หาคำตอบ ‘หยุดคุกคามทางเพศ’ เริ่มต้นที่ใคร
แม้จะมีการออกมารณรงค์เรื่อง “หยุดคุกคามทางเพศ” หรือมี “ระเบียบ” และ “กฎหมาย” ที่ตราขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด แต่สถานการณ์กลับไม่ได้ลดลงเลย ในงานประกาศรางวัลสื่อสร้างสรรค์ “Gender Equality” จัดโดย กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดหัวข้อเสาวนาออนไลน์ “Sexual Harassment : หยุดการคุกคามทางเพศ…เริ่มต้นที่ใคร” เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้
นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรม สค. กล่าวว่า นิยามของการคุกคามทางเพศ เริ่มตั้งแต่การกระทำทางสายตา พูดจาสองแง่สองง่าม พูดหมาหยอกไก่ การกระทำทางกริยาท่าทาง แต๊ะอั๋ง สามารถลุกลามไปถึงการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่มาภัยข่มขืนและคุกคามทางเพศ มาจากมายาคติชายเป็นใหญ่ซึ่งถูกปลูกฝังกันรุ่นสู่รุ่น
“ข้อร้องเรียนร้อยละ 95 เป็นการกระทำจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า กระทำต่อผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเรียกว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่หากยอมสร้างความพึงพอใจทางเพศ จะให้เลื่อนตำแหน่ง ต่อสัญญา หรือให้ผลประโยชน์ต่างๆ กลับกันหากไม่ยอมก็จะถูกลงโทษหรือกลั้นแกล้ง ซึ่งข้อร้องเรียนนี้มาจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนรายใหญ่ ก็ต้องชื่นชมผู้เสียหาย หากไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ปัญหาก็ถูกซุกไว้ใต้พรมไว้อย่างนั้น เราก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ เขาทำมานานแล้ว” นางสาวกรรณนิกากล่าว
วงเสวนาพยายามหาทางออกการหยุดภัยคุกคามทางเพศ หลายคนมองว่าควรเริ่มจาก “วัยเด็ก” ที่ต้องปลูกฝังทัศนคติการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายตัวเองและผู้อื่น เริ่มเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี โดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่หยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้ เพื่อไม่ให้เรียนรู้ทัศนคติทางเพศจากโลกออนไลน์แบบผิดๆ พ่อแม่จะต้องอยู่ข้างๆ คอยอธิบายทัศนคติทางเพศที่ถูกต้องด้วย
ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นักแสดง นางแบบ และพิธีกรชื่อดัง และผู้ก่อตั้งโครงการ #donttellmehowtodress ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง กล่าวว่า ล่าสุดมีการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น จากความเข้าใจว่าเป็นโลกสมมุติ เวลาโพสต์หรือแชร์ภาพไม่เหมาะสม ก็คิดเอาเองว่าไม่เป็นไรหรอก ทุกคนก็ทำกัน ความคิดแบบนี้เป็นปัญหา
“การคุกคามในโซเชียลจะสอดคล้องกับสถานการณ์คุกคามทางเพศในโลกจริง เพราะหลายครั้งคนที่คิดแบบนี้ กล้าที่จะโพสต์ กล้าที่จะแชร์ ก็อาจกล้าที่จะทำในชีวิตจริงประจำวันด้วย ก็น่าเป็นห่วง”
กว่า 3 ปีที่ซินดี้รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง เธอเริ่มใจชื้นขึ้นมาว่า มีคนรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน เริ่มออกมาส่งเสียงไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศมากขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
อยากเชิญชวนทุกคนออกมาส่งเสียงไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉยความรุนแรงทางเพศ ควบคู่ไปกับภาครัฐที่ต้องมีกลไกและกระบวนการ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนทุกเพศทุกวัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โพลชี้ 1 ใน 4 พบเห็นคุกคามทางเพศในออฟฟิศ 126 คน เจอกับตัว สสส.ชวนสร้างสังคมปลอดภัย
- ‘มัลลิกา-พัชรินทร์’ แถลงชงสภาฯ แก้กม.อาญา เพิ่มนิยาม’คุกคามทางเพศ’
- ป้ามล-ทิชา นำทีมภาคีเครือข่ายเด็กและสตรีกว่า 100 องค์กร ร้อง ‘บิ๊กอุ้ม’ ใช้ยาแรงแก้ปัญหาคุกคามทางเพศ
- คุกคามทางเพศ โจทย์ใหญ่ที่ต้องก้าวข้าม คืนความปลอดภัยให้กับสังคม