ซู ฟินลีย์ หญิงเก่งรุ่นบุกเบิกของนาซา ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของยานอพอลโล 11

(Photo by Robyn Beck / AFP)

อาจพูดได้ว่า ทุกความสำเร็จบนโลกใบนี้ มักมีผู้หญิงอยู่เบื้องหลังเสมอ แม้แต่ความสำเร็จของ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จกับยานอพอลโล 11 เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2512 ก็มีผู้หญิงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ที่ถือเป็นก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ หนึ่งในนั้นก็คือ ซู ฟินลีย์ เจ้าหน้าที่ห้องวิจัยพลังงานขับดัน (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL) ขององค์การนาซา ซึ่งปัจจุบันอายุ 82 ก็ยังทำงานอยู่กับนาซา และเป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่กับนาซายาวนานที่สุด

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี พิชิตดวงจันทร์ของยานอพอลโล 11 เอเอฟพีเล่าถึงประวัติของฟินลีย์ว่า เธอเริ่มทำงานที่ห้องวิจัยพลังงานขับดันขององค์การนาซาเมื่อปี 2501 ระหว่างสหรัฐอเมริกากำลังเตรียมโครงการจะปล่อยดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจร เพื่อไล่ตามสหภาพโซเวียตให้ทันที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จไปก่อนหน้านั้นแล้วหลายเดือน

 

Advertisement

 

ฟินลีย์ เป็นหนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่หญิงในห้องวิจัยพลังงานขับดันของนาซาที่ทุกคนต่างมีพรสวรรค์ มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ ที่มีหน้าที่คอยแก้สมการที่ซับซ้อน ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดส่งสมการเหล่านั้นมาให้แก้ ฟินลีย์และเพื่อนผู้หญิงในทีมของเธอ จึงเปรียบเหมือน “คอมพิวเตอร์มนุษย์” ในยุคนั้น ด้วยงานของพวกเธอต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางการคำนวณ ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นยังต้องพึ่งกำลังมันสมองของคนเป็นสำคัญ ก่อนที่ต่อมาการคำนวณทางอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามาอำนวยความสะดวก และใช้ในการแก้สมการยากๆ เหล่านั้น

ในบทความของเอเอฟพีบอกว่า นีล อาร์มสตรอง อาจได้รับการจดจำสำหรับภารกิจที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เมื่อลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จ แต่มันคือผลงานของผู้หญิงกลุ่มนี้ที่ช่วยคิดค้นเชื้อเพลิงจรวด และพัฒนาเครือข่ายเสาอากาศทั่วโลก ที่ทำให้ผู้คนสามารถรับชมการถ่ายทอดสด ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของทีมนักบินอวกาศยานอพอลโล 11

Advertisement

ฟินลีย์เล่าว่า เธอเก่งและชอบวิชาคณิตศาสตร์ สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ได้คะแนนยอดเยี่ยมมาตลอด และเคยชนะรางวัลแข่งขันแก้สมการทางเคมี โดยเธอสามารถคิดแก้สมการในใจได้เร็วกว่าคนอื่นๆ ที่ใช้ไม้บรรทัดคำนวณหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเก่งคณิตศาสตร์ชนิดหาตัวจับยาก แต่ตอนเป็นสาว ฟินลีย์เล่าว่า เธอกลับสนใจอยากเรียนด้านศิลปะ โดยหวังว่าสักวันจะเป็นสถาปนิก แต่แล้วความหวังก็พังทลาย เพราะเธอสอบเข้าเรียนต่อด้านศิลปะไม่ได้ เนื่องจากขาดทักษะที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการสอบเพื่อเข้าเรียนต่อ เธอจึงเริ่มเข้าทำงานที่แรกในงานลักษณะคล้ายกับงานของ “คอมพิวเตอร์” ยุคนี้ ที่บริษัทการบินและอวกาศคอนแวร์ (Convair) ที่ตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว เธอเล่าว่า ตอนแรกเธอตั้งใจจะทำงานในตำแหน่งเลขานุการ แต่ทว่าดันสอบตกการทดสอบพิมพ์ดีด

ด้านชีวิตส่วนตัว ฟินลีย์แต่งงานกับปีเตอร์ ฟินลีย์ ซึ่งจบการศึกษาจากแคลเทค หรือสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก่อตั้งห้องวิจัยพลังงานขับดัน (Jet Propulsion Laboratory) มีลูกชาย 2 คน หลังจากแต่งงานมีบุตร เธอเคยหยุดทำงานไปเป็นแม่บ้านระหว่างปี 2506-2512 แต่แล้วก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่ทางของเธอ และเคยรู้สึกซึมเศร้า กระทั่งนักจิตบำบัดแนะนำให้กลับไปทำงานใหม่ 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เข้ามาทำงานที่ห้องวิจัยพลังงานขับดันของนาซา ก็เป็นเพราะสามีมาเล่าให้เธอฟังถึงห้องปฏิบัติการแห่งนี้ที่ตั้งอยู่บนภูเขาว่าเธอควรขึ้นไปดูให้เห็นกับตาและนั่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เธอได้เข้าทำงานที่ห้องวิจัยพลังงานขับดันขององค์การนาซามานับแต่นั้น

ฟินลีย์เล่าถึงเหตุผลที่ห้องวิจัยพลังงานขับดันจ้างแต่ผู้หญิงทั้งหมดว่า “ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าคิดว่าจะมีผู้ชายคนไหนยอมทำตามคำสั่งเธอ ดังนั้นก็จ้างแต่ผู้หญิงเลยดีกว่า และผู้หญิงยังเงินเดือนถูกกว่าด้วย ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image