นักวิชาการ มอง หญิง-ชาย ยังไม่เท่าเทียมแม้มีในรธน. เสนอระบบโควต้า เพิ่มโอกาสการเมือง

นักวิชาการ มอง หญิง-ชาย ยังไม่เท่าเทียมแม้มีในรธน. เสนอระบบโควต้า เพิ่มโอกาสการเมือง

หญิง-ชาย ยังไม่เท่าเทียม – เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 26 มกราคม ที่ห้องยูงทอง 2 สมาคมธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา สิทธิมนุษยชน- สิทธิสตรี ในรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ปัจจุบัน ในวาระ 108 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยมีนักวิชาการจากหลายแวดวงเข้าร่วมเสวนา

ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า หากจะกล่าวไปแล้ว นับได้ว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎร นับเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน นั่นก็คือเรามีสิทธิที่จะมีทั้งเอกราช ความปลอดภัย เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ก็ระบุไว้ว่า ผู้หญิงมีสิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้งและลงเลือกตั้ง ถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในยุโรปก่อนหน้านั้น แต่เวลาที่กล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็จะนึกถึงปฏิญญาสากล ที่คนชอบอ้างว่าเป็นเรื่องฝรั่ง ทำไมต้องทำตามเขา ทั้งๆที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมี

ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย สิทธิหลายอย่างยังมีปัญหา เช่น สิทธิทางการเมือง ที่การจัดการปัญหาต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมายังมีปัญหาอยู่ หรือการใช้บัตรเดียวเลือกทั้ง 2 ระบบ ขณะที่ สิทธิพลเมือง เป็นปัญหามาก เพราะพลเมืองไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ เพราะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดอยู่

Advertisement

ที่จำเป็นต้องแก้ไข ในเรื่องของสิทธิสตรีนั้น ต้องยอมรับสังคมไทยมีความคิดแบบ ชายเป็นใหญ่ แม้ว่าจะมีการเขียนสิทธิไว้ตามกฎหมาย แต่ที่จริงแล้ว ก็ยังไม่มีความเสมอภาคทางสังคม เช่น เรื่องค่าแรง ที่ข้อมูลจากทั่วโลก พบว่าผู้หญิงและเด็กกว่า ทำงานฟรีกว่า 12,500 ชั่วโมงทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 324 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้หญิงไทยมีผู้หญิงที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรงประมาณ 5,280,000 กว่าคน และยังมีความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นตลอด

“สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่า แม้จะพูดว่าไม่มีปัญหาเรื่องความเสมอภาคของสตรี แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นตลอด นั่นก็เพราะความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ รวมไปถึงในรัฐสภา และผู้ออกนโยบายสาธารณะที่ไม่มีผู้หญิงเข้าไปร่วมร่างกฎหมาย ซึ่งข้อมูลการศึกษาระบุไว้ว่า หากผู้หญิงเป็นผู้ร่างกฎหมาย จะช่วยส่งผลต่อนโยบายภาคสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ ช่วยลดความขัดแย้งและลดปัญหาคอร์รัปชั่น จึงเสนอให้มีการเพิ่มโควต้าผู้หญิงในแวดวงการเมือง เพื่อช่วยให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เข้าถึงระบบมากขึ้น เนื่องจากผู้ชายมีประสบการณ์ในด้านการเมืองมากกว่าผู้หญิง ที่เพิ่งเริ่มต้นในแวดวงการเมือง เพราะแม้รอบที่ผ่านมาจะมีจำนวนส.ส.หญิงมาก แต่ก็ยังน้อยกว่าระดับที่ควรจะเป็น” ดร.ลัดดาวัลย์กล่าว

ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

ขณะที่ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลในรัฐธรรมนูญปี 40 50 และ 60 มีการพูดถึงสิทธิของคนไทยและความเท่าเทียมทางเพศในหลายหมวด เช่น ชายและหญิงต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศ อายุ สถานภาพใดก็ตาม มีการระบุให้จัดสรรงบประมาณตอบสนองต่อความต้องการต่อความหลากหลายทางเพศ ที่บ่งบอกความเท่าเทียม และให้พรรคการเมืองสร้างสมดุลในการส่งผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และแบบเขต ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้เท่าไหร่

Advertisement
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์กล่าวว่า แนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ที่มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ถือได้ว่า

เราก้าวหน้ามาตั้งแต่ 80 กว่าปีก่อน แต่ปัจจุบันกลับเดินถอยหลัง

สังเกตได้ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับหลังการรัฐประหารนั้น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบรรจุไว้ ไม่เป็นไปตามที่ควร และมักถูกตั้งคำถาม เพราะเขียนออกมาแบบ มาตรฐานไทยๆ แต่คำถามคือ “ไทยๆ” นี้ เป็นส่วนน้อยหรือส่วนมาก เพราะไทยๆ ก็ควรจะเป็นประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศนี้ การจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยนี้ ต้องสร้างจิตวิญญาณประชาชาติ ต้องให้ความสำคัญในการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผ่านการแก้ไข รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน

ในด้านสิทธิมนุษยชนนี้ เรายังมีเรื่องที่ต้องตั้งคำถามอีกมาก เช่น เรามีสิทธิที่จะได้อากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ และรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลเรา หรือการใช้ข้อมูลโทรศัพท์ ที่รัฐมีสิทธิจะเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้าของเราหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 นี้ ยังต้องแก้ไขอีกหลายมิติ โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวว่า ในความคิดของตน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นั้น นับเป็นบุคคลตัวอย่างและอาจจะไม่เคยได้คิดเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิสตรี แต่ท่านเป็นแบบอย่างในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างดี คือการทำหรืออยากให้คนอื่นได้รับสิทธิ โดยไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่น อ.ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข นับได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิมนุษยชนในหัวใจ เห็นได้จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

ที่ผ่านมาท่านต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เป็นสิทธิของประชาชน ท่านผู้หญิงพูนศุข ไม่เคยขัดสิ่งที่อ.ปรีดีทำ และยังสนับสนุน หลายครั้งไม่อาจทำในสิ่งที่อยากทำได้ เพราะต้องดูแลครอบครัว เป็นทั้งพ่อและแม่ให้ลูก เหมือนกับผู้หญิงไทยหลายคน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image