รู้จัก 5 พฤติกรรมคุกคามทางเพศ ปมฉะเดือด! ‘บุ๋ม-เอ๋’

พฤติกรรมคุกคามทางเพศ
พฤติกรรมคุกคามทางเพศ

รู้จัก 5 พฤติกรรมคุกคามทางเพศ ปมฉะเดือด! ‘บุ๋ม-เอ๋’

พฤติกรรมคุกคามทางเพศ – ทําเอาสังคมเริ่มสนใจคำว่า “การคุกคามทางเพศ” จากการฟาดฟันทางความคิดระหว่าง “บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” และ “เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ จากจุดเริ่มต้นโพสต์อินสตาแกรม “การคุกคามทางเพศ กำลังจะเป็นกฎหมายจริงจัง จะไม่แค่เป็นการลงบันทึกประจำวันอีกต่อไป”

ไม่เพียงสนใจ สังคมยังเอาไปขบคิดต่อ เทียบพฤติกรรมบางอย่าง ว่าไม่น่าเข้าข่ายคุกคามทางเพศ จนเกิดเป็นแฮชแท็ก “#มองนมไม่ผิด”

จะด้วยความไม่รู้ ความเคยชิน แต่พฤติกรรมเหล่านี้ถูกระบุในกฎหมายแล้ว และกำลังจะเป็นความผิดในกฎหมายอาญา ตามที่ คณะอนุกรรมาธิการศึกษากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ความเห็นอีกด้วย

บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี
เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์

นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เล่าว่า การคุกคามทางเพศคือการกระทำเกี่ยวกับเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่ต้องการและมีความเดือดร้อนรำคาญ อึดอัด อับอาย ดูถูกเหยียดหยาม ถือว่าเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในสังคม สามารถนำไปสู่การข่มขืนได้

Advertisement

อธิบดี สค.ยก 5 พฤติกรรมที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศ เริ่มที่ 1.การกระทำทางสายตา เช่น การจ้องมองร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ มองหน้าอกหรือจ้องลงไปที่คอเสื้อ จนทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัด อับอาย หรือไม่สบายใจ เป็นต้น

2.การกระทำด้วยวาจา เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง ทรวดทรง การแต่งกายที่ส่อไปทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำ ไม่พึงประสงค์และไม่ต้องการการพูดเรื่องตลกเกี่ยวกับเพศ การพูดจาแทะโลม การพูดจาลามก รวมถึงการโทรศัพท์ลามก

3.การกระทำทางกาย เช่น การสัมผัสร่างกายของผู้อื่น การลูบคลำ การฉวยโอกาสกอดรัด จูบ การหยอกล้อโดยแตะเนื้อต้องตัว การสัมผัสทางกายอื่นใดที่ไม่น่าพึงประสงค์ รวมถึงการตามตื้อโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เล่นด้วย

4.การกระทำที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น ผลการเรียน การเลื่อนตำแหน่ง หากผู้ถูกล่วงละเมิด หรือผู้ถูกคุกคามยอมมีเพศสัมพันธ์ หรือการข่มขู่ให้เกิดผลลบต่อการจ้างงาน

5.การกระทำอื่นๆ เช่น การแสดงรูปภาพ วัตถุ และข้อความที่เกี่ยวข้องกับเพศ ในที่ทำงานและในคอมพิวเตอร์ของตน หรือการโชว์ปฏิทินโป๊ การเขียนหรือวาดภาพทางเพศในที่สาธารณะ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงเรื่องเพศทางอินเตอร์เน็ต เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น

“สิ่งที่ควรกระทำเมื่อถูกคุกคามทางเพศ คือ ให้แสดงออกทันทีว่าไม่พอใจ เช่น ส่งเสียงร้องเพื่อให้ผู้กระทำหยุดการกระทำ และเรียกผู้อื่นให้ช่วย หรือถอยห่างจากเหตุการณ์นั้น และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการบันทึกเสียง หรือถ่ายวิดีโอคลิป หรือบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น โดยจดบันทึกวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชื่อของพยาน หรือบุคคลที่สามซึ่งถูกกล่าวถึง หรืออยู่ในเหตุการณ์ แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้บุคคลที่ไว้ใจทราบทันที และในกรณีผู้ถูกกระทำอาย กลัว อาจมอบอำนาจให้เพื่อนมาแจ้งความเอาผิดแทน หรือร้องขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง”

นางสาวอุษณี กังวารจิตต์

แม้ข้อเสนอให้มีในกฎหมายอาญายังอีกไกล แต่ปัจจุบันก็พอมีกลไกที่ใช้ได้ คือ มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อเร็วๆ นี้ ภายในระบุถึง 12 มาตรการ ตั้งแต่การให้หน่วยงานประกาศเจตนารมณ์ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน การให้มีแนวปฏิบัติเมื่อเกิดการคุกคามทางเพศ ตั้งแต่กลไกรับเรื่องร้องเรียน การตั้งผู้มีอำนาจเหนือกว่าผู้กระทำในคณะกรรมการสอบสวน การคุ้มครองผู้เสียหายและพยาน และรายงานผลดำเนินการไปยัง ศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) ซึ่งดำเนินโดย สค.ทุกปี

เป็นความเอาจริงเอาจัง คุกคามทางเพศต้องไม่มีในการทำงาน

“คนมักโฟกัสว่ามาตรการดังกล่าว ต้องเป็นเรื่องที่เกิดในที่ทำงานเท่านั้น แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่เกิดที่ไหนก็ได้ เพียงเน้นสถานะ เช่น หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ผู้มาใช้บริการ หากมีการคุกคามทางเพศ ก็ถือว่าผิดตามมาตรการนี้หมด ซึ่งผู้ถูกกระทำสามารถร้องตามกลไกขององค์กรที่จะมีจากนี้ หรือหากสามารถใช้กลไกภายนอก เช่น ร้องมาที่ ศปคพ., คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เพราะการคุกคามทางเพศก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศโดยไม่เป็นธรรม ซึ่ง วลพ.ก็จะมาดูคำร้องว่าตรงหรือไม่ หากไม่ตรง แต่มีผลกระทบเชิงนโยบาย ก็จะส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการปรับแก้ไขนโยบายและระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ หรือร้องตามกระบวนการปกครอง เช่น ศาลปกครอง ศาลอาญา เป็นต้น

คุกคามทางเพศ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ขำขันอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image