เปิดทุกซอกมุม ‘จิมมี่-แซม’ ผู้ชายข้ามเพศ ชีวิตไม่ง่าย..กว่าจะได้เป็นตัวเอง

เปิดทุกซอกมุม ‘จิมมี่-แซม’ ผู้ชายข้ามเพศ ชีวิตไม่ง่าย..กว่าจะได้เป็นตัวเอง

ทุกวันนี้ สังคมไทยให้การยอมรับ “กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT” มากขึ้น และจากการยอมรับที่มากขึ้น ทำให้บุคคลคนในกลุ่ม LGBT เข้ามาอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ของสังคมในทุกแวดวง ทั้งการเมือง บันเทิง ธุรกิจ

เรื่องราวชีวิตของพวกเขาถูกตีแผ่ สังคมได้รู้จัก “เจินเจิน บุญสูงเนิน” นักร้องข้ามเพศชื่อดัง รู้จัก “นก-ยลลดา” นางงามข้ามเพศร้อยเวที รู้จัก “ปอย ตรีชฎา” นักแสดงข้ามเพศชื่อดัง

ไม่เพียงแต่ในแวดวงบันเทิง ยังมีแวดวงธุรกิจอย่าง “แอน จักรพงศ์” นักธุรกิจพันล้านแห่งเจเคเอ็น และคนข้ามเพศชื่อดังอีกหลายคน ในหลากสาขาอาชีพ

ทว่าส่วนใหญ่กลับเป็น “หญิงข้ามเพศ” ที่สังคมรู้จัก แต่อาจไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวของ “ชายข้ามเพศ” ซึ่งเป็นผู้ที่เปลี่ยนจากผู้หญิงเป็นผู้ชายเท่าไหร่นัก

Advertisement

ช่วงสุกงอมของการเตรียมจัดทำ “กฎหมายรับรองเพศ” ที่จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อบุคคลตามเพศสภาพ ในประเทศไทย “2 ผู้ชายข้ามเพศ” ที่เรียกได้ว่าเป็น “กลุ่มแรก” ของผู้ชายข้ามเพศในประเทศไทย เป็นชายข้ามเพศระดับไอดอล ออกมาตีแผ่เรื่องราวชีวิตแบบหมดเปลือกที่กว่าจะมีวันนี้ “ไม่ง่าย” เพื่อให้สังคมได้ปรับมุมมอง “คนเท่ากัน”

เริ่มที่หนุ่ม จิมมี่-กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศ ประเทศไทย หลายคนอาจเคยเห็นมาก่อนในโลกโซเชียลมีเดีย ที่แชร์ๆ ต่อกันว่าเป็นชายข้ามเพศรูปหล่อ จนชายแท้ต้องชิดซ้าย ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง เช่น ร้านค้าออนไลน์บนอาลีบาบา กราฟิกดีไซน์ อาจารย์พิเศษวิชาเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักสิทธิชายข้ามเพศ

แต่ใครจะรู้ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องเผชิญแรงกดดันสารพัดและหนักหน่วง โดยเฉพาะด่านแรกของชีวิตคือ ครอบครัวที่ไม่เข้าใจ เพราะคาดหวังว่าลูกสาวหนึ่งเดียวในตระกูล จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้หญิงแต่งงานมีครอบครัวมีลูก กระทั่งเขาถูกไล่ออกจากบ้านตอนอายุ 19 ปี

Advertisement

 

จิมมี่-กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล
จิมมี่-กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล
กฤตธีพัฒน์ สอนหนังสือ
กฤตธีพัฒน์ สอนหนังสือ

ครอบครัวไม่ยอมรับลูกสาวเป็นทอม

จิมมี่ กฤตธีพัฒน์ เล่าทั้งรอยยิ้มว่า ผมรู้ตัวว่าเป็นผู้ชายตั้งแต่เด็ก เพราะชอบเล่นแบบผู้ชาย ไม่ชอบใส่กระโปรง แต่ชอบใส่กางเกง ขณะที่แม่จะเป็นคนที่เคร่งครัดและเลี้ยงผมอย่างลูกผู้หญิง พอเป็นอย่างนี้แน่นอนว่าท่านไม่ยอมรับเลย ที่จะมีลูกสาวเป็นทอม

“ผมเคยพยายามจะกลับไปเป็นผู้หญิงแล้ว แต่งตัว แต่งหน้า แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ มันไม่มีความสุขเลยเวลาตื่นเช้ามาแล้วต้องทำตัวเป็นผู้หญิงให้แม่ จนวันหนึ่งตื่นมาแล้วคิดได้ว่า แม่ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปนะ เราควรเป็นตัวของเราเองสิ ก็เลยไม่ทำอย่างนั้นอีก ส่วนแม่พอเห็นว่าเป็นผู้หญิงไม่ได้แล้วจริงๆ ก็ไล่ผมออกจากบ้านเลย” จิมมี่เล่าพลางหัวเราะ ก่อนน้ำเสียงติดตลกเวลา “พูดย้อนไปมันเหมือนขำ แต่เวลานั้นไม่ขำหรอก”

หลังจากนั้นจิมมี่เริ่มทำงานส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือจนจบ ช่วงเวลานั้นได้หล่อหลอมตัวเขาให้แข็งแกร่ง และมีความสามารถหลากหลาย ผลพลอยได้นอกจากทำให้เขาเริ่มยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังได้เริ่มทำตามความต้องการของหัวใจคือ “การข้ามเพศ”

หนุ่มวัย 36 เล่าว่า ผมศึกษาเรื่องการเทคฮอร์โมนเพศชาย ด้วยการอีเมล์ปรึกษากับแพทย์เชี่ยวชาญที่สหรัฐอเมริกา เพราะไม่แน่ใจว่าเมืองไทยช่วงนั้น นอกจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแล้วจะมีอีกที่ไหน และทุกครั้งที่เข้าไปต้องมีค่าใช้จ่ายตลอดเวลา แม้กระทั่งให้คำปรึกษา ก็ใช้เวลาหาข้อมูลอยู่ 2-3 ปี ก่อนจะเริ่มเทคฮอร์โมนตอนอายุ 25 ปี ซึ่งมีขั้นตอนเริ่มจากการพบจิตแพทย์ก่อน ตรวจเลือด และเริ่มฉีดฮอร์โมนทุก 3 สัปดาห์ แต่บางคนก็ทุก 2 สัปดาห์ แล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน

ฮอร์โมนเพศชายไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ร่างกายจิมมี่ดูแมนขึ้น เช่น ประจำเดือนไม่มา แตกเสียงหนุ่ม หนวดเคราเริ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ที่รู้สึกมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาตื่นมาส่องกระจก แล้วพบตัวตนที่ใช่

“การได้เป็นตัวเอง มันต่อยอดอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องหน้าที่การงาน อย่างการได้เป็นอาจารย์พิเศษที่ธรรมศาสตร์ ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผมและครอบครัวดีขึ้น แม่เริ่มยอมรับผมมากขึ้น แม้อาจไม่ 100 เปอร์เซ็นต์” จิมมี่เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

ผ่าตัดแปลงเพศต้องได้เปลี่ยนเป็น’นาย-นางสาว’

แม้จะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชายแล้ว แต่จิมมี่ต้องการข้ามเพศอย่างสมบูรณ์ นอกเหนือจากการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ยังมีเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าในเอกสารราชการที่ควรเป็นไปตามเพศสภาพ นั่นคือคำว่า “นาย” ที่เขาต้องการ เพราะที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คนข้ามเพศทั้งปวงล้วนได้รับผลกระทบคำนำหน้าชื่อที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ ทำให้ต้องเจอปัญหาและอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่เกิดจนตาย และตั้งแต่ตื่นจนหลับ

จิมมี่-กฤตธีพัฒน์เริ่มเล่าด้วยสีหน้าเข้มขรึมว่า แน่นอนว่าพอผมเป็นอย่างนี้ แต่ในบัตรประชาชนคือนางสาว เวลาทำอะไรที่ต้องใช้เอกสารราชการต้องมีปัญหาทุกครั้ง อย่างเวลาไปเลือกตั้งจะถูกสงสัยว่าสวมบัตรใครมารึเปล่า ไปเปิดบัญชีธนาคารก็จะถูกถามว่าผ่าตัดแปลงเพศมาหรือยัง ทำอะไรมาบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องส่วนตัว โชคดีว่าช่วงหลังสังคมอาจคุ้นชินกับคนข้ามเพศ ปัญหาอุปสรรคก็ลดน้อยลง ขณะที่ชายข้ามเพศจะประสบปัญหานี้น้อยกว่าหญิงข้ามเพศ ที่หลายคนถูกมองออกโดยกายภาพได้ง่ายกว่า

ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าภาคการเมือง ภาครัฐต่างขานรับที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศ อย่างเรื่องนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษา และยกร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ…. เพื่อเปลี่ยนคำนำหน้าตามเพศสภาพให้ แต่จะกำหนดให้เฉพาะคนข้ามเพศที่แปลงเพศแล้ว หรือเปิดเสรี คงต้องไปคุยและรับฟังเสียงให้ตกผลึก ขณะที่มุมมองของจิมมี่คือ สนับสนุนเปลี่ยนคำนำหน้าคนข้ามเพศ อย่างน้อยในส่วนผู้แปลงเพศแล้ว หรือหากกฎหมายจะเปิดให้ทั้งหมดก็เป็นเรื่องน่ายินดี

“ส่วนตัวมองว่าคนไทยอาจยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้ใครก็ได้มาเปลี่ยนคำนำหน้า เหมือนประเทศอาร์เจนตินาที่เปิดกว้างมาก ใครจะขอเปลี่ยนเพศก็ได้ แค่ไปที่สำนักงานเขต เพราะเขาบอบช้ำการเมืองมามาก ประชาชนเขามีวุฒิภาวะสิทธิเสรีภาพเนื้อตัวร่างกาย แต่ไม่ใช่ของเรา” จิมมี่-กฤตธีพัฒน์กล่าวอย่างออกรส

นั่งพยักหน้าเห็นด้วยอยู่ข้างๆ กัน แซม-รณกฤต หะมิชาติ ชายข้ามเพศ ซึ่งหลายคนอาจรู้จักแล้ว เพราะเปิดตัวคบหา นก ยลลดา หญิงข้ามเพศ มา 8 ปี มีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นโปรดิวเซอร์เพลง เจ้าของธุรกิจด้านการจัดการกองทุน ให้คำแนะนำด้านการลงทุนเทรดหุ้น และสกุลเงินต่างประเทศ

แซม รณกฤตเล่าว่า ผมก็รู้ตัวว่าเป็นผู้ชายตั้งแต่เกิด เพราะมีภาพจำคือ ชอบเล่นของเล่นผู้ชาย แม้จะเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ ก็ชอบนำมาดัดแขนขา ตัดผม ทดลองทำอะไรต่างๆ แบบที่ผู้ชายชอบเล่น กระทั่งมาเป็นหนักๆ เข้าคือ ช่วงเข้า ป.1 ที่ปฏิเสธการใส่กระโปรง จึงเริ่มทำตัวออกห่างสังคมและญาติพี่น้อง เพราะไม่อยากแต่งตัวเป็นผู้หญิงใส่กระโปรงอย่างที่แม่จับให้ใส่

“แต่แซมโชคดีว่าแม่จะไม่ค่อยจ้ำจี้จ้ำไช หากลูกเกินเยียวยา ส่วนหนึ่งอาจเพราะเคยออกห่างท่าน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราก็สามารถเรียนและทำงานเองได้ ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าคนข้ามเพศทุกคนเป็น ที่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าฉันต้องเก่ง ต้องดูดี เพื่อให้พ่อแม่ยอมรับในตัวเอง” ชายวัย 27 ปี เล่าด้วยสีหน้ามุ่งมั่น

