พรากความหวัง ความฝัน ไร้การเยียวยา ชะตากรรม ‘เหยื่อ’ อุบัติเหตุบนถนน

พรากความหวัง ความฝัน ไร้การเยียวยา ชะตากรรม ‘เหยื่อ’ อุบัติเหตุบนถนน

อุบัติเหตุบนถนน – สถิติผู้เสียหายจาก “อุบัติเหตุทางถนนในไทย” ความรุนแรงติดอันดับโลก โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นราย เฉลี่ยวันละ 60 ราย และอีก 4 หมื่นรายต้องเป็นผู้พิการ ฉะนั้นในทุกๆ ปี ประเทศไทยจึงมีผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุกว่า 2 แสนคน

อุบัติเหตุบนท้องถนนเพียง 1 ครั้ง ได้พรากหลายสิ่งจากไป ทั้งชีวิต เวลา และความหวัง

ดังเช่น 13 ชีวิตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต รถกระบะเสียหลักพลิกคว่ำพังยับเยิน ภายหลังจากกลับจากงานฉลองจบฝึกงาน เตรียมกลับบ้านเกิดไปทำมาหาเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัว เป็นเหตุการณ์ที่ที่สร้างความสลดให้กับสังคมเป็นอย่างมาก

ทั้งที่อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็น “อุบัติเหตุที่ป้องกันได้” เพราะมีสาเหตุเกิดจากสภาพของยานพาหนะ และสภาพถนน ตลอดจนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ทั้งคนขับรถสาธารณะและส่วนตัว

Advertisement

กลุ่มผู้เสียหายทางถนน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดแถลงข่าวกิจกรรม “หยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ” ที่ห้องประชุมกรีน ชั้นบี 1 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน ไปพร้อมๆ กับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ คือ การเดิน-วิ่ง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ฟัน รัน 5 กิโลเมตร และมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ในวันที่ 17 พฤศจิกายน เวลา 04.00-10.00 น. ณ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ จ.สมุทรปราการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://rtv.regist.co โทร 08-9764-9153

ไม่เพียงความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ “ครอบครัว” ของผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บบางคน ก็ต้องมีชะตากรรมหลังเสียบุคคลที่รักไป เหมือนกับตายทั้งเป็น บ้างไม่ได้รับการเยียวยา บ้างต้องต่อสู้คดีที่หลายรายใช้เวลานานร่วม 10 ปี

Advertisement

ดังกรณีของ ประทีป-ต้อย ทองประเทือง บิดามารดาของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้เนื่องจากคนขับหลับใน ที่เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า 8 ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในชีวิตของตนและภรรยา เพราะไม่มีวันไหนเลยที่ไม่คิดถึงลูกสาว หลังฝันร้ายครั้งนั้นทั้งคู่เหมือนตายทั้งเป็น

ประทีป เล่าย้อนกลับไปว่า ตนมีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้ชายและคนเล็กเป็นผู้หญิง ขณะนั้นลูกสาวเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี และทำงานเป็นครูสอนโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ วันเกิดเหตุเป็นช่วงวันหยุดสิ้นปี 31 ธันวาคม ลูกสาวตั้งใจจะเป็นเยี่ยมญาติที่ จ.เชียงราย แต่รถเต็มทุกคัน จนกระทั่งมีผู้โดยสารรายหนึ่งยกเลิกที่นั่ง ลูกสาวจึงได้ที่นั่งในที่สุด

“พอเขาขึ้นรถไป พ่อก็โทรเช็กว่าถึงไหนแล้วตอนเที่ยงคืน ตอนนั้นเขาบอกยังไม่ถึงและไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนเหมือนกัน เพราะทางมืดมาก ผมก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกับลูก เพราะโทรมาอีกทีก็ตอนเกิดอุบัติเหตุ จำได้ว่าตอนนั้นเวลาตี 4 มือถือขึ้นโชว์ว่า “ลูกของพ่อ” โทรมา พอรู้ว่าลูกเกิดอุบัติเหตุก็รีบเดินทางไปที่เชียงรายทันที” ประทีปกล่าว และว่า

“วินาทีนั้นเหมือนคนตาบอด มองไม่เห็น คิดอะไรไม่ออก เหมือนความหวังหายไป สิ่งที่วางแผนไว้กับลูก ว่าจะเปิดบ้านให้ลูกสาวได้สอนพิเศษ ได้เรียนต่อปริญญาโทก็ทำต่อไปไม่ได้แล้ว”

“ตอนนี้ก็เหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือในการเรียงร้องค่าเสียหาย ฟ้องคดีเยอะมากๆ จนตอนนี้ร่วม 8 ปีแล้ว คดียังไม่จบและก็ไม่รู้ว่าจะจบตอนไหน บางครั้งก็ท้อมากจริงๆ” ต้อยกล่าวเสริม

ประทีป – ต้อย

ทั้งนี้ สิ่งที่ครอบครัวทองประเทืองต้องการ คือ ไม่อยากให้ใครต้องมาพบเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุทุกคน ควรมีกองทุนช่วยเหลือให้กับผู้เสียหายทั้งคนบาดเจ็บหรือทายาทผู้เสียชีวิต ที่ไม่ควรต้องมาขึ้นศาลฟ้องร้องกันอีก

ขณะที่ อานุด อยู่สุภาพ มารดาของผู้ประสบอุบัติเหตุรถเมล์โดยสารระหว่างจังหวัดตกลงข้างทางจนได้รับบาดเจ็บสาหัส กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันลูกชายจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างแผลลึกในใจแก่เขาเป็นอย่างมาก

เธอเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะนั้นลูกชายก็เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการเดินทางจากแม่ฮ่องสอนมายังเชียงใหม่นั้น ขนส่งสาธารณะมีอย่างเดียว คือ “รถเมล์” ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาและสภาพถนนที่ไม่ค่อยจะดี ในวันนั้นรถเมล์ที่ลูกชายโดยสารก็เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต แต่ลูกชายของเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส แขนหัก ขาหัก หน้าผากเป็นแผลลึก ต้องนอนโรงพยาบาล 9 วัน

“แต่ก่อนลูกชายเป็นคนร่าเริงมาก แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งก็จะซึมๆ ไป เพราะแม้ว่าจะดำเนินชีวิตได้เป็นปกติแต่ร่างกายบางส่วนก็ไม่กลับมาเหมือนเดิม 100% และอุบัติเหตุครั้งนั้นก็ทำให้เขาไม่กล้าขึ้นรถเมล์อีกเลย” อานุดกล่าวและว่า

“เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทรถเมล์ ใช้เวลา 2 ปีในการขึ้นโรงขึ้นศาล จนศาลมีคำตัดสินให้ทางบริษัทชดใช้ค่าเสียหาย แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาร่วม 4 ปีแล้วก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ”

เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงสิ้นหวัง และยังคงทิ้งท้ายว่าอยากให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนช่วยเหลือเหล่าผู้เสียหายในการเยียวยาความเสียหายให้รวดเร็วขึ้น เร่งรัดให้มีบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพรถและความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดและหยุดเหยื่อรายใหม่ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานของภาคประชาสังคม

อย่าปล่อยให้คนที่ยังมีลมหายใจ ต้องตายตามไป โดยที่ไม่ได้รับการเยียวยา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image