ที่พึ่ง ‘สตาร์ตอัพผู้หญิง’ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

โอท็อป เลดี้

ที่พึ่ง ‘สตาร์ตอัพผู้หญิง’ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี – เพราะบทบาทผู้หญิงสมัยนี้ไม่ใช่ช้างเท้าหลัง ขอเพียงได้รับโอกาสและแรงสนับสนุน พวกเธอก็สามารถเป็นช้างเท้าหน้าให้ครอบครัวและธุรกิจได้ เป็นความมุ่งหวังของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่จะให้โอกาสผู้หญิงผ่านการให้ทุนกู้ยืมทำธุรกิจสตาร์ตอัพ

ภายหลังก่อตั้งกองทุน เมื่อปี 2555 อยู่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาปี 2558 ถ่ายโอนมาอยู่สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย บัดนี้เริ่มออกดอกผลงอกงาม ผ่านบูธส่วนหนึ่งในงาน “โอท็อป ซิตี้ 2019” จัดโดย กรมการพัฒนาชุมชน ณ ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมเเพค เมืองทองธานี


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีก่อตั้งจากความปรารถนาดีของรัฐบาลที่ อยากเห็นครอบครัวคนไทยได้รับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อย ขาดทุนหมุนเวียนในการทำมาหากิน รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณมาให้ทุกปี โดยปัจจุบันมีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท

การจะกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี “ทำได้ง่าย” ขั้นตอนแรกจะต้องเป็นสมาชิกเสียก่อน เงื่อนไขคือ ต้องเป็นผู้หญิงสัญชาติไทย อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยสมาชิก 3 คน หรือมากกว่านั้น สามารถรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อยื่นโครงการขอทุนประกอบอาชีพได้สูงสุด 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยต่ำที่ 3 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

หรือเป็นองค์กรด้านผู้หญิงที่ได้การรับรองจากหน่วยงานรัฐ ก็สามารถยื่นขอทุนประกอบอาชีพได้สูงสุด 200,000 บาทเช่นกัน โดยปัจจุบันกองทุนมีสมาชิกแล้ว 13.6 ล้านคน มีองค์กรสมาชิก 5.2 หมื่นองค์กร

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า การยื่นกู้ สมาชิกหรือองค์กร จะต้องเสนอโครงการเข้ามา นำเสนอแผนธุรกิจว่าจะทำอะไร ทำได้อย่างไร เงินที่ได้ไปจะนำไปใช้อะไรบ้าง โดยจะมีคณะกรรมการกองทุนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งเป็นคนในพื้นที่นั่นแหละคอยพิจารณากลั่นกรอง โดยตั้งแต่ปี 2560-2562 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนหรือเงินกู้ไปแล้ว 3.7 หมื่นโครงการ มีผู้หญิงที่ได้รับประโยชน์แล้ว 1.5 ล้านคน

“ภาพรวมของกองทุนต้องถือว่าได้ช่วยเหลือคนที่ต้องการทุนไปพัฒนาอาชีพ ยกระดับอาชีพเพื่อก่อให้เกิดรายได้ และความมั่นคงเศรษฐกิจ แม้ปลายทางอาจพบคนที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ได้ให้โอกาสและต่อลมหายใจกับผู้หญิง เสมือนกลางทะเลที่เหือดแห้ง ก็ยังมีโอเอซิสให้ที่ช่วยเหลือได้”

Advertisement

อธิบดี พช.ยืนยันว่า “แต่นี่ไม่ใช่ทุนให้เปล่า ไม่ว่าจะกู้ยืมไปทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็จะต้องผ่อนส่งคืนดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับกองทุน” ซึ่งถือเป็นเรื่องหนักใจอย่างหนึ่งของกองทุน ที่มีผู้กู้ยืมผ่อนคืนดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ตรงตามนัดจำนวนสูงระดับหนึ่ง แต่จากการได้พูดคุยกับสมาชิกทุกภูมิภาคในงานโอท็อป ซิตี้ครั้งนี้ สมาชิกต่างให้คำมั่นที่จะช่วยลดหนี้เสียให้น้อยลง

“ที่สมาชิกกู้ยืมเงินไปทำธุรกิจแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจเพราะรัฐไม่ได้มีกระบวนการช่วยเหลือจนถึงปลายน้ำ ก็เป็นเรื่องที่เราจะนำไปปรับปรุงข้อหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า สมาชิกเองก็ทำธุรกิจที่ผลิตผลิตภัณฑ์ซ้ำๆ กันออกมา ทำให้อุปทานล้น รวมถึงระดับฝีมือที่อาจไม่ถูกใจลูกค้า ก็เป็นเรื่องที่เราจะไปเสริมความเข้มแข็งต่อไป ตลอดจนอาจปรับขยายเพดานกู้ให้มากกว่า 2 แสนบาท และขยายให้บริษัทชาวบ้านที่มีผู้หญิงเข้าไปมีอำนาจตัดสินใจ ให้เข้าถึงแหล่งเงินนี้ต่อไป”

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ

ด้วยเห็นภาพรวมธุรกิจที่อยู่รอดและอยู่ไม่รอด ท่านสุทธิพงษ์จึงอยากแนะนำทิ้งท้ายว่า อยากให้ไปทำธุรกิจประเภทเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ห่วงใยสุขภาพตัวเอง จะมีกำลังซื้อไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจากที่สังเกตกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม พืชผักปลอดสารพิษ ออร์แกนิค หรือผลิตภัณฑ์อะไรที่มีไว้เพื่อรักษาสุขภาพ มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มักจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เหล่านี้เป็นธุรกิจที่ควรทำ มีอนาคตแน่นอน

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอธิบดี พช.ด้านการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยได้นำสตรีผู้นำทางธุรกิจในเครือข่ายสภาสตรีฯ เข้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิก สามารถทำธุรกิจได้ถูกต้องและเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

ดร.วันดีกล่าวว่า 7 ปีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีถือว่าได้รับการตอบรับจากสตรีเป็นอย่างมาก เป็นสตาร์ตอัพให้ผู้หญิงหลายคนได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สตาร์ตอัพเหล่านั้นได้รับการเชิญมาจัดบูธในงานโอท็อป ซิตี้ 2019 จำนวน 20 ร้าน ก็อยากให้มาชมกัน ดูว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงประสบความสำเร็จ เพราะมีสิ่งที่น่าศึกษา อย่างเคส เภสัชกรหญิง ศิริญญา พงษ์ประยูร ซีอีโอแบรนด์เซริเซ่ จังหวัดสุพรรณบุรี จากที่ธุรกิจน้ำมันใส่ผมที่นำมาดูแลเส้นผมเตรียมเจ๊ง เธอไม่ถอยและต่อสู้จนได้เข้าถึงเงินกู้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี วันนี้ธุรกิจเธอมีกำไรปีละ 20 ล้านบาท สามารถจ้างงานคนในชุมชนได้กว่า 50 คน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ

ขณะที่ เภสัชกรหญิง ศิริญญา พงษ์ประยูร ซีอีโอแบรนด์เซริเซ่ (SeRiSe) กล่าวว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ธุรกิจของตนโตมาก มีออเดอร์เดือนละมากกว่า 5 ล้านบาท จนโรงงานผลิตไม่ทัน และเกิดปัญหาผลิตภัณฑ์ตกสเปก คือแทนที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วเส้นผมจะนิ่ม กลายเป็นผมฟู จึงมีผลิตภัณฑ์ส่งเคลมเข้ามาจำนวนมากจนต้องขายทุกอย่าง และมีหนี้สิน 30 ล้านบาท ตนขนของกลับไปตั้งต้นที่บ้านเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี

“ตอนนั้นทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้เลย จะไปกู้เงินธนาคารก็ไม่ผ่าน เขียนเช็คให้เขาก็ไม่อยากรับ เพราะนำไปขึ้นก็เด้งแน่นอน จนได้รับคำแนะนำให้เข้าถึงแหล่งเงินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ก็ได้รวมกลุ่มกับคนงานเพื่อนำเสนอแผนธุรกิจและกู้เงินมาฟื้นฟูธุรกิจ นำเงินไปซื้อเครื่องจักร หาตลาดเพิ่มอยู่ตลอด ไม่น่าเชื่อว่าเงินแสนที่ใช้ทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่าสามารถต่อยอดธุรกิจจนฟื้น วันนี้ไม่เพียงผลประกอบการดี ก็ยังสามารถปลดหนี้ 30 ล้านบาทได้ด้วย”

เภสัชกรหญิง ศิริญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากขอบคุณกองทุนที่ให้โอกาส และเชิญชวนผู้หญิงไทยมาเข้ากองทุน เชื่อว่าความตั้งใจเรียนรู้ มีอะไรก็หมั่นปรึกษาเจ้าหน้าที่กองทุน จะสามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้สักวันหนึ่ง”

เภสัชกรหญิง ศิริญญา พงษ์ประยูร

ไปชมความงามดอกผลกองทุนผ่านบูธโซน “โอท็อป เลดี้” ได้ในงานโอท็อป ซิตี้ 2019 วันนี้ถึงวันที่ 23 ธันวาคม ณ ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมเเพค เมืองทองธานี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image