แซม-รณกฤต หะมิชาติ
แซม-รณกฤต หะมิชาติ
แซม-รณกฤต หะมิชาติ
แซม-รณกฤต หะมิชาติ

เปิดราคาเทคฮอร์โมน-ผ่าตัดแปลงเพศ

ผลพลอยได้ของการพิสูจน์ตัวเอง ทำให้แซมเป็นคนกล้าคิดกล้าตัดสินใจ หนึ่งในนั้นคือการตัดสินใจเริ่มเทคฮอร์โมนเพศชายตั้งแต่อายุ 17 ปี ซึ่งขณะนั้นเขารู้จักกับจิมมี่แล้ว ได้สอบถามและค้นหาข้อมูลจากเมืองนอกถึงตัวยาและวิธีการต่างๆ เสร็จสรรพ จนมั่นใจออกไปซื้อฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชายมาให้คลินิกฉีดให้ เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังไม่มีบริการฉีดฮอร์โมนเพศชายตามโรงพยาบาลเหมือนปัจจุบัน

ด้วยไม่มีแพทย์คอยกำกับ ช่วงแรกแซมเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้วยตัวเอง เขาพบว่าตัวเองหิวถี่ขึ้น ทำให้ต้องกินมากขึ้น น้ำหนักตัวก็เริ่มเพิ่มขึ้นจาก 51 เป็น 60 กิโลกรัม รวมถึงมีสิว และอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้น

แซมเล่าทั้งรอยยิ้มว่า การเทคฮอร์โมนเพศชาย ทำให้รู้สึกว่าสามารถเข้าสังคมได้ดีขึ้น กล้าพูดคำว่า “ครับ” ได้เต็มปาก เข้าห้องน้ำชายได้อย่างสบายใจ โดยไม่กลัวว่าคนจะมองว่าเป็นทอม เหล่านี้รู้สึกว่าคุณค่าชีวิตของเขาเพิ่มขึ้น

ไม่เพียงเทคฮอร์โมนเพศชาย แซมยังเดินหน้าข้ามเพศอย่างต่อเนื่อง คือการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังมองการณ์ไกล ด้วยการ “เก็บไข่” ไว้ในธนาคาร ซึ่งเขาวางแผนมีบุตรกับนก ยลลดา ที่ผ่าตัดแปลงเพศ และเก็บอสุจิไว้ในธนาคาร ในเร็วๆ นี้

“บางคนชอบถามว่า ทำไมผู้ชายข้ามเพศหลายๆ คนถึงยังไม่ผ่าตัด ก็จะบอกว่าบางทีเงินในกระเป๋าทุกคนไม่เท่ากัน เพราะการผ่าตัดเป็นผู้ชายข้ามเพศต้องใช้เงินล้านกว่าบาท และยังรวมถึงเวลาที่ต้องเสียไปในการฟื้นฟูแผล อย่างแซมเองก็ต้องวางแผนระยะยาวไม่ให้กระทบกับงาน ณ ช่วงเวลาจะผ่าตัดเปลี่ยนเพศ” แซมเล่าอย่างเปิดอก

ทั้งคู่มองเหมือนกันว่า การเทคฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายแล้ว แต่การผ่าตัดแปลงเพศเป็นออปชั่นเสริมที่คนข้ามเพศจะทำหรือไม่ก็ได้ แต่เชื่อว่าหากคนที่อยากข้ามเพศให้สมบูรณ์ ต่างก็อยากทำกันทั้งนั้น ก่อนเปิดขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศและมูลค่าที่ต้องจ่าย ตั้งแต่การเทคฮอร์โมนเพศชาย มีทั้งยากินและยาฉีด ทั้งคู่ใช้ฮอร์โมนแบบฉีดเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า 1 เข็มเริ่มต้นที่ 250 บาท ในโรงพยาบาลรัฐ และแพงสุดประมาณ 4,000 บาท ในโรงพยาบาลเอกชน ฉีดทุก 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง ความถี่ขึ้นอยู่กับสรีระร่างกายของแต่ละคน

ถัดมาคือการผ่าตัดหน้าอก ราคาประมาณ 150,000-200,000 บาท, ผ่าตัดมดลูกรังไข่ 150,000 บาท, เย็บปิดช่องคลอด 120,000 บาท, ยืดท่อ 80,000 บาท, ปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายในส่วนองคชาต 450,000 บาท และในส่วนถุงอัณฑะ 70,000-100,000 บาท, ใส่แกนเพื่อให้อวัยวะเพศชายสามารถแข็งตัวได้ 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งทั้งหมดสามารถทำได้ในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ต้องบินไกลไปทำที่ต่างประเทศเลย

ผ่าตัดแปลงเพศลดเสี่ยงมะเร็ง ไร้ผลวิจัยรองรับ

การผ่าตัดแปลงเพศไม่เพียงทำให้ข้ามเพศอย่างสมบูรณ์ในความรู้สึก แต่ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะการผ่าตัดมดลูกรังไข่ออกไป เพื่อจะไม่ทำปฏิกิริยากับฮอร์โมนเพศที่เข้าไป เว้นแต่คนที่อยากมีลูก แซมแนะนำว่า ให้แพลนกับคุณหมอเรื่องการเก็บไข่ไว้ในธนาคารด้วย

แซมเล่าว่า จริงๆ ก็ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการผ่าตัดแปลงเพศเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงเป็นมะเร็ง แต่จากที่สังเกตพี่ๆ ชายข้ามเพศที่ไปผ่าตัดแปลงเพศหลังเทคฮอร์โมน และเก็บไข่ไว้ในธนาคาร พบว่าคนที่ฉีดฮอร์โมนมา 10 กว่าปี สามารถเก็บไข่ได้น้อยกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกันน้อยเลย แสดงว่าปฏิกิริยาของฮอร์โมนเพศชายที่ฉีดเข้าไป มีผลข้างเคียงกับมดลูก ความเสื่อมจะมากกว่าผู้หญิงทั่วไป ฉะนั้นวันนี้ต่อให้ไม่มีประเด็นเรื่องมะเร็งรังไข่ แต่ก็ทำลายบางอย่างในมดลูกแน่นอน

ส่วนกรณีเปลี่ยนคำนำหน้า “นาย-นางสาว” ตามเพศสภาพ แซมมองว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ อาจเริ่มต้นให้เฉพาะคนที่ผ่าตัดแปลงเพศก่อน เพราะเข้าใจสังคมไทยยังมีค่านิยมชายเป็นใหญ่ กระทั่งเรียกร้องสิทธิสตรีปัจจุบันยังยาก ฉะนั้นอยากให้ค่อยๆ เปิดไปทีละนิด

อีกสิ่งที่แซมอยากสะท้อนไปยังคนข้ามเพศในฐานะ “ผู้รอดพ้น” จากภาวะโรคซึมเศร้าที่คนข้ามเพศหลายคน กระทั่งจิมมี่ที่นั่งข้างๆ ก็ประสบ จากปัญหาและแรงกดดันต่างๆ

“อยากให้กำลังใจคนข้ามเพศได้เชื่อมั่นในตัวเอง ปรับความคิด อย่าจมกับความโศกเศร้า อย่าโทษตัวเอง แต่ให้มองอย่างเข้าใจ เช่น ที่พ่อแม่ไม่เข้าใจเรา ท่านอาจเครียดและกลัวว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ลูกถึงเป็นอย่างนี้ นี่คือความห่วงใย ฉะนั้นอยากให้ลองเปิดพูดคุยกับท่าน บอกว่าเราไม่อยากเป็นโรคซึมเศร้า

“ส่วนการไปสมัครงานแล้วเขาไม่รับ ให้ลองมองกลับกันว่า ไม่ใช้เพียงแค่ คนข้ามเพศ แต่รวมถึงผู้หญิงผู้ชายทั่วไปด้วย ระเบียบการทำงานมันมี ถ้าเราเก่ง และเราเตรียมตัวไปดี การสมัครไม่ผ่านจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงเรื่องบุคลิกภาพ และความมั่นใจที่ต้องพอดีด้วย อย่าเอาความดราม่าเรื่องเพศสภาพออกมาเพื่อเป็นจุดเด่น

“ยอมรับตัวเองก่อนว่าเป็นผู้ชายผู้หญิง แล้วคนอื่นก็จะยอมรับในตัวเรา” รณกฤตกล่าวทิ้งท้าย

รณกฤต-ยลลดา
รณกฤต-ยลลดา

รณกฤต-ยลลดา
รณกฤต-ยลลดา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image