คุยกับหมอ เจาะลึก ‘ผู้มีบุตรยาก’

ยุคนี้ เรื่องมีลูกยากดูจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อนวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ ได้พัฒนาขึ้นมาก

เรื่องนี้ แพทย์หญิงอัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี เผยว่า ปัจจุบันพบว่าในบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลาย จะมีปัญหามีบุตรยากประมาณ 40% คือมีโอกาสมีบุตรน้อยกว่าปกติ หรือช้ากว่าปกติ และพบว่า คู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันตามปกติสัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 วัน โดยไม่คุมกำเนิดจะมีการตั้งครรภ์ 50% ภายใน 5 เดือน และการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 80-90% ใน 1 ปี ส่วนที่เหลือมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงและจัดอยู่ในกลุ่มภาวะผู้มีบุตรยาก ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัย หญิง 40% ชาย 40% เจอทั้งคู่ 10% และไม่ทราบสาเหตุอีก 10%

ส่วนวัยของคนไข้ที่มาปรึกษานั้นพบบ่อยในผู้หญิงที่มีอายุเกิน 35 ปี

ขณะที่ขั้นตอนการรักษานั้น แพทย์หญิงอัญชุลีเผยว่า จะต้องมีการตรวจเลือดทั้งผู้ชายและผู้หญิงดูเรื่องความเข้มข้นเลือด มีปัจจัยเสี่ยงพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด ตรวจเรื่องของซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจกรุ๊ปเลือดว่ามีความเสี่ยงตอนตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน ส่วนผู้ชาย นอกจากมีปัญหาเรื่องน้ำเชื้อผิดปกติก็ต้องไปตรวจฮอร์โมน แต่น้อยมากส่วนของผู้หญิงที่ตรวจเพิ่มคือ ตรวจฮอร์โมนการทำงานของรังไข่ ถ้าเจอความผิดปกติที่สงสัยเรื่องต่อมไร้ท่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ ก็ต้องมีการตรวจฮอร์โมนต่อมไร้ท่อนั้นๆ ด้วย ของผู้หญิงจะมีตรวจภายใน เช็กมะเร็งปากมดลูก ตรวจอัลตราซาวด์ดูมดลูก รังไข่ หลังตรวจเสร็จก็ประเมินว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แก้ไขตามสาเหตุ ถ้าบางคนเจอโรคก็รักษาโรคก่อน ถ้าบางคนทำได้เลยก็มีตั้งแต่ นับวันตกไข่ให้ อาจต้องใช้ยากระตุ้นไข่ช่วย บางคนก็อาจจะต้องใช้เทคโนโลยี มีตั้งแต่ฉีดเชื้อผสมเทียม และทำเด็กหลอดแก้ว

Advertisement

“การทำเด็กหลอดแก้วนั้น เหมาะกับคู่ที่มีปัจจัยเสี่ยง และไม่น่าจะตั้งครรภ์ง่าย เริ่มจากการกระตุ้นไข่ตอนเริ่มมีประจำเดือน ติดตามผล เมื่อไข่โตเต็มที่ก็เก็บ ปอกเปลือกโดยกรรมวิธีในห้องปฏิบัติการ ก่อนยิงอสุจิเข้าไป และค่อยรอเวลาย้ายตัวอ่อนเข้าไป รออีก 7 วันก็สามารถเจาะเลือดตรวจผลได้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่”

แพทย์หญิงอัญชุลีเผยอีกว่า บางคนมาบอกแพทย์ต้องการมีลูกแฝด ก็จะบอกว่าทำให้ไม่ได้จริงๆ เพราะท้องลูกแฝดเป็นความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อย่างหนึ่ง การใช้เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว มีเพียง 2-3% เท่านั้นที่จะได้แฝด 2 คน และ 1% ที่จะมากกว่า 2 คน ซึ่งทุกวันนี้ การทำเด็กหลอดแก้วมีโอกาสตั้งครรภ์ 30% หลายคนจึงต้องทำอยู่หลายครั้งจึงสำเร็จ

Advertisement

ตัวช่วยผู้มีบุตรยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image