นักสิทธิสตรีชี้ ไอเดียตัดอวัยวะเพศชายกันข่มขืน ส.ส.ปชป. สะใจแต่ไม่ตรงจุด

นักสิทธิสตรีชี้ ไอเดียตัดอวัยวะเพศชายกันข่มขืน ส.ส.ปชป. สะใจแต่ไม่ตรงจุด

เป็นวาระร้อน ทิ้งท้ายการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อ นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแทวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา ยกมาพิจารณาพร้อมกันกับญัตติในทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ทั้งจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย พลังท้องถิ่นไท ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์

สภาเปิดเวทีอภิปรายแสดงความคิดเห็น ก่อนจะลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา จำนวน 49 คน กำหนดระยะเวลาพิจารณา 60 วัน

ในช่วงอภิปราย ส.ส.จากหลายพรรค ลุกขึ้นมาสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งมองว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม ซ้ำร้าย ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมบางครั้งก็เป็นการซ้ำเติมผู้ถูกละเมิดให้บอบช้ำทางจิตใจมากขึ้น การเยียวยาสภาพจิตใจผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เพราะจะทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว แต่ก็ยังมีการค้านว่า อาจจะเป็นการเพิ่มอัตราการตายให้กับผู้ถูกละเมิดก็ได้

หนึ่งในความเห็นที่ร้อนแรง และกลายเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ ไม่พ้นความเห็นของ นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมอภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุน ยกประสบการณ์การทำงานในท้องที่ ทั้งพ่อข่มขืนลูก หรือครั้งทำงานเป็นพยาบาล ที่ต้องเจอกับเคสทำแท้งวันละหลายราย ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จนเสนอทางแก้ปัญหาไว้ว่า ให้พยาบาลเข้าไปสอนเพศศึกษาในโรงเรียน เพื่อให้บอกผลกระทบกับเขาได้ รวมทั้งสอนศิลปะป้องกันตัว และวิชาคุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง ก่อนตบท้ายด้วยวาทะเผ็ดร้อนว่า

Advertisement

“คนที่ถูกข่มขืนเหมือนตายทั้งเป็น ญาติ พี่น้อง พ่อแม่ ก็ตายทั้งเป็นเหมือนกัน คนข่มขืนเป็นโรคจิต ต้องนำไปรักษา เห็นด้วยว่าคนที่ข่มขืนไม่ควรประหารชีวิต ยิงไปแล้วก็ไม่รู้ถึงความเจ็บปวด อย่างรัฐกลันตัน ประกาศใช้โทษ เมื่อลักของก็ตัดมือ คบชู้ก็เอาหินปาจนตาย หากเราไม่ประหารชีวิต เราจะออกกฎหมายให้คล้ายคลึงกับเขาได้ไหม อวัยวะไหนทำร้ายคนอื่นเขา อย่าง ไปลักขโมยก็ตัดมือ ไปข่มขืนเขาก็ตัดองคชาติไปเลย ไม่งั้นก็ฉีดยาให้ฝ่อ จะได้ไม่ต้องไปข่มขืนคนอื่นเขาอีก หากต้องโทษตลอดชีวิต ออกมาก็ทำอีก”

สร้างความสนใจให้สังคมออกมาถกเถียงในประเด็นดังกล่าว

ในเรื่องนี้ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การแก้โทษให้หนักขึ้นนี้ เป็นการตอกย้ำมายาคติเรื่องการลงโทษ ว่าเป็นสาเหตุหลัก แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่โทษที่รุนแรงขึ้น แต่คือมายาคติชายเป็นใหญ่ ใช้อำนาจเหนือผู้หญิง ต่างหากที่เป็นปัญหาสำคัญ เป็นปัญหาในโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่ต้องไปตีโจทย์แก้ปัญหา การจะสนใจเรื่องโทษทำให้พลาดโอกาสที่จะให้การศึกษากับประชาชน ไปมองแค่เรื่องโทษรุนแรง เอาความสะใจมากกว่า

Advertisement

ซึ่งผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ส.ส.ควรให้ความสนใจ

“เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีการแก้ไขนิยามของการข่มขืน จากสนช.ชุดที่แล้ว โดยไม่ได้มาถามภาคประชาสังคมเลย จากที่ใช้สิ่งใดสอดใส่ไปในอวัยวะเพศ เหลือเพียง ต้องเอาอวัยวะเพศสอดใส่ ความหมายที่แคบลงทำให้เสียสิทธิไปมาก หากไม่ใช่อวัยวะเพศก็กลายเป็นกระทำอนาจาร ซึ่งเราเจอปัญหาแล้วจริง เมื่อเด็กถูกใช้นิ้วกระทำ และตำรวจก็มองว่าไม่ใช่ข่มขืน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ส.ส.เข้าไปให้ความสำคัญ”

รวมไปถึงเรื่องการคุกคามทางเพศ ที่นายจะเด็จ เผยว่า หากจะแก้กฎหมาย ควรจะโยงกับการคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ที่มีทั้งการใช้สายตา วาจา และโซเชียลมีเดีย หลายประเทศในอาเซียนมีกฎหมายเช่นนี้ ที่เราควรทำให้ก้าวหน้า

“การจะลงโทษแรงขึ้นนั้น แก้ปัญหาได้น้อยมาก ทุกวันนี้ก็โทษแรงอยู่แล้ว ถูกแล้วที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร เพราะรากปัญหาที่ใหญ่มาจากการไม่บังคับใช้กฎหมาย ทำให้คนที่กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ มายาคติที่ว่าเมื่อถูกข่มขืน เพราะผู้หญิงทำตัวเอง แต่งตัวโป๊ ไปที่เปลี่ยว ที่ตำรวจบางส่วนก็ไม่ค่อยรับแจ้งความ หรือสุดท้ายนำไปสู่การไกล่เกลี่ย สิ่งสำคัญจึงเป็นการแก้กระบวนการยุติธรรม ให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิมากขึ้น รวมไปถึงกลไกต่างๆที่ต้องเป็นมิตร ปกป้องผู้หญิงจริงๆ”

“การที่สภาสนใจในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อยากให้แก้ที่รากปัญหาจริงๆ ให้ถูกจุดด้วย” นายจะเด็จกล่าว

ด้าน นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานกับทั้งผู้ชายที่เป็นผู้กระทำข่มขืน และผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมาก่อน พบว่าผู้ชายที่กระทำการข่มขืน มี 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1.ผู้ชายที่มีสถานะสามี แล้วข่มขืนภรรยา และ 2.ผู้ชายที่เป็นเพื่อน เป็นหัวหน้างาน โดยพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการเลียนแบบ หรือถูกยั่วยุจากปัจจัยกระตุ้นหรือสิ่งเร้า ที่เกิดจากสังคมไม่เคยฝึกผู้ชาย หรือลูกชาย ให้รู้จักควบคุมความต้องการทางเพศของตน หรือเคารพสิทธิของคนอื่น เราสอนลูกสาวได้ เราสอนผู้หญิงได้ แต่เราไม่เคยสอนลูกชายเลยว่า เราจะไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่เขาไม่ยินยอมมีความผิดทางกฎหมาย แม้แต่ในหนังในละครก็ยังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ รวมไปถึงกรณีผู้ใหญ่ในระดับหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชาการ ข่มขืนลูกน้องก็ยังมี กรณีนักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการเมืองระดับชาติมีพฤติกรรมใช้อุบายล่อหลอกเพื่อข่มขืนผู้หญิงก็มีเช่นเดียวกัน

“ประเด็นหลักคือต้องดูข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีว่าผู้กระทำมีเหตุปัจจัยสนับสนุนมาจากอะไร และต้องลดเหตุปัจจัยสนับสนุนนั้น ประกอบไปกับการควบคุมบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ไม่ใช่กฎหมายไม่แข็งแรงแต่เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่แข็งแรง ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมต้นทางก็ไม่เป็นมิตร เหตุที่คนกระทำผิดยังคงทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้เสียหายอยากดำเนินคดี แต่คดีก็ไม่คืบหน้าไปถึงไหน

ส่วนการแก้แค้นด้วยวิธีตาต่อตา จะนำไปสู่การลดจำนวนและป้องการการกระทำข่มขืนได้หรือไม่ คิดว่าเป็นประเด็นที่ต้องมีการศึกษา เพราะไม่ใช่เสนอกันเพียงเพราะอารมณ์พาไป ตัดเลย ฆ่าเลย เพราะยังมีกรณีที่ผู้ถูกกระทำที่เป็นภรรยาโดนสามีข่มขืน รวมไปถึงในกรณีที่สามีเองก็ยังมีอายุไม่เกิน 18 ปี กับสามีที่มีอายุเกิน 18 ปี ซึ่งในกฎหมายเดิมระบุว่าถ้าเป็นการกระทำชำเราระหว่างสามีภรรยา ให้ยอมความได้ แต่หากไปทำกับเด็ก หรือคนอื่นมากระทำกับผู้หญิง ยอมความไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่านิยามเรื่องข่มขืนไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพราะมีในบางกรณีที่ไม่ได้ใช้อวัยวะเพศอย่างเดียวในการกระทำชำเรา นิยามเดิมครอบคลุมสิ่งอื่นใดที่ใช้กระทำชำเรา แต่ปัจจุบันนิยามไว้แค่อวัยวะเพศ รวมไปถึงกรณีผู้ชายข่มขืนผู้ชาย นิยามก็ไม่ครอบคลุมเพราะช่องทางการถูกกระทำไม่เหมือนผู้หญิง ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายรับรองเพศสภาพของเรายังไม่มี ประกอบกับปัจจัยอีกหลายอย่าง คนแก้ปัญหาหรือนำเสนอทางออกควรนำเสนอทางออกด้วยปัญญาและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง” น.ส.สุเพ็ญศรีกล่าวและว่า

“ส่วน ส.ส. เขาจะแสดงความเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะความเห็นก็คือความเห็น อยากให้สังคมและประชาชนเข้าใจปรากฎการณ์ความข่มขืนที่เกิดขึ้นว่าเหตุอยู่ตรงไหน ครอบคลุมทั้งการศึกษา กฎหมาย การเข้าถึงสิทธิ และกระบวนการยุติธรรมด้วยหรือไม่”

น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าวอีกว่า ตนมองว่าสังคมไทยถ้าใช้การกดดัน ใช้วิธีแก้แค้นแบบเอาเป็นเอาตาย อาจจะทำให้มีผู้ถูกกระทำเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้เสียชีวิตไม่สามารถมาเป็นประจักษ์พยานได้ ฉะนั้นจึงมองว่าเรื่องกฎหมายอย่างเดียวแก้ไขปัญหาเรื่องการข่มขืนไม่ได้ กฎหมายทำได้เพียงควบคุม บังคับ และนำไปสู่การปรับพฤติกรรม ด้วยเหตุนี้จะนำผู้ถูกกระทำไปจองจำไว้ในเรือนจำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการนำไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ให้รู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ประกอบกับสอนวิธีป้องกันตั้งแต่เด็ก ดังที่แพทย์เคยแนะนำไว้ตั้งแต่ปี 2540 ว่า การทำงานกับเด็ก ๆ ควรมีการฝึกการหนีภัยจากเหตุข่มขืนด้วย เพราะเวลาที่ถูกกระทำจะเกิดอาการช็อคจากการตกใจ แต่หากมีสติ เรียนรู้การป้องกันตัวก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเวลาคับขัน ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่ก็เป็นคนใกล้ชิด คนคุ้นเคย และผู้มีอำนาจสูง ก็เลยไม่ได้ทันระวังตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image