด

แม้ที่สุดจะผลักดันไม่สำเร็จ ระหว่างที่เป็น ส.ส. หากเธอก็ยังคงติดตาม กระทั่งมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

“พ.ร.บ.ความรุนแรงครอบครัว อาจมีข้อบกพร่องบ้าง ซึ่งหากมีโอกาสได้กลับเข้าไปจะกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่ใช่เรื่องที่จะพูดคุยเจรจากันได้ จะใช้ระบบอุปถัมภ์ที่ให้ย้ายไปอยู่บ้านญาติแล้วปัญหาจะจบ มันไม่จบแน่ แต่คิดว่าต้องนำผู้เสียหายออกจากปัญหาเพื่อดูแลอย่างเป็นระบบ มีการสร้างสังคม สิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเพื่อเยียวยา” เธอยืนยันความตั้งใจ

ผู้สมัครหญิงวัย 56 ปี ยังเปิดมุมมองถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อย่างประเด็น “เด็กหญิงมุสลิมที่มักถูกจับแต่งงานตั้งแต่เด็ก” ว่าเธอไม่เห็นด้วยเพราะสภาพกาย จิตใจ วุฒิภาวะยังไม่พร้อมเป็นพ่อแม่คน แต่งงานไปก็จะสร้างวังวนปัญหาไม่รู้จบ

“เรื่องนี้ต้องแก้ที่ทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความกังวลและปัดความรับผิดชอบที่จะดูแลลูกด้วยการจับแต่งงาน และปัญหาก็จะวนเวียนอยู่เป็นวงจร ไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำเป็นต้องให้เวลาในการดูแลลูก ทั้งหญิงชายให้ได้รับความรักความอบอุ่นในครอบครัว”

“ครอบครัวที่ดีเกิดขึ้นได้ด้วยความพร้อม รวมถึงปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ ที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจลงไปในหลักสูตรการศึกษา สอนกันตั้งแต่เด็กๆ ควบคู่ไปกับการมีเวทีเสวนาให้ความรู้ต่างๆ แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ตลอดจนผู้นำศาสนา เพื่อให้เข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้อง”

“ไม่ตีความศาสนาอย่างเข้าใจผิด เพราะคำสอนของศาสนาอิสลามไม่ได้ให้สิทธิแก่เพศใดเหนือเพศใด หรือมากกว่าเพศใด ไม่ได้สนับสนุนให้แต่งงานตั้งแต่เด็ก และไม่ได้ห้ามผู้หญิงทำงาน” ฮูวัยดีย๊ะย้ำ และว่า

 

“การเป็นนักการเมืองหญิงที่มีน้อยอยู่แล้ว หากไม่สนใจประเด็นละเอียดอ่อนอย่างนี้ ทั้งที่เหมาะกับสถานภาพความเป็นผู้หญิงที่มีความละเอียดอ่อน มีความเป็นแม่ ทำให้เสียโอกาสในความเป็นผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิง ดิฉันจึงให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้มากเป็นพิเศษ” ผู้สมัครสตรีมุสลิมทิ้งท้าย

สำหรับการเลือกตั้ง 2562 ฮูวัยดีย๊ะถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของเขตคลองสามวา แต่มีภารกิจเดิม คือการดูแลทุกข์สุขประชาชนในพื้นที่พหุวัฒนธรรมไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่มีประชากรประมาณ 190,000 คน

ด้วยเป็นผู้สมัครคนใหม่ในการสมัครครั้งนี้ เธอจึงต้องทำการบ้านด้วยการทำงานอย่างหนัก เดินลงไปในทุกพื้นที่หาเสียงตามชุมชนต่างๆ ภายใต้สโลแกน “เรียบง่าย เข้าใจ จริงใจ”

ใช้ “จุดแข็ง” ความเป็นผู้หญิงกล่าวปราศรัยเข้าถึงใจชาวบ้าน ไม่ว่าร้ายคนอื่น ภายใต้ความกดดันที่ครั้งนี้ “จะพลาดไม่ได้”

อีกหนึ่งนักการเมืองหญิงน่าจับตา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image