การต่อสู้ที่ ‘ถูกละเลย’ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ

การต่อสู้ที่ ‘ถูกละเลย’ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาจจะไม่ใช่ผู้หญิงที่มีชื่อเสียง แต่เรื่องราวของพวกเธอคล้ายกับผู้หญิงจำนวนมากที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และความเท่าเทียม บนประเทศไทยแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับความรุนแรงและการกดขี่ของผู้หญิงชาติพันธุ์ การต่อสู้เพื่องานที่ยุติธรรมสำหรับพนักงานบริการ การทำงานของผู้หญิงในการปกป้องชุมชนจากเหมืองแร่ หรือจะเป็นการต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อที่ดินทำกิน

ซึ่งหลายเรื่องราวปิดฉากลงได้อย่างน่าสะเทือนใจ ดังเรื่องราวของ “กำนันเตี้ย” กำนันหญิงนักพัฒนาชาวหนองคายที่ถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต คาดว่าเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ซึ่งกำนันหญิงได้เข้าไปช่วยรักษาผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน

สอดคล้องกับเวทีพูดคุย หัวข้อ “สถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่นักปกป้องสิทธิหญิงได้ออกมาแชร์ประสบการณ์บนเส้นทางการต่อสู้ของพวกเธอ

Advertisement

ดร.อันธิฌา แสงชัย จากห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (BUKU) เล่าว่า นักปกป้องสิทธิภาคใต้ ทำงานในหลายมิติ และต่อสู้มาแล้วถึง 16 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น บางช่วงที่ประชาธิปไตยเปิดออก ปัญหาในพื้นที่ได้รับการกล่าวถึง แต่หลังจากประชาธิปไตยไม่เต็มใบ การพูดถึงปัญหากลายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะประเด็นทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ชุมชนกลับถูกทำให้เป็นเรื่องของความมั่นคง นักปกป้องสิทธิ จึงได้รับการเยี่ยมเยียนจากฝ่ายความมั่นคงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเข้มข้นขึ้นมากในช่วง 6 ปีให้หลัง ทุกคนต้องทำงานภายใต้ความกดดันและความท้าทายที่สูงมาก

“สิ้นหวัง รู้สึกได้เลยว่าการทำงานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รู้สึกสูญเสียคุณค่า หลายคนส่งเสียงเลยว่าหมดไฟ ต้องการความช่วยเหลือและกำลังป่วย แต่ไม่มีใครกล้าที่จะพัก เพราะการทำงานในพื้นที่ มองเห็นปัญหาตลอด การพักจึงหมายถึงเราสบายในขณะที่สังคมยังเดือดร้อน เพราะฉะนั้นการกลับมาดูแลตัวเองจึงเป็นความรู้สึกขัดแย้งในใจ” ดร.อันธิฌากล่าว

ดร.อันธิฌา แสงชัย จากห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (BUKU)

ส่วน กัชกร ทวีศรี จากสมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่คนพิการต้องต่อสู้ในสังคมคือ “การไม่มีตัวตน” และวิธีคิดที่มองว่า ความพิการคือความอับอาย เป็นภาระ ทำให้หลายคนถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษา ต้องดิ้นรนหาความรู้ด้วยตัวเอง คนพิการในประเทศไทยมีร่วม 2 ล้านคน ร้อยละ 48 เป็นผู้หญิง กระนั้นมีเพียง 3 พันคนที่เรียนจบปริญญาตรี ขณะเดียวกันมีผู้ไม่ได้รับการศึกษาเลยถึง 4 หมื่นคน

Advertisement

แล้ว “เสียงของคนพิการอยู่ตรงไหน?” ทั้งในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมือง การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่แม้แต่ในมิติของแรงงานข้ามชาติ ความหลากหลายทางเพศ และอื่นๆ เรื่องของคนพิการก็ถูกพูดถึงน้อยมาก

“ดิฉันเคยถูกตีตราเมื่อไปเข้าร่วมงานหนึ่งว่า แต่งตัวสวยเพื่อต้องการมาหาสามี หรือในงานสัมมนาที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งหนึ่งจัดขึ้นและเจ้าหน้าที่เชิญให้ไปร่วมงาน กลับถูกฝ่ายบริหารของที่นั่นตำหนิว่าเชิญคนพิการมาทำไม รู้ไหมว่าทำให้เขาเสียหน้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังมองว่าคนพิการเป็นภาระ เป็นความอับอาย หลายครั้งเราเรียกร้องเรื่องพื้นที่สำหรับคนพิการ หลายหน่วยงานบอกว่าทำให้เขาไปซะ เขาจะได้สบาย ต้องบอกว่าเราไม่ได้ต้องการความสบายแต่เรียกร้องเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับมากกว่า” นักปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการเล่า

กัชกร ทวีศรี จากสมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่

ด้าน พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fority Rights กล่าวว่า ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนร่วม 5 พันคน จาก 20 ประเทศทั่วโลก และคำว่า “ผู้ลี้ภัย” เป็นสิ่งที่รัฐบาลกลัวมาก แต่ตามสถิติแล้วผู้ลี้ภัยน้อยมากที่ก่อคดีอาชญกรรม และในเอกสารระบุว่าพวกเขาเป็น “ผู้ขอรับการคุ้มครอง”

“รัฐบาลนี้มีความพยายามในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยแม่และเด็ก โดยทำเอ็มโอยูไม่กักกันเด็ก และให้แม่สามารถออกมาอยู่กับเด็กได้ แต่ภาระก็ยังตกที่ผู้หญิง เมื่อผู้เป็นพ่อไม่ผ่านการกักตัว ผู้หญิงต้องหางานทำและหาเงินเลี้ยงลูก ขณะเดียวกันล่าสุดรัฐบาลยังมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รับหน้าที่ในการดูแลผู้ลี้ภัย สิ่งที่น่าสนใจคือ สตช.เคยบอกว่าหน้าที่ของเขาคือการป้องปรามและจับกุม การเปลี่ยนบทบาทครั้งนี้จึงต้องติดตามต่อว่าจะมีทิศทางอย่างไรเมื่อนำมาปฏิบัติจริง” พุทธณีกล่าว

พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fority Rights (ขวา)

ปิดท้ายที่ สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ที่ต่อสู้เพื่อ “ที่อยู่อาศัย” มาอย่างยาวนาน เผยว่า งานที่คนรวยไม่ทำ คนจนนี่แหละทำ ผู้หญิงที่ทำงานกับสลัมสี่ภาค เป็นคนจนจริงๆ ที่ดินไม่มี เราจึงมีความหวังที่จะได้ฟังข่าวดี หลายโครงการของรัฐบาล การจะเข้าถึงได้ต้องมี สมุดบัญชีธนาคาร มีสลิปเงินเดือน มีผู้ค้ำประกันเป็นข้าราชการระดับสูง ถามว่าเราจะรู้จักไหม เรามีอาชีพเป็นวินมอเตอร์ไซค์จะเอาสลิปเงินเดือนมาจากไหน ก็กลายเป็นปัญหาวนอยู่แบบนี้ คนจนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิตรงนี้

สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค

จึงเกิดเป็นคำถามว่า โครงการของรัฐทำมาเพื่อใคร?

ผู้หญิงนักสู้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image