ฆ่าซ้ำ-เจ็บซ้อน ความรุนแรงครอบครัวพุ่ง เกินตั้งรับ!

ฆ่าซ้ำ-เจ็บซ้อน ความรุนแรงครอบครัวพุ่ง เกินตั้งรับ!

ความรุนแรง – แม้ระยะหลังคนไทยจะเริ่มตื่นตัวว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ไม่ใช่เรื่องผัวเมีย แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ อย่างน้อยๆ ก็แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ

ทว่าประเทศไทยก็ยังก้าวไม่พ้นปัญหา มิหนำซ้ำยังกลับทวีคูณขึ้นด้วยซ้ำ สะท้อนผ่านรายงาน “สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2561” ภายใต้หัวข้อ ฆ่าซ้ำ เจ็บซ้อน ความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง เกินตั้งรับ จัดทำโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

รายงานดังกล่าวเป็นการรวบรวมข่าวการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และข่าวการกระทำความรุนแรงทางเพศ เช่น ข่มขืน จากหน้าหนังสือพิมพ์ ในรอบปี 2561 แล้วนำมาจำแนกและวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลังที่ทำทุกระยะ 2 ปี พบสาระสำคัญว่า “ข่าวการกระทำความรุนแรงปี 2561 มีจำนวน 623 ข่าว มากขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 35.4 เช่นเดียวกับข่าวฆ่ากันตายปี 2561 มีจำนวน 384 ข่าว หรือเฉลี่ยวันละ 1 คนกว่าๆ ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 69.9 ที่น่าตกใจคือ บัดนี้การฆ่ากันตายในครอบครัว ได้ขยายครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว จากเดิมที่เกิดเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ จังหวัดที่มีความหลากหลาย”

นอกนั้น ยังพบปรากฏการณ์เดิมๆ คือ ใช้วิธีการยิงปืนฆ่ากันตายมากที่สุด สาเหตุมาจากการหึงหวงมากที่สุด กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ก่อเหตุถี่ที่สุด

Advertisement

มูลนิธิยังรวบรวมข้อมูลการให้บริการผู้ประสบปัญหาความรุนแรงมาใช้บริการปี 2561 เจอสาระน่าสนใจว่า คนที่ประสบปัญหาความรุนแรงร้อยละ 50 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทลายมุมมองคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่เคยมองว่าปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนมีการศึกษาต่ำอย่างสิ้นเชิง

ความรุนแรงยิ่งปล่อยยิ่งบานปลาย

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดมุมมองการทำงานช่วยเหลือว่า ผู้เสียหายร้อยละ 90 ไม่รู้ว่าปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ว่าหากถูกกระทำสามารถไปแจ้งความกับตำรวจได้ เพื่อขอศาลออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ เช่น สั่งห้ามผู้กระทำเข้าใกล้ผู้ถูกกระทำ ห้ามตามข่มขู่คุกคามถึงที่ทำงาน นอกจากนี้ จากประสบการณ์ช่วยเหลือ พบว่าเมื่อผู้หญิงได้ถูกกระทำความรุนแรงแล้ว หากไม่ดำเนินการใดๆ เลย แล้วกลับไปอยู่กับครอบครัวเหมือนเดิม ด้วยหวังให้สามีที่เป็นผู้กระทำเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้นเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก

“สิ่งที่อยากจะบอกคือ การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จะต้องมีการดำเนินคดี เพื่อนำไปสู่การสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ สั่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แค่เพียงไกล่เกลี่ยแล้วปล่อยกลับไปอยู่ด้วยกัน เพราะหวังอยากรักษาสภาพครอบครัว เนื่องจากการทำงานช่วยเหลือมา พบว่าการทำอย่างนี้มีแต่เรื่องราวจะบานปลาย ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งฆ่ากันตายในที่สุด” อังคณากล่าว

Advertisement

มุมมองคนทำงาน เธอเสนอให้ภาครัฐเข้มงวดเรื่องการครอบครองอาวุธปืน ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์ให้ผู้หญิงซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ถูกกระทำ รู้สิทธิและช่องทางขอความช่วยเหลือ เหล่านี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้มาก

อังคณา อินทสา

สอดคล้องกับประสบการณ์อันเจ็บปวดของ ปภาวี จันทร์สน จากที่เคยอยู่ครองเรือนด้วยความสุขสงบมาตลอด 20 ปี วันหนึ่งสามีเปลี่ยนไป เริ่มใช้ความรุนแรง ตั้งแต่การต่อว่า ทุบตี และถึงขั้นจับล่ามไว้กับหน้าต่าง ทว่าเธอกลับยอมทุกข์ทนเพื่อหวังรักษาสภาพครอบครัวไว้ ไม่อยากให้ลูกต้องอายที่พ่อแม่เลิกรากัน แต่เหตุการณ์ก็ยังคงวนเวียนสะสม กระทั่งถึงจุดพลิกผัน

