ไม่ใช่ไม้ประดับ เปิดทำเนียบ ‘นักการเมืองหญิง’ ดาวเด่น ชาเลนจ์ขับเคลื่อนปท.ปีหนูทอง

ปี 2562 นับเป็นปีที่แวดวงการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อคนไทยได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กาบัตรลงคะแนนเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ “สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม

เปิดประชุม สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก เฝ้าดูถ่ายทอดสด ส่ง #ประชุมสภา ขึ้นเทรนด์ในโลกทวิตเตอร์ คึกคักทั้งวิวาทะ บรรยากาศทั้งสองฟาก ที่นำมาถกเถียงกันต่อ ปีที่ผ่านมามีทั้งสีสัน สภาล่ม ดุเดือดไปจนถึงลากเก้าอี้ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดาวเด่นหลายๆ ดวงคือ “ผู้หญิง” ที่ขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองมากขึ้น “มิใช่” เพียงแค่ “ไม้ประดับ” อย่างที่เคยกล่าว แต่พวกเธอได้ลุกขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยจำนวน ส.ส.หญิง 81 คน จาก 500 คน เทียบกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีเพียง 12 คนยิ่งมีพัฒนาการที่ดี ยังไม่รวมถึง เหล่านักการเมืองหญิงที่แม้จะสอบตก แต่ยังคงขับเคลื่อนงานการเมืองนอกสภา

เปิดตัว”ดรีมทีมฝ่ายค้าน”

Advertisement

อนาคตใหม่

เป็นพรรคการเมืองขวัญใจคนรุ่นใหม่ ที่แต่ละคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สื่อสารกับประชาชน และยังเป็นหนึ่งพรรคที่มีสมาชิกหญิง ที่มีผลงานและบทบาทโดดเด่น

ชื่อแรกที่หลายคนคิดถึง ไม่พ้นโฆษกพรรค “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตผู้สื่อข่าวมากความสามารถที่ผันตัวมาเล่นการเมือง เป็นที่จับตามองตั้งแต่เปิดตัวนั่งโฆษก ยิ่งเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ก็ได้เห็นภาพของเธอขึ้นเหนือลงใต้หาเสียงไม่หยุด เมื่อใดขึ้นเวทีดีเบต อภิปราย ก็ถ่ายทอดโดนใจ ดึงความสนใจคนอยู่หมัด ก้าวสู่เวทีสภา เธอถูกรับน้องใหม่หลายครั้ง ทั้งในและนอกสภา ทั้งเรื่องเฟคนิวส์ เสื้อผ้า และวาทะต่างๆ แต่ก็ยังจัดหนักเสมอ ทั้งยังฉุกให้สังคมได้คิดถึงการคุกคามทางเพศด้วยวาจา เมื่อพรรณิการ์ขอให้นายกฯ ถอนคำพูดว่า “คนสวย” ออก ช่อยังนั่งเก้าอี้รองประธานคณะกรรมาธิการถึง 2 ชุด ทั้ง กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กับ กมธ.การต่างประเทศ ที่ลงพื้นที่ทำงานให้เห็นอยู่ตลอด

“ช่อ” พรรณิการ์ วานิช

หนึ่งสาวที่โดดเด่นในสภาครั้งนี้ เป็นใครไม่ได้นอกจาก “ผอ.ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย อดีตนักวิจัยทีดีอาร์ไอ ที่ผันตัวมาลงเล่นการเมือง นำเอาความถนัดในด้านความเหลื่อมล้ำ แรงงาน และการคลัง มาใช้ได้อย่างดี ลุกขึ้นอภิปรายครั้งใด ต้องมีชาร์ต กราฟสถิติแจงข้อมูลยิบด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ทั้งเรื่องสัมปทานดิวตี้ฟรี โครงการอีอีซี อภิปรายงบประมาณครั้งที่ผ่านมายังรับหน้าที่หัวหน้าทีมวิเคราะห์งบประมาณ แจกแจงความไร้ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบของรัฐบาล เป็นหญิงเดี่ยวตัวแทนพรรคนั่งประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ

“ผอ.ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล

“ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตอาจารย์ ผู้สนใจเรื่องวาทกรรมในห้องเรียน เป็นอีกหนึ่งคนที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร ในสภา “ครูจุ๊ย” มักมีสไตล์อภิปรายนิ่งๆ แต่ข้อมูลแน่น เตรียมสไลด์ที่พร้อมให้ดาวน์โหลด จับจุดการศึกษาเป็นเรื่องหลัก เชือดนิ่มๆ งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่สมดุลจนเกิด 5 แผลใหญ่เรื้อรังการศึกษาไทย เป็นตัวแทนพรรคนั่งรองประธาน กมธ.การศึกษา ที่นำมาอัพเดตการทำงานอยู่เนืองๆ

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อภิปรายในสภา

นอกจากนี้ ยังมีเหล่า ส.ส.หญิงของพรรคอีกไม่น้อยที่น่าสนใจ ทั้งเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการสัดส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ ส.ส.หญิงที่พรรคฝ่ายค้านเลือกสู้ชิงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 หรือ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สร้างสีสันให้สภาตั้งแต่นัดแรกๆ ด้วยการหยิบยกคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่าง “มึงมาไล่กูซิ” มาถ่ายทอด จน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังต้องขอเบรก เช่นเดียวกับ ส.ส.แอลจีบีทีของพรรค ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์
อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล
ส.ส.หญิงอนาคตใหม่

เพื่อไทย

นำทัพเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้ง จนคว้าที่นั่ง ส.ส.แบบเขตได้เป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ชื่อของ หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ติดโผเข้ามา หลังประกาศเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ก็ลงพื้นที่หาเสียง สอบถามทุกข์ชาวบ้านนำไปเป็นนโยบายต่างๆ หลายครั้งยังได้พาครอบครัว รวมทั้งน้องจินนี่ลูกสาวคนเล็กไปลงพื้นที่ เรียกความสนใจจากสังคมเกรียวกราว แม้ครั้งนี้อาจจะไม่ได้เข้าสภา แต่ก็รับหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ทำงานนอกสภาไม่ขาด

หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์


ฟากน้องใหม่ ผู้แทนนิวเจนเขต 5 ร้อยเอ็ด “น้ำ” จิราพร สินธุไพร แม้จะเพิ่งนั่งเก้าอี้สมัยแรกแทนคุณพ่อนิสิต แต่ ส.ส.หญิงวัย 32 ก็ไม่ได้อ่อนหัดเหมือนอายุ ลุกขึ้นจับไมค์อภิปรายวันแรก เปรียบประเทศที่เพิ่งฟื้นหลังหลับไป 5 ปี แล้วเพื่อนบ้านแซงกันไปหมด หรือจะเป็นการชำแหละงบประมาณทหารและเศรษฐกิจ ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มพูดเรื่องเครียดจนชาวเน็ตให้ฉายา “รอยยิ้มประหาร” เป็นที่สนใจระดับเป็นหญิงสาวหนึ่งเดียวที่ขึ้นเวที “จับมือดาวสภาเพื่อไทย” ร่วมกับ ส.ส.ซีเนียร์ชายอีกหลายคน

จิราพร สินธุไพร อภิปรายในสภา

อีกหนึ่ง ส.ส.หญิงที่หากพูดชื่ออาจจะยังไม่คุ้นหูวัยรุ่นมากนัก แต่ยอดชมคลิปอภิปรายไม่ได้น้อย ต้องยกให้ “สมหญิง บัวบุตร” ส.ส.อำนาจเจริญ ขึ้นจับไมค์อภิปราย หารือครั้งใดได้เห็นภาพ ถ่ายทอดความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่อย่างถึงอารมณ์ เช่น ปัญหาอุทกภัยที่อยากขอให้รัฐบาลซื้อเรือดำน้ำช่วยประชาชน เรียกน้ำตาปนเสียงหัวเราะจนเป็นที่จดจำ หรือ ส.ส.อิ่ม-ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ผู้แทนเขตลาดกระบัง ลุกขึ้นอัดรัฐบาลเก็บภาษีรีดเลือดกับปู ฉะวงการการศึกษา ที่เห็นการล็อกสเปกแบบเรียน รวมทั้งการคอร์รัปชั่นในวงการศึกษาในการอภิปรายงบประมาณ ก็เป็นคนที่ต้องนึกถึง

สมหญิง บัวบุตร
ส.ส.อิ่ม-ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์

ดาวเด่นฟากรัฐบาล

พลังประชารัฐ

เป็น “ดาวดับ” ที่โดดเด่นที่สุดในพรรคพลังประชารัฐ สำหรับ “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส. 4 สมัย ที่ฮือฮาจนหลายคนสงสัยว่าทำไมถึงเพิ่งมารู้จัก เปิดตัวด้วยการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กฉะ “อีช่อ” ไร้มารยาท ก่อนจะออกมาแก้เก้อว่าเป็นคำที่ชาวราชบุรีเขต 3 เรียกรวมๆ ไม่ได้เจาะจงใครเป็นพิเศษ เปิดทางให้เธอมีโอกาสทำหน้าที่สำคัญในการอภิปรายญัตติสำคัญๆ หลายครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าสังคมจดจำในแง่ของคำถามเป็นส่วนใหญ่ ทั้งช็อตการถูกท้วงติง หรือลากเก้าอี้ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมไปถึงคดีรุกป่า 2 พันไร่ของ ส.ส.เอ๋ จึงได้ตำแหน่ง “ดาวดับ” จากการตั้งฉายาของ “สื่อมวลชนประจำรัฐสภา” ในปี 2562 ไปครอง

ปารีณา ไกรคุปต์

ฮือฮาตั้งแต่เปิดตัวสวมเสื้อพลังประชารัฐ ก็ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ก่อนจะได้รับโอกาสเข้าสภาเมื่อ “ศรีนวล บุญลือ” ผู้สมัครจากอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งซ่อม หลังจากที่ ส.ส.คนเดิมจังหวัดเชียงใหม่ โดนใบเหลือง ทำให้อันดับปาร์ตี้ลิสต์ขยับ จึงได้จูงมือ ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร เข้าสภา 3 สาวรวด ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่ทีมหนุนบิ๊กตู่ มีหยิบยกคดีจำนำข้าวสมัยรัฐบาลมาอภิปราย

“มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี

เหล่าผู้แทนหญิงหลายคนของพรรค ก็เรียกว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน ปีนี้ มีสมาชิกพรรคหลายคนที่เบียดคู่แข่งได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครชั้นใน ที่ ส.ส.หญิงกวาดพื้นที่ได้หลายเขต ล้วนแล้วแต่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ทั้ง กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ, พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ และ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ที่ใช้ความสนใจขับเคลื่อนงานผู้หญิง รวมทั้งประเด็นหาทางป้องกันการข่มขืน

กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา

รวมไปถึง อุ๋ม-ธนิกานต์ พรพงษ์โรจน์ ส.ส.เขตบางซื่อ ดุสิต ที่รายหลังได้รับความไว้วางใจจากพรรคให้เป็นตัวแทนในหลายหน้าที่ รวมไปถึงเป็นหนึ่งใน 2 สาว ที่ได้นั่งเป็น กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากทั้งหมด 49 คน

ส.ส.หญิงพลังประชารัฐ

ประชาธิปัตย์

ข้ามมาที่พรรคร่วมรัฐบาลฝั่งสีฟ้า ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ มี ส.ส.หญิงที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่สภาเพียง 10 คน ส.ส.หญิงที่คนให้ความสนใจตั้งแต่วันแรก ดูเหมือนจะเป็น ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร ที่ตั้งใจเข้าสู่สภาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการศึกษาก็ได้ใช้โอกาสสื่อสารเรื่องนี้ในสภาสมใจ รวมไปถึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการพรรค ในกรรมการบริหารชุดใหม่ที่เพิ่งจะผลัดใบ

ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร

ส.ส. 5 สมัย ที่ครั้งไหนก็เป็นที่พูดถึง กับลีลาการพูดที่เผ็ดมันในสภา ไม่พ้น “รังสิมา รอดรัศมี” ผู้แทนสมุทรสงคราม ฝีปากยังคงเผ็ดแม้เว้นว่างไป 5 ปี นำเรื่องการโกงการเลือกตั้งมาตีแผ่แม้อยู่ฝั่งรัฐบาล หรือความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ยังได้นั่งประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม ไฟแรง ลุยคุยกับชาวประมง ลูกจ้าง ทั่วประเทศ

รังสิมา รอดรัศมี

และหนึ่งสาว สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.จาก จ.ตรัง วัย 28 ปี ที่อายุน้อยที่สุดในภาคใต้ ที่แม้จะอายุน้อย แต่สาวนิวเด็มคนนี้ก็เป็นตัวแทนคนในพื้นที่ เป็นปากเป็นเสียงเรื่องความเดือดร้อน ทั้งยังแอ๊กทีฟในโซเชียลมีเดีย สื่อสารถามความเห็นอยู่ประชาชน ทั้งยังคอยอัพเดตการทำงานของคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว ที่นั่งเป็นเลขานุการ มารายงานประชาชนอยู่เนืองๆ

สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ


ส.ส.หน้าใหม่ไฟแรง

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองหลายพรรค เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานอย่างมาก ทำให้สาวๆ รุ่นใหม่หลายคนได้ฉายแวว ดังเช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ชู ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สลับชายและหญิง ดันให้ เพชรชมพู กิจบูรณะ ก้าวมาเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในครั้งนี้ ในวัย 25 ปี ที่ขึ้นเวทีอภิปรายด้วยข้อมูลแน่น ผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ อยู่เสมอ

เพชรชมพู อภิปรายในสภา

รวมไปถึง “จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์” หรือพลัม พี่สาวน้องพลับ ใครใครก็ไม่รักผม ที่ได้เป็น ส.ส.แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งลาออก ส.ส.ไปเป็น รมว.แรงงาน แม้จะยังไม่มีผลงานโดดเด่นนัก แต่ก็ยังมีเวลาพิสูจน์การทำงาน โดยเฉพาะกับตำแหน่งที่ปรึกษากรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีคนรุ่นใหม่ร่วมทีมไม่น้อย

จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์

ข้ามมาที่ “ศรีนวล บุญลือ” เปิดตัวแรงในการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ ที่เจ้าของพื้นที่ถูกใบส้ม ได้รับเสียง 7 หมื่นกว่าคะแนน ถือว่ามากที่สุดในไทย จับไมค์ครั้งแรกก็ได้ใช้ภาษาถิ่นรับเสียงชื่นชม อยู่ๆ ไปเปลี่ยนสีสวนมติพรรค งดออกเสียง ในหลายครั้ง ก่อนโดนมติขับออกจากพรรค ไม่ทันไรก็โดดไปแจมกับภูมิใจไทย ร่วมปาร์ตี้ปีใหม่รัฐบาลได้อย่างเร็ว จนกระแสสังคมเปลี่ยนทันที

ศรีนวล บุญลือ

คนนี้อาจจะไม่เรียกว่าหน้าใหม่ แต่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ สำหรับ “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ก้าวขึ้นมาคุมลูกพรรคก่อนศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หลังจากผันตัวไปทำงานด้านอนุรักษ์สัตว์ที่ตัวเองรักมาหลายปี แม้จะไม่ได้ห่างหายจากแวดวง แต่ครั้งนี้เรียกว่าเอาจริง ลงพื้นที่ตลอด กวาดที่นั่งใน จ.สุพรรณบุรี ยกจังหวัดอย่างไม่เสียชื่อ มีผลงานติดตาคน จนได้รับการโหวตให้เป็นอันดับ 1 ของนักการเมืองหญิงฝ่ายรัฐบาลที่คนชื่นชอบจากสวนดุสิตโพล

“หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา


ทีมโฆษกพลังหญิง

กล่าวถึง เหล่า ส.ส.หญิง ในสภาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าในปีนี้ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากฟากทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้เลือกทีมโฆษกหญิงล้วน มี “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” นั่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามด้วย รัชดา ธนาดิเรก อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ และ ไตรศุลี ไตรสรณกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งรองโฆษกรัฐบาล

รัชดา , นฤมล , ไตรศุลี

 

เปิดตัววันแรก โฆษกสาวก็เน้นย้ำพร้อมทำงานเป็นทีมแม้จะอยู่ต่างพรรค เน้นสร้างการเมืองใหม่ เน้นทำงานเชิงรุก และเชื่อว่าการมีทีมโฆษกหญิง จะทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้ด้วยดี หลังจากปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ก็ได้เห็น 3 สาว นั่งแถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสร เปิดนโยบายสำคัญๆ หลายต่อหลายโครงการ ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ช่วยผู้ประสบภัยต่างๆ

รัฐมนตรีหญิง ครม.62

เลือกตั้งใหม่ ก็อยากเห็นรัฐบาลใหม่ แต่ครั้งนี้ดูๆ ไปแม้รัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนโฉมมีพรรคร่วมมาทำงาน แต่ก็ยังเห็น ส.ส.หน้าเดิมอยู่มาก และจากรัฐมนตรีทั้ง 35 คนนั้น มีเพียง 3 คน ที่เป็นผู้หญิง คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ, กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยการทรวงศึกษาธิการ และมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
กนกวรรณ วิลาวัลย์

เห็นหน้าค่าตาสักหน่อย ก็คงเป็น “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ที่ชัดเจนในการทำงานแบน 3 สารเคมี เป็นนโยบายแรกหลังรับตำแหน่ง แม้จะต้องชนกับหน่วยอื่นๆ ตั้งแต่กระทรวงตัวเองยันอุตสาหกรรม แถมยังไม่มีทีท่าจะสำเร็จสักที จนได้ฉายา “มาดามแบนเก้อ” มา แต่ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ยังขอสู้ต่อไป

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

ปี 2563 อีกปีแห่งความท้าทายนักการเมืองหญิง ในการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป

มิติใหม่”นักการเมืองหญิง”

แม้จะมีจำนวน ส.ส.ในสภาสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ มีความน่าพอใจในเชิงปริมาณ แต่กับเชิงคุณภาพนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบ

นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เผยว่า แม้หลายคนจะไม่ชอบการเลือกตั้ง 2562 แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้ง 2562 ได้ผู้หญิงมาเป็น ส.ส.มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา โดยหนนี้มีสัดส่วน ส.ส.หญิงร้อยละ 16.2 จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีสัดส่วน ส.ส.หญิง สูงสุดเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

“ดิฉันสังเกตเห็น ส.ส.หญิงหลายคนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ช่วงเวลาก่อนการอภิปราย ที่ประธานสภาเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้รายงานสภาพความเดือดร้อน ความต้องการของแต่ละพื้นที่ ตรงนี้ถือเป็นพื้นที่ฝึกงานของ ส.ส.หญิงหลายคน ได้ทำให้เรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่เคยหยิบยกเข้าสภา เช่น ผู้หญิงถูกลวนลามในสถานบันเทิงโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ช้างป่าทำอันตรายต่อชาวบ้าน ความปลอดภัยชุมชน ถูกนำมาพูดมากขึ้น และโอกาสตรงนี้ได้ทำให้ ส.ส.หญิงหลายคนอภิปรายดีขึ้น”

มี ส.ส.หญิงหลายคนที่เรืองรวีชื่นชม ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่างที่ชื่นชมมากๆ และยกให้เป็นดาวเด่น คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคอนาคตใหม่ “ที่กล้าลุกขึ้นอภิปรายเชิงทฤษฎีมากกว่าพรรคอื่นๆ เวลาอภิปรายเรื่องอะไร จะมีข้อมูลหลักฐาน งานวิจัยมารองรับ วิธีการนำเสนอก็ไม่ใช่อารมณ์ แม้อาจดูไม่มีสีสัน แต่เป็นการอภิปรายที่เน้นเนื้อหาอย่างละเอียดจริงๆ”

นางเรืองรวี พิชัยกุล

ถัดมาเป็น น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เป็น ส.ส.หญิงอายุน้อย แต่เวลาอภิปรายสามารถพูดถึงเนื้อหาที่ทันสมัย และคงเป็นคนที่เตรียมข้อมูลหนักมาก

นอกนั้นก็มี น.ส.จิราพร สินธุไพร จากพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ภาษาได้ดี สามารถอธิบายเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ใช้โซเชียลมีเดียเก่ง

“สิ่งที่ดิฉันอยากเห็นในปีหน้า คือการที่นักการเมืองหญิงจะกล้าอภิปรายอย่างเจาะลึก มีข้อมูลแน่นหนา ไม่ใช้อารมณ์หรือเขาเล่าว่า รวมถึงการจับร่างกฎหมายที่เข้าคิวเป็นจำนวนมาก สานต่อให้ลุล่วงตามที่เคยได้หาเสียงไว้ เช่น โครงการสร้างเมืองปลอดภัยให้เด็กและผู้หญิง โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า โดยอยากเห็นการทำงานข้ามพรรค ข้ามฝ่าย ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ก็จะเป็นเรื่องดีมาก” เรืองรวีเล่าด้วยน้ำเสียงมีความหวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image