พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศฯ ประตูบานแรก แห่งความ ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’

พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศฯ ประตูบานแรก แห่งความ ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’

พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศ – หลายคนอาจเคยเสียใจในโชคชะตา ที่เกิดมาเป็นคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) หรือผู้หญิง เพราะจะทำอะไรก็ติดๆ ขัดๆ มีอุปสรรคไปหมด เพราะเหตุแห่งเพศ อาจต้องทุกข์ทนในอดีต แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน ที่มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558

เนื้อหาสาระหลัก คือ การรับรองคนทุกเพศ ว่าจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะการสมัครเรียน สมัครงาน แต่งกาย ตลอดจนการใช้ชีวิตต่างๆ จนถูกยกให้เป็นประตูบานแรก สร้างความเสมอภาคในสังคม

บัดนี้บังคับใช้มากว่า 5 ปี แต่จะถือเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่ ถูกหยิบยกมาพูดคุยในเวทีอภิปราย รวมพลังสู่ทางเลือก-ทางรอดของทุกเพศสภาพ : Gender Co-Solutions EP.2 “ทบทวน ปรับปรุงพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558” จัดโดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ และภาคเครือข่าย ณ ห้องลีลาวดี โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ

แม้จะเป็นบันไดขั้นแรกของความเท่าเทียม แต่ก็ถูกโจมตีอย่างหนัก ภายในงานทั้งคนในและคนนอก สะท้อนพุ่งเป้าไปที่ “ปัญหา” และ “อุปสรรค” พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ ก่อนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีการทบทวนปรับปรุงแก้ไข

Advertisement

ตั้งแต่การสร้างความรับรู้ต่อสังคมไม่ทั่วถึง จึงเป็นกฎหมายที่ประชาชนไม่ค่อยรู้จัก ทำให้คนยังถูกเลือกปฏิบัติ ส่วนคนที่รู้จักและยื่นคำร้องถูกเลือกปฏิบัติเข้ามา ที่คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (วลพ.) ก็พบปัญหาตั้งแต่การเขียนคำร้องที่เป็นเรื่องยากและซับซ้อน กระบวนการไต่สวนและวินิจฉัยที่ยืดยาวไม่รู้จบ ส่วนบางเคสที่คณะกรรมการ วลพ.วินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่จบง่ายๆ เนื่องจากมีการยื่นศาลปกครองเพื่ออุทธรณ์คำวินิจฉัยของ วลพ.อีกที จนเอ็นจีโอบางคนยกให้เป็น 5 ปีแห่งความล้มเหลว

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายฯ เผยว่า สถาบันได้เก็บข้อมูลจากการปฏิบัติงานจริงต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวในเวลา 2 ปี พบว่า ผู้ถูกเลือกปฏิบัติบางส่วน ไม่กล้ามาร้องคณะกรรมการ วลพ. เพราะเกรงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ผู้กระทำซึ่งเป็นทั้งตัวบุคคลและองค์กร สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้ร้องจนเดือดร้อนได้ ฉะนั้นอยากให้คณะกรรมการ วลพ.มีอำนาจเชิงรุก สามารถหยิบยกเรื่องการเลือกปฏิบัติมาไต่สวนและวินิจฉัยได้เอง ไม่ต้องรอให้มายื่นคำร้องก่อนอย่างในปัจจุบัน

“คณะกรรมการ วลพ.ปัจจุบัน ไม่มีเวลาเพียงพอ ในการไต่สวน สอบสวนหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยคำร้อง เพราะทำงานจากการประชุม ฉะนั้นอยากให้คณะกรรมการ วลพ. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งทำงานเต็มเวลา เพื่อให้การดำเนินการฟ้องร้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

Advertisement
เรืองรวี พิชัยกุล

ส่วน กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เห็นพ้อง โดยยกตัวอย่างกลุ่ม LGBTQ มาร้องขอความช่วยเหลือกับสมาคม 1 ปี มากกว่าจำนวนคำร้องร้องกับคณะกรรมการ วลพ.ที่มีมา 5 ปีอีก เพราะสมาคมจัดให้ร้องง่าย สะดวก และมีการติดตามช่วยเหลืออย่างแท้จริง จึงเสนอให้การเขียนคำร้องของคณะกรