โควิด ทำท้อ แต่รอไม่ได้ หยาดเหงื่อของ ‘คนสู้’

โควิด ทำท้อ แต่รอไม่ได้ หยาดเหงื่อของ ‘คนสู้’

โควิด – ในห้วงเวลาที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด หนึ่งในวิธีป้องกันตัวเองที่เราทุกคนต่างกระทำ นั่นคือ “การสวมใส่หน้ากากอนามัย” ทำให้ทุกครั้งที่เดินสวนทางกันบนท้องถนน หรือในตรอกแคบๆ ก็แทบไม่ได้สังเกตเลยว่า เบื้องหลังใบหน้าที่ซ่อนอยู่หลังหน้ากากนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้ ดิ้นรน และเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อหยดแล้วหยดเล่า

จงรัก หมูขาว อายุ 44 ปี พนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร คือหนึ่งในประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเต็มๆ

เธอเล่าถึงความลำบากตั้งแต่การเดินทางมาทำงาน ด้วยอาศัยอยู่ย่านหลักสี่ แต่เขตที่เธอรับผิดชอบคือในส่วนของประชานิเวศน์ ปกติจะเดินทางมาทำงานด้วยรถเมล์ แต่ด้วยผลกระทบจากโควิด ตอนนี้สายที่เธอขึ้นประจำนั้นลดจำนวนเที่ยวลง ทำให้บางครั้งต้องนั่งแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ทันเวลาเข้างาน

“แค่เรื่องการเดินทางก็ต้องจ่ายมากกว่าปกติ จากจ่ายหลักสิบตอนนี้จ่ายหลักร้อยต่อวัน บางวันเหลือเงินแค่ 50 บาท ก็ต้องยอมจ่ายเพราะต้องมาทำงาน บางวันก็หยิบยืมเพื่อนจ่ายค่ารถ เพื่อให้ได้กลับถึงบ้าน วันไหนเพื่อนขับรถมาทำงาน ไปทางเดียวกัน ก็อาศัยกลับด้วยกัน” จงรักเล่าด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา และว่า

Advertisement

ทุกวันนี้เธอทำงานกับสามี ซึ่งเป็นพนักงานขนส่งขยะของกรุงเทพมหานคร เวลาได้เงินเดือนก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะมีหนี้สิน ที่ต้องหักจ่ายให้กับ กทม. พอได้เงินก้อนมารวมกัน ไว้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอม ก็หมดแล้ว เพราะฉะนั้นเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันจึงมาจากอาชีพเสริม

“ก่อนหน้านี้พอเลิกงาน จะไปเป็นแม่ค้ารถเข็นขายผลไม้ หาผลไม้ อย่างขนุนมาแกะขาย แต่ตอนนี้ขายไม่ได้เลย ไม่มีเงินหมุนด้วย คนไม่ค่อยมาซื้อด้วย ก็เลยต้องหยุดร้านไป ส่วนสามีเขาก็ทำอาชีพเก็บของเก่าขาย ตอนนี้ร้านรับซื้อของเก่าก็ปิด เพราะของที่เราเก็บมาก็มาจากขยะ ก็กังวลเรื่องความปลอดภัย”

“เงินไม่พอใช้หรอก เรียกว่าหากินไปวันๆ ประหยัดจนไม่รู้จะประหยัดยังไงแล้ว อีกหน่อยก็คืออาจจะต้องกินข้าวกับเกลือจริงๆ” จงรักกล่าวด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ

และเพราะร้านรับซื้อของเก่าทยอยปิดไป ก็ทำให้ราคารับซื้อของเก่าถูกลง แต่ราคาสินค้าจำเป็น แม้แต่สินค้ายอดฮิตสำหรับคนรายได้น้อย อย่างมาม่า ปลากระป๋อง ก็เพิ่มราคา จนแทบซื้อจะไม่ไหวแล้ว

“ตอนนี้พวกของอะไรก็แพงขึ้น ปลากระป๋องนี่กระป๋องละ 20 บาทแล้วนะ ส่วนมาม่าก็ห่อละ 7 บาทแล้ว” จงรักเผย และว่า

“ก็ถ้าวันไหนโชคดี ไปเก็บของเก่าแล้วเจอขวดน้ำหอมที่คนมีสตางค์ใช้กัน ขวดละ 4-5 พันบาท ก็จะโชคดี เพราะราคารับซื้อแพง ขวดนึงได้ประมาณ 2-3 ร้อยบาท”

จงรักเผยว่า กับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน ต้องยืมคนนู้นมาใช้ก่อนแล้วนำรายได้ไปจ่ายคืน

นอกจากนี้ เพราะเป็นพนักงานของกรุงเทพมหานคร มีประกันสังคม ฉะนั้นจึงไม่สามารถรับเงินเยียวยาได้ แต่รายได้ที่มีก็ไม่พอใช้ เมื่อต้องดูแลลูกอีก 2 คน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โรงเรียนขยายเวลาปิดเทอมเพิ่มขึ้น เมื่อลูกๆ อยู่บ้าน ก็ต้องมีค่ากินเพิ่มมากขึ้น

“เวลาลูกเห็นคนอื่นกินอะไร เขาก็อยากกินบ้าง เราจะไม่ให้เลยก็ไม่ได้ ก็ต้องหาให้เขาได้กินเหมือนคนอื่นๆ”

“เหนื่อยแต่ก็ต้องทน ต้องอยู่ให้ได้ คนอื่นอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้เหมือนกัน ที่สำคัญเรายังมีลูกๆ ที่ต้องดูแล” จงรักกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มสู้ชีวิต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image