ชีวิตหลัง ‘โควิด’ ส่อง 3 กลุ่ม นิว นอร์มอล เมื่อเชื้อไวรัสเปลี่ยนโลก

ชีวิตหลัง ‘โควิด’ ส่อง 3 กลุ่ม ‘นิว นอร์มอล’ เมื่อเชื้อไวรัสเปลี่ยนโลก

นิว นอร์มอล – การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปอย่างมากในหลายด้าน อาทิ สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยขึ้น อยู่บ้านและทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมไปถึงการเรียนและสอบออนไลน์

จนเกิดเป็นคำถามว่า “หลังจากที่โควิดหายไป โลกจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้หรือไม่”

กระทั่งหลายภาคส่วนก็ได้ออกมาตรการปรับตัวรับปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) หรือที่ราชบัณฑิตยสภาให้คำนิยามไว้ว่า

คือ “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” อันหมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติ และเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

Advertisement

กับเรื่องนี้ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า นิว นอร์มอล หรือความปกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมใหม่ของผู้คนในห้วงเวลานับต่อจากสถานการณ์โรคโควิด-19 นี้ไป แบ่งออกได้ในหลายมิติ

นิว นอร์มอล ‘กลุ่มคนทั่วไป’

สําหรับ “กลุ่มคนทั่วไป” จะให้ความสำคัญกับ “การรักษาสุขอนามัย” เป็นส่วนมาก ด้วยเป็นช่องทางในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ดังนี้

1.เดินทางน้อยลง อยู่กับบ้านมากขึ้น เพราะการอยู่บ้านนอกจากช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลายคนได้เริ่มทำงานจากบ้าน (Work From Home : WFH) ตามนโยบายของรัฐบาล พบว่าสามารถปรับตัวได้ แถมยังช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้ถึงร้อยละ 40-60 ขณะเดียวกันผู้คนก็ช้อปปิ้งออนไลน์เก่งขึ้นด้วย

2.ใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างระหว่างกัน หรือ Social Distancing เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ในทางเดินหายใจ แพร่เชื้อโดยการไอหรือจาม ที่มีรัศมีการกระจายประมาณ 1-2 เมตร หากมีการไอจามใส่กันในระยะ 1 เมตร ก็จะมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง แต่หากอยู่ห่างกันประมาณ 2 เมตร เชื้อไวรัสก็จะตกลงสู่พื้นหรือสิ่งของเบื้องล่าง และโอกาสติดเชื้อโดยตรงจะลดลง แต่จะเกิดการติดเชื้อจากการที่มือไปสัมผัสเชื้อโรคที่ตกอยู่และมาสัมผัสปาก จมูก และตา ทำให้ติดเชื้อได้

3.หน้ากากอนามัยจะกลายเป็นแฟชั่น ที่ทุกคนจะสวมใส่เวลาออกนอกบ้าน มีการออกแบบลวดลายสวยงาม โดยเฉพาะ “หน้ากากผ้า” ที่เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีเชื้อไวรัส ซึ่งช่วยป้องกันทั้งการแพร่เชื้อและรับเชื้อ ส่วนหน้ากากอนามัยแบบ Surgical มีความจำเป็นสำหรับคน 4 กลุ่ม คือ 1.แพทย์ที่ต้องผ่าตัด 2.แพทย์ที่ตรวจอยู่ด่านหน้ากับผู้ป่วย 3.ผู้ป่วยโควิด-19 และ 4.คนที่มีความเสี่ยง อาทิ คนสูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

4.ผู้คนจะเลี่ยงการสัมผัส และล้างมือบ่อยขึ้นก่อนและหลังทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยสบู่และน้ำเปล่า การล้างมืออย่างถูกวิธี จะช่วยฆ่าเชื้อโรคและชะล้างออกไปได้ดีที่สุด แต่หากอยู่นอกบ้านสามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทดแทนได้

นิว นอร์มอล ‘การศึกษา’

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ ยังเผยถึงนิว นอร์มอล ใน “ด้านการศึกษา” ที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ทั้งครูผู้สอน สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงผู้ปกครองต้องเตรียมปรับตัวไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ด้าน “กระบวนการเรียนการสอน” ระบบการศึกษาแบบออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ซึ่งการสอบประเมินผลการเรียนก็จะเปลี่ยนไป โดยเก็บคะแนนประเมินผลเป็น 3 ระยะ คือก่อนเรียนอ่านบทเรียนล่วงหน้าและเขียนบทสรุป (Assignment) ระหว่างเรียนประเมินจากการให้ความร่วมมือในการถาม-ตอบคำถาม (Class participation) และหลังเรียนให้ส่งรายงานสิ่งที่ได้เรียนรู้ (Reflection) ทั้งหมดนี้จะเป็นคะแนนส่วนใหญ่ อาจคิดเป็นคะแนนร้อยละ 70-80 ส่วนสอบออนไลน์จะเป็นส่วนน้อย คิดเป็นร้อยละ 20-30 เท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับการเก็บคะแนนในอดีตก่อนเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19

มากไปกว่านั้นในอนาคตอาจจะมี “การจัดตั้งสนามสอบแบบวอล์ก อิน” คือจัดสถานที่สอบโดยวางโต๊ะสอบไว้ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ข้อสอบคนละชุด มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี เช่น เปิดพัดลมไปในทิศทางเดียวกัน มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งผู้เรียนจะเลือกสถานที่สอบแล้วเดินทางไปสอบ สอบเสร็จก็กลับได้เลย ลดการพบปะคนหมู่มาก

สำหรับ “อาจารย์ผู้สอน” ชั่วโมงเรียนจะกลายเป็นการถาม-ตอบ ไม่มีการบรรยายหรือมีการบรรยายน้อยมาก คล้ายคลึงกับแนวการเรียนการสอนของฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน เพราะผู้เรียนสามารถไปศึกษาบทเรียนออนไลน์ซึ่งผู้สอนจัดทำไว้ให้ล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนจึงจะปรับเปลี่ยนจาก Teacher ไปเป็น Coach ที่คอยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการตั้งคำถามมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องอัพเดตอุปกรณ์และความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เช่น การทำบทเรียนออนไลน์และ VDO Conference เพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge Management)

ส่วน “นักเรียนนักศึกษา” จะมีความสามารถเรียนออนไลน์ด้วยตนเองเก่งขึ้น ที่จำเป็นต้องฝึกฝนคือทักษะการอ่านเร็ว (Speed Reading) ทั้งยังได้ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่ที่สำคัญคือต้องมีความใฝ่รู้ และมีวินัยในตัวเอง เพราะการขยันหมั่นเพียรสะสมความรู้ทีละเล็กทีละน้อย และสม่ำเสมอ จะทำให้การเรียนรู้ได้ผลดี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรต้องมีมาตรการลดช่องว่าง ในการเข้าถึงเทคโนโลยีของนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและขาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน “ผู้ปกครอง” มีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนออนไลน์ให้กับลูกๆ รวมไปถึงกำกับดูแลด้านการเรียน ฝึกสอนเรื่องการมีวินัย ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กผู้ปกครองอาจจะต้องนั่งเรียนด้วย หรือสอนหนังสือลูกน้อยด้วยตัวเอง หรือ Learn at home ไปพร้อมลูก

“สถานศึกษา” ต้องปรับตัวให้พร้อมกับระบบการศึกษาออนไลน์ ที่อาจารย์และนักศึกษาเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งระบบเน็ตเวิร์ก อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่มีสิทธิบัตรรองรับ มีความปลอดภัยมาสนับสนุน รวมถึงจัดอบรมบุคลากร อาทิ โปรแกรมสอนออนไลน์ อินเตอร์เน็ต Wi-Fi พื้นที่ฮาร์ดดิสก์เพื่อจัดเก็บข้อมูลและมัลติมีเดียการเรียนการสอนของอาจารย์ และโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น

“ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนได้กลายไปเป็นหลักสูตรออนไลน์ไปโดยปริยาย (Full Online) คิดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80-90 ส่วนอีกร้อยละ 10-20 ก็จะเป็นการมาเจอหน้ากันเพื่อฝึกฝีมือ เช่น การผสมสาร การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งต่อไปหลักสูตรปริญญาอาจจะไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะทุกคนจะมุ่งเรียนเพื่อใช้งาน หลักสูตรระยะสั้นที่เป็น Just in time คือหลักสูตรที่เรียนเพื่อใช้งานเฉพาะหน้า จะเป็นที่ต้องการในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ส่วนหลักสูตรแบบ Just in case ที่ต้องเรียน 4 ปีกว่าจะได้ใช้ก็อาจจะไม่เป็นที่นิยม ฉะนั้นนิว นอร์มอล คือหลักสูตรแบบ Very short-term courses ดูคลิป 3-4 นาที ทำเองได้ หรือหลักสูตรระยะสั้น 10-30 ชั่วโมง มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะมีหลักสูตรออนไลน์มากขึ้น และโกอินเตอร์มากขึ้นด้วย” ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้กล่าว

 นิว นอร์มอล ‘ธุรกิจ’

นอกจากนี้ยังมี นิว นอร์มอล ในมิติอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจด้านไอทีจะเฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงหุ่นยนต์ และเทคโนโลยี Automate ที่ทุกบ้านจะมีหุ่นยนต์ใช้งาน อาทิ หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น หุ่นยนต์ขนของ ขณะที่หลายธุรกิจต้องปรับตัว เช่น ธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ (Catering) หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์ หนังสือกระดาษจะขายได้น้อยลง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะนิยมมากยิ่งขึ้น หลายโรงงานจะใช้เครื่องจักรมากขึ้น ใช้คนน้อยลง และผู้คนจะติดต่อสื่อสารแบบซึ่งหน้าน้อยลง เปลี่ยนเป็นการติดต่อผ่าน VDO Conference มากขึ้นด้วย

รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย

 

ฐานวิถีชีวิตใหม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image