ปภาวีเล่าว่า สิ่งที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจว่าถึงเวลาต้องยุติความทุกข์ทนดังกล่าว คือลูก ซึ่งภายหลังถูกสามีกระทำความรุนแรง จนมีบาดแผลเต็มตัว วันหนึ่งครูได้แจ้งมาว่า ทำไมถึงปล่อยให้ลูกเล่นเกมมากจนหลับในห้องเรียน ดิฉันก็มาพบว่าแท้จริงแล้วลูกไม่ได้เล่นเกม แต่เขานอนเฝ้าแม่ที่ประตู คอยระวัง คอยดูว่าพ่อจะทำร้ายแม่หรือไม่ตลอดทั้งคืน ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่ดิฉันแล้ว แต่กำลงตกถึงลูก จึงเริ่มต้นร้องขอความช่วยเหลืออย่างจริงจัง

เธอเริ่มไปแจ้งความลงบันทึกประวันกับตำรวจ ไปด้วยสภาพบอบช้ำ เช่น เลือดออก ตาปูด ไปโรงพัก 10 กว่าครั้ง จนตำรวจพูดว่า “น้องมาอีกแล้วหรอ” แต่กลับบ้านไปเธอก็ถูกกระทำอีก และหนักขึ้น จนได้มาพบกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล การแจ้งความครั้งนี้ จึงนำไปสู่คดีความในศาล และจุดสิ้นสุดความรุนแรง

“การที่ผู้หญิงจะก้าวออกมา เอาเรื่องภายในครอบครัวมาพูดเพื่อขอความช่วยเหลือ แสดงว่าเธอได้ตัดสินใจแล้ว ว่าจะอยู่อย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้นเวลาเราไปแจ้งตำรวจ ก็หวังว่าตำรวจจะสั่งให้ผู้กระทำหยุดพฤติกรรมนั้น หรือสั่งแยกไปสงบสติอารมณ์ เมื่อมีสติค่อยกลับมา ไม่ใช่ไกล่เกลี่ยแล้วให้กลับไปอยู่เหมือนเดิม แม้จะด้วยความหวังดี แต่ในความเป็นจริงทำอย่างนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา” ปภาวีเล่าอย่างเปิดอก

ปภาวี จันทร์สน

ถึงเวลาสังคายนา กม.-ระบบดูแลครอบครัว

ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าว่า สถานการณ์ความรุนแรงในวันนี้บอกชัดว่า ความรุนแรงมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งยังกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ขณะที่กลไกแก้ปัญหาที่มีอยู่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ทำงานเชิงรับ อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำอย่างไรที่จะประสานงานกันกับหน่วยงานภายในกระทรวง แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะอย่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ออกมา แล้วถูกเบรกโดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ได้สะท้อนชัดเจนถึงการทำงานที่ไม่ประสานงานกัน ไปให้บทบาทหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) มากเกินไป ทำหน้าที่แทนอัยการ ทั้งที่เขามีภาระหน้าที่ดูแลมากอยู่แล้ว และ พมจ.หลายคนอาจไม่พร้อมกับบทบาทตรงนี้

ปัจจุบัน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 อยู่ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ และระหว่างนี้ให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรง พ.ศ.2550 ไปก่อน

จะเด็จมองว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ เป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมคัดค้านมาตลอด ว่าความรุนแรงในครอบครัว ไม่ควรนำเรื่องการรักษาสภาพความเป็นครอบครัวมารวมอยู่ด้วยกัน เพราะ 2 เรื่องนี้เมื่อเอามารวมกัน จะสร้างความสับสน แทนที่ผู้ถูกกระทำจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยเป็นตัวตั้ง กลับนำเรื่องการรักษาสภาพครอบครัวมาเป็นตัวตั้ง

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเตรียมร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าไปให้ข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ต่อการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ ให้เป็นกฎหมายที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง แยกเรื่องการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ออกจากการคุ้มครองสถาบันครอบครัว เป็นกฎหมาย 2 ฉบับ ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในทางหลักการและปฏิบัติ

จะเด็จกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาความรุนแรงจะลดลงได้ หากเริ่มต้นด้วยการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น วันนี้ พม.มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) กระทรวงสาธารณะสุขมี อสม. กระทรวงมหาดไทยก็มี อปท.ทำงานในระดับชุมชนทุกชุมชน เป็นไปได้ไหมที่จะมอบบทบาท และใส่องค์ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาความรุนแรง คอยช่วยกันเฝ้าระวัง เพราะสถานการณ์วันนี้ทั้งรัฐและภาคประชาสังคมพบว่าคนแจ้งขอความช่วยเหลือน้องลง อาจเพราะคนไม่รู้ว่ามีกลไกช่วยเหลือ หรืออาจไม่เชื่อมั่นว่ากลไกจะมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นเพื่อให้อาสาสมัครเจอเรื่องนี้ได้ก่อนปัญหาจะลุกลาม ส่วนที่เกิดปัญหาแล้วก็ประสานส่งต่อการช่วยเหลือ มีตำรวจ ศาล และทีมสหวิชาชีพ ทำงานช่วยเหลือกันในจังหวัด ส่วนระยะยาวก็ต้องปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในโรงเรียน

เมื่อนั้นความรุนแรงภายในครอบครัว ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้

จะเด็จ เชาวน์วิไล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image