ไวรัสระบาด เศรษฐกิจอ่วม ธุรกิจไหนรอด-ดับ เคล็ดลับเซฟเงินในกระเป๋า

ไวรัสระบาด เศรษฐกิจอ่วม ธุรกิจไหนรอด-ดับ เคล็ดลับเซฟเงินในกระเป๋า

ไม่เพียงแต่ภาคประชาชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะภาคเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก “อ่วม” ไม่แพ้กัน

ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ประกอบกับคนงดเดินทางออกจากบ้านและบริษัทออกมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from home) แต่ในขณะเดียวกันหลายธุรกิจก็เริ่มปรับตัว “รุก” ช่องทางออนไลน์และเพิ่มช่องทางเดลิเวอรีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม หรือ อาจารย์เก้ ที่ปรึกษาอาวุโส เมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน ในประเทศไทย กำลังชะลอตัว ทั้งการลงทุนหรือที่กำลังจะสร้างธุรกิจต้องชะลอออกไปก่อนเพื่อลดความเสียหายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ด้วยประเด็นหลัก คือจัดกิจกรรมไม่ได้ เพราะต้องติดต่อกับคนหมู่มาก

ดังนั้น ในช่วงนี้ผู้ประกอบการก็จะใช้กลยุทธ์หลักๆ อยู่ 2 ตัว กล่าวให้เข้าใจโดยง่าย คือ ปิดกิจกรรมชั่วคราวเพื่อลดต้นทุน ชะลอกิจกรรมออกไป และเพิ่มช่องทางใหม่ อะไรที่ทำออนไลน์ได้ก็มีการปรับเข้าสู่ออนไลน์เป็นหลัก

Advertisement

“ภาคเอกชนตอนนี้ไม่มีการลงทุนใดๆ ธุรกิจกลุ่มค้าปลีกต้องพยายามหาช่องทางในการนำผลิตภัณฑ์ไปหาลูกค้าผ่านการจัดส่งถึงบ้าน หรือเดลิเวอรี แต่การทำธุรกิจในรูปแบบนี้ทำได้เฉพาะบางธุรกิจที่มีเงินทุนและกำลังมากพอ” ดร.ปรเมษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจรายเล็ก ส่วนใหญ่ก็จะเลือก “ปิดร้านไปก่อนชั่วคราว” รอให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ก็ต้องฟื้นฟูกลับมาใหม่ เพราะประเมินแล้วว่าจะจ่ายต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ไม่ไหว กล่าวคือ การจ่ายเงินเดือนแบบไม่มีรายได้ ทำไม่ไหว ต้องลดคนออก หรือปิดร้านไปก่อนชั่วคราว

Advertisement

ดังนั้น จึงเห็นหลายบริษัทออกมาเลย์ออฟพนักงาน หรือว่าให้หยุดงานแต่ไม่จ่ายเงินเดือน ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายคงที่ให้ได้มากที่สุด

“เป็นการรักษาธุรกิจตัวเองไว้ในอีกทางหนึ่ง เพราะหลายคนสร้างธุรกิจมากับมือ เขามองว่าเป็นครอบครัว” ดร.ปรเมษฐ์ชี้

กระนั้นในช่วงที่ธุรกิจบางประเภทซบเซา ธุรกิจที่โตพรวดพราด อย่าง “ธุรกิจเดลิเวอรี” เพราะแม้ว่าสถานการณ์จะน่าเป็นห่วง แต่จำนวนคนยังเท่าเดิม และทุกคนต่างมีความต้องการอุปโภคและบริโภค จึงเห็นภาพของ “พนักงานเดลิเวอรี” หลายแบรนด์ นั่งรอสินค้าอยู่ตามร้านอาหารต่างๆ

อาจารย์เก้เผยว่า สำหรับ “ธุรกิจอาหาร” แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่สามารถเก็บไว้ได้หลายเดือน ช่วงนี้ยอดขายดีมาก แต่มีการคาดการณ์ว่าจะขายดีอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งที่มีคนออกมาซื้อของเพื่อกักตุน แต่หลังจากนี้อาจจะชะลอตัวลง 2.กลุ่มบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม และคาเฟ่ เป็นกลุ่มที่รับผลกระทบหนักมาก และน่าจะส่งผลให้ธุรกิจประเภทนี้ชะลอตัวยาวไปจนถึงปีหน้า

ดร.ปรเมษฐ์ ให้เหตุผลว่า กว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง และคนจะรู้สึกปลอดภัยที่จะออกมารับประทานอาหารนอกบ้านก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม จากไลฟ์สไตล์ของคนไทยจะเห็นได้ว่า ปกติไม่ค่อยอยู่บ้านกันมากนัก ชอบที่จะออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ฉะนั้น ก็อาจจะใช้เวลาไม่นานที่คนจะเริ่มออกนอกบ้านหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

นอกจากธุรกิจอาหารแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในต้องใช้ในการป้องกันตัวเอง อย่าง น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย สบู่ แอลกอฮอล์ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ขายดี

“ธุรกิจบางตัวโตไวมาก ธุรกิจบางตัวก็หายไปเลย เช่น โรงแรมและร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งก็จะชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น แท็กซี่ รถเมล์ สายการบิน เพราะคนอยู่กับที่ อยู่กับบ้านไม่เดินทาง และเป็นธุรกิจที่ติดต่อและเจอคนเยอะ หลายคนจึงหลีกเลี่ยงที่จะใช้บริการ” อาจารย์เก้กล่าว และเสริมว่า

“ในช่วงเวลาต่อจากนี้ หลายองค์กรและบริษัทน่าจะต้องมีการพูดคุยถึงเรื่อง ‘ระบบฟื้นฟูธุรกิจ’ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะต้องมีกลยุทธ์ที่ปรับใช้ในตลาดได้ทันที ไม่ใช้เวลานานในการเตรียมตัว” ดร.ปรเมษฐ์ทิ้งท้าย

เคล็ดลับบริหารเงินช่วงโควิดระบาด

กล่าวในมุมสถานการณ์เศรษฐกิจ การรับมือและปรับตัวของผู้ประกอบการไปแล้ว ในส่วนของลูกจ้าง พนักงาน และแรงงานก็ได้รับผลกระทบทั่วกัน หลายคนตกงานและขาดรายได้

กับเรื่องนี้ ดร.ปรเมษฐ์ได้แนะวิธี “บริหารเงิน” ว่า “ให้พยายามถือเงินสดเอาไว้” และ “ไม่ควรนำไปลงทุนกับธุรกิจหรือสินค้าที่ต้องมีการแบ่งจ่าย” อาทิ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยง เพราะต้องมีรายได้เพื่อไปจ่ายทุกเดือน แต่สถานการณ์ในขณะนี้ไม่แน่นอน นอกเสียจากว่าทางสินเชื่อหรือธนาคารจะมีมาตรการช่วยลดดอกเบี้ย ฯลฯ ก็อาจจะช่วยได้ อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าให้ชะลอไว้ก่อน

ทั้งนี้ ควร “ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย” และ “ใช้จ่ายแต่กับของที่จำเป็น” รวมไปถึงให้ติดตามมาตรการด้านการเงินของแต่ละธนาคาร สินเชื่อทั้งบ้าน รถ และอสังหาริมทรัพย์ ที่ออกประกาศมาเพื่อช่วยเหลือ หากต่อรองได้ก็ให้ต่อรอง

“ขณะนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนได้ทบทวนรายรับรายจ่ายของตัวเอง หลายคนอาจจะเซอร์ไพรส์ได้ว่า เราสามารถใช้ชีวิต 1 วัน โดยใช้จ่ายไม่ถึง 100 บาทก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นควรลิสต์ดูว่าสิ่งไหนจำเป็นสิ่งไหนไม่จำเป็น เพื่อปรับการใช้จ่ายให้เหมาะสม” ดร.ปรเมษฐ์กล่าว และทิ้งท้ายว่า

การดูแลบริหารจัดการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่กระนั้นก็อย่าลืมที่จะให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองให้แข็งแรง และป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดด้วย

ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image