รวมพลัง ‘สตรีในรัฐสภา’ ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

รวมพลัง ‘สตรีในรัฐสภา’ ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

สตรีในรัฐสภา – เป็นเรื่องที่ “น่ายินดี” และเป็น “ข่าวดี” ของสตรีไทย ที่ได้เห็นการร่วมมือกันของ “นักการเมืองหญิง” ที่ก้าวข้ามอุดมการณ์พรรคการเมือง ก้าวข้ามความขัดแย้ง หันมาประสานมือผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง ผ่านการจัดตั้ง “ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย” ชุดใหม่ ซึ่งมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีและสมาชิกวุฒิสภาสตรีจากหลายพรรคการเมือง ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกในกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ

เป็นการเปิดประตู “เชื่อมโยง” การทำงานระหว่างผู้หญิงในรัฐสภาและภาคประชาสังคมที่แท้จริง

เรืองระวี พิชัยกุล ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เล่าว่า การทำงานของชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยในหลายชุดที่ผ่านมาเป็นการทำงานข้ามพรรค ข้ามองค์กร ข้ามอุดมการณ์ ซึ่งได้ผลมากกว่าการทำแบบพรรคเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะในประเด็นที่สำคัญมากๆ พรรคเดียวทำไม่ไหว พอได้เสียงผู้หญิงจากหลายพรรคช่วยกันก็มักจะผ่าน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายอาญาเกี่ยวกับการข่มขืนที่แต่ก่อนระบุว่าชายใดข่มขืนหญิงอื่นมีความผิด เป็นใครข่มขืนใครก็มีความผิด กระทั่งถึงช่วงที่มีกีฬาสี มีความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์พรรคการเมือง การทำงานของชมรมก็จางไปด้วย ตราบจนมีการเลือกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 ก็มีการฟื้นชมรมขึ้นมาอีกครั้งจากการผลักดันของผู้หญิงภายในรัฐสภา และภาคประชาสังคม ตลอดจนเครือข่ายจัดกิจกรรมสนับสนุน

Advertisement

สำหรับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงมาร่วม 30 ปี นี่จึงนับเป็นข่าวดี ด้วยในบางครั้งภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวข้างนอก เข้าไม่ถึงข้างใน เกิดความสนใจในสาธารณะน้อย เช่น เรื่องการทำแท้งปลอดภัย เป็นเรื่องของสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเคยผลักดันกันตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่ว่าเผชิญแรงเสียดทานไม่ไหว ด้วย ส.ส.ชายมีเยอะ สังคมก็ยังไม่ยอมรับ ในขณะนั้นแม้แต่ถุงยางอนามัยก็ยังแจกไม่ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องไหนผลักดันไม่ได้ในอดีต ตอนนี้น่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่ต้องอาศัยเสียงที่มากพอ และกลับไปทำความเข้าใจภายในพรรคแต่ละพรรค

“การกลับมาของชมรมยังทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้หญิงในการตัดสินใจระดับรัฐสภาปรากฏขึ้น ด้วยในปัจจุบันผู้หญิงในรัฐสภาอาจจะยังมีความน่าเชื่อถือไม่มากพอ ผลงานยังไม่โดดเด่น จึงเป็นการกระตุ้นให้สร้างผลงาน ตลอดจนมีความเข้มแข็ง เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้หญิงในรุ่นต่อไป” เรืองระวีกล่าว

Advertisement
เรืองระวี พิชัยกุล

ด้าน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า งานนี้เป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากมีการเลือกตั้ง และรัฐสภาสตรีไทยกลับมามีบทบาท อาจจะดูเหมือนเป็นการประชุมที่เล็กแต่จริงๆ มีความสำคัญมาก เพราะว่าเป็นการพบกับภาคประชาสังคมซึ่งทราบปัญหาทางสังคมของสตรีอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง สิ่งที่แต่ละองค์กรนำเสนอมามีทั้งปัญหาเรื่องรัฐสวัสดิการ การแก้ไขความเท่าเทียม กลไกรัฐสภา เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (SDGs) และสิทธิในเนื้อตัวในร่างกายของผู้หญิง จึงเป็นโอกาสดีที่ได้มาอัพเดตประเด็นสังคมเกี่ยวกับผู้หญิงซึ่งมีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้น

ส่วนการจะนำเข้าสู่รัฐสภา ต้องมีการศึกษาให้รอบด้านว่ามีผลกระทบอย่างไร ทั้งในด้านดีและไม่ดี เพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมายหรือขับเคลื่อนต่อไป กระนั้นความสำคัญของการศึกษาและอภิปรายในสภาคือการสร้างความเข้าใจกับรัฐสภาและจะทำให้กฎหมายนั้น “ผ่านได้ด้วยความเข้าใจ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image