น้ำพระราชหฤทัย ร.10 โครงการอ่างเก็บน้ำ “ซำตมขาว”

เนื่องเพราะเป็นหมู่บ้านที่ “กันดารที่สุด” ในจังหวัดอุดรธานี การเดินทางเข้าถึงยากลำบาก ไม่มีน้ำประปาใช้ กระทั่งแหล่งน้ำจากธรรมชาติก็แห้งแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน บางคนท้อใจต้องออกจากหมู่บ้านไปหาทำงานในเมือง อีกหลายคนยังรักและขอปักหลักพื้นที่บ้านเกิด ราษฎรเหล่านั้นจึงรวมตัวกันเขียนจดหมายทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอความช่วยเหลือขึ้นไป

ท่ามกลางความรอคอยของราษฎรบ้านห้วยหมากหล่ำ หมู่ 6 ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ได้นำมาสู่วันประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน

จากน้ำพระราชหฤทัยทรงห่วงความเป็นอยู่ของประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาวพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านห้วยหมากหล่ำ ไว้ในเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ก่อนจะมีการริเริ่มโครงการก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2560 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าการใช้ประโยชน์ โครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาวพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านห้วยหมากหล่ำ จ.อุดรธานี

Advertisement
เภา ยาท้าว

น้ำแล้งจนตัดสินใจทูลเกล้าฯถวายฎีกา
นายเภา ยาท้าว ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยหมากหล่ำ หมู่ 6 เล่าว่า บ้านห้วยหมากหล่ำ หมู่ 6 อยู่ในพื้นที่เชิงเขาและที่ราบแคบๆ สลับลูกเนิน มีร่องน้ำซำตมขาวไหลผ่านหมู่บ้าน แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ยิ่งมา 2-3 ปีหลังที่หมู่บ้านประสบความแห้งแล้งมาก จากสภาพป่าเสื่อมโทรม ทำให้ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล และแม้ฝนตกมาก็ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ ชาวบ้านจึงต้องซื้อน้ำจากข้างนอกมาอุปโภคบริโภค น้ำปริมาณ 1,000 ลิตร มีราคา 140 บาท ใช้ได้เพียงไม่กี่วัน ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บของป่าและเลี้ยงสัตว์ และมีฐานะยากจน

จากความเดือดร้อนนี้ชาวบ้านได้รวมตัวกันทูลเกล้าฯถวายฎีกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวŽ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เพราะวันนี้ ชาวบ้านมีน้ำใช้แล้ว จาก อ่างเก็บน้ำทำนบดินŽ ความจุ 204,100 ลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 46 ล้านบาท และด้วยเป็นโครงการพระราชดำริแห่งใหม่ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามายังหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อพัฒนา ตั้งแต่การสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการ รวมถึงการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงประถม 6 ในห้องเรียนชั่วคราวแล้ว ตลอดจนส่งเสริมองค์ความรู้ วัตถุดิบ และอุปกรณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ปศุสัตว์ ฯลฯ

“ผมยังจำวันที่ได้เปิดอ่านจดหมายจากสำนักราชเลขาธิการว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ ตอนนั้นทุกคนดีใจมาก ต่างปรบมือ ร้องไห้ ด้วยความหวังว่าจากนี้เราจะมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ เพราะต่างคิดว่าเมื่อมีน้ำก็มีแรงทำมาหากิน ชีวิตคงจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยพระเมตตาต่อราษฎรนี้ ได้ทำให้ชาวชุมชนที่เคยออกไปทำงานข้างนอก ทยอยกลับมาอยู่ถิ่นฐานเดิมมากขึ้น จาก 30 ครัวเรือนก่อนมีอ่างเก็บน้ำ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 70 ครัวเรือนแล้ว”Ž นายเภา กล่าว

สร้างอ่างเก็บน้ำ-อาชีพครั้งแรกของกรมชลฯ
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำซำตมขาวมีปริมาณน้ำในอ่างเพียงร้อยละ 25 น้ำในอ่างยังมีพันธุ์ปลาน้ำจืด อาทิ ปลาบึก ปลาตะเพียน ประกระแห จำนวน 5 แสนตัว กรมชลประทานนำมาปล่อยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านจึงประชุมและพร้อมใจจะยังไม่ใช้น้ำ เพื่อรักษาพันธุ์ปลาจนกว่าฤดูฝนปีนี้จะมาเติมเต็มน้ำในอ่าง ระหว่างรอคอยใช้น้ำอย่างมีความหวัง กรมชลประทานได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดสรรพื้นที่ส่วนกลาง จำนวน 8 ไร่ แบ่งให้ชาวหมู่บ้านครัวเรือนเท่าๆ กันละ 70 ตารางวา เพื่อให้ชาวบ้านได้ลงมือทำการเกษตร

นายราเชน ศิลปะรายะ

นายราเชน ศิลปะรายะ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 5 กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาว ถือเป็นโครงการแรกของกรมชลประทาน ที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างระบบส่งน้ำใต้ดินไปยังหมู่บ้าน และส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน เริ่มต้นจากการคัดเลือกตัวแทนชาวบ้าน ส่งไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจศาสตร์พระราชา ก่อนกลับมาสื่อสารกับชาวหมู่บ้านในฐานะ นักประสานงานชุมชนเพื่อขยายผลโครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริŽ


“เราเชื่อเรื่องการต้องมีต้นแบบหรือผู้นำทำเป็นแบบอย่าง จึงให้มีนักประสานงานชุมชน เพื่อทำให้ชาวบ้านเห็นเป็นแบบอย่างที่ผ่านมา จนขณะนี้ชาวบ้านหลายคนแสดงความสนใจและอยากทำ”Ž นายราเชน กล่าว

น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน
หนึ่งในต้นแบบสำคัญคือ แปลงเกษตรตัวอย่างของ นางสาวดวงตะวัน ใยดวง นักประสานงานชุมชน หลังได้รับเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ดวงตะวันได้ทดลองปลูกบริเวณหน้าบ้าน ปรากฏว่าได้ผลงอกงามดี อย่างบวบงูปลูกได้ยาวถึง 70 เซนติเมตร ด้วยทำเลอยู่กลางหมู่บ้านใครผ่านไปมาเห็นเริ่มเข้ามาสอบถาม แสดงความสนใจว่าอยากปลูกบ้าง จึงตัดสินใจใช้บริเวณหน้าบ้านตั้งเป็น ศูนย์เรียนรู้สวนสายชลเกษตรผสมผสานŽ

นางสาวดวงตะวัน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำงานในโรงงานที่กรุงเทพฯ ในปี 2560 ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านชั่วคราว ระหว่างนั้นได้สมัครรับคัดเลือกเป็นนักประสานงานชุมชน มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานศาสตร์
พระราชาในหลายที่ จึงเริ่มรู้จักหลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 รู้จักเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงสอนให้ราษฎรสามารถอยู่ด้วยตนเอง ตลอดจนการทำการเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ต่างๆ จึงมาคุยกับสามีว่าจะไม่กลับไปทำงานโรงงานอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาทำไปก็ไม่เหลือเงิน จากค่ากินค่าอยู่ แต่ที่นี่มีบ้านเป็นของเราเอง แม้น้ำอาจหายากสักนิดแต่ก็พอหาได้ มีวัว สามารถปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน และรับจ้างปลูกมันสำปะหลังไปด้วย แม้รายได้อาจน้อยแต่สามารถอยู่แบบสุขสบายโดยไม่มีหนี้สินได้

หลังจากทดลองเพาะปลูกพืชผักสวนครัวได้ผลงอกงาม ดวงตะวันได้แบ่งเมล็ดพันธุ์พืชให้ชาวบ้านที่สนใจกว่า 40 ครัวเรือนไปทดลองเพาะปลูกในแปลงเกษตรรวม จะเริ่มทำการเพาะปลูกจริงจังในช่วงฤดูฝนนี้

“ดิฉันและชาวบ้านต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ พวกเรารู้สึกดีใจจนพูดไม่ออก เพราะตรงนี้เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคส่วนต่างๆ ได้มองเห็น และเข้ามาพัฒนา ส่วนดิฉันเกิดและโตที่นี่ จะขอยืนหยัดทำหน้าที่นักประสานงานชุมชนต่อไป เพื่อร่วมพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญอย่างยั่งยืนตามรอยศาสตร์พระราชา”Ž นางสาวดวงตะวัน กล่าวด้วยสีหน้าซาบซึ้ง

พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image