เครือข่ายสตรี ผุด ‘ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย’ อึ้ง! ศก.ฟุบทำหญิงไทยตกงานอื้อ จี้รบ.แก้

เครือข่ายสตรี ผุด ‘ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย’ อึ้ง! ศก.ฟุบทำหญิงไทยตกงานอื้อ จี้รบ.แก้

ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย – เมื่อวันที่ 28 มกราคม สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ และเครือข่ายองค์กรสตรี จัดงาน แสดงความยินดีและเสวนากับชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยชุดใหม่ ณ ห้องสุภัทรา สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย โดยมี นายเฮนรี เร็คเตอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตประธานชมรมรัฐสภาสตรีไทย และนางสาวลานทิพย์ ทวาทศิน นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ร่วมมอบช่อดอกไม้ และกล่าวแสดงความยินดี

โดยภายในงานมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร สว., นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร สว., นางจิรกา สงฆ์ประชา สมาชิกวุฒิสภา, นางมุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย, นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี, สส.พรรคพลังประชารัฐ, นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, และนางสาวภาดาห์ วรกานนท์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

 

Advertisement

จากนั้นเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ทิศทางการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ระหว่างสมาชิกรัฐสภาสตรี องค์กรสตรี และองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพสตรีให้เข้มแข็ง สร้างกฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ” เพื่อรวบรวมข้อเสนอจากเครือข่ายต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาผ่านชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยชุดใหม่ต่อไป

นางสาวสุพีชา เบาทิพย์ ตัวแทนกลุ่มทำทาง กลุ่มอาสาสมัครให้คำปรึกษาทำแท้งปลอดภัย กล่าวว่า บริการทำแท้งของรัฐในโรงพยาบาลรัฐบาล สปสช.สนับสนุนรายละ 3,000 บาท เป็นนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติแล้วในปัจจุบัน จึงอนุมานได้ว่าหากมีผู้หญิงที่มีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์สามารถเข้าไปติดต่อได้ที่โรงพยาบาลของรัฐได้ ถ้าโรงพยาบาลนั้นให้บริการ เพราะในจำนวน 1,000 กว่าโรงพยาบาล จะมีแค่ 130 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการ และส่วนใหญ่จะให้บริการเฉพาะในกรณีที่เป็นเด็กถูกข่มขืน ฉะนั้นจึงไม่ใช่ว่าผู้หญิงคนใดถูกข่มขืนแล้วสามารถเข้ารับการทำแท้งได้

นางสาวสุพีชา กล่าวต่อว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอาจจะมาจากทัศนคติของแพทย์ที่ไม่อยากมือเปื้อนเลือด และเป็นเรื่องของกฎหมายอาญามาตรา 301-302 ที่ระบุให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดทางอาญา ดังว่า มาตรา 301 “หญิงใด” ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจุดนี้น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญที่บอกว่าทุกเพศเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายเอาผิดแต่กับแค่ผู้หญิง ขณะเดียวกัน กฎหมายอาญา 305 ยกเว้นความผิดให้การยุติการตั้งครรภ์ และมีข้อบังคับแพทยสภา ที่อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายได้ถ้าเป็นประเด็นเรื่อง “สุขภาพ” ที่ถูกตีความแคบมาก แต่ในความเป็นจริงคำว่าสุขภาพกว้างมาก ด้วยรวมไปถึงสุขภาพจิตด้วย ดังนั้นอยากจะฝากส.ส.ว่าให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 301ให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ อย่าให้ผู้หญิงมีความผิดเพียงเพราะอยากแก้ไขปัญหาของตัวเอง และเพิ่มคำว่ากายและจิตลงไปในเงื่อนไขของการทำแท้งถูกกฎหมายของมาตรา 305

นอกจากนี้เครือข่ายสตรียังสะท้อนปัญหาและยื่นข้อเสนออีกในหลายประเด็น อาทิ เรียกร้องนโยบายการช่วยเหลือจากทางภาครัฐในเรื่องปัญหาผู้หญิงไทยตกงานจำนวนมากเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ โดยมีข้อมูลระบุว่า คนไทย 4 แสนคนอยู่ในสถานะว่างงาน และร้อยละ 60 เป็นผู้หญิง รวมไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการถ้วนหน้าของรัฐ กลไกรัฐสภา ความรุนแรงในครอบครัวที่รัฐควรสวัสดิการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรีและเด็ก เป็นต้น

สำหรับ “ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยความร่วมมือระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีและสมาชิกวุฒิสภาสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกในกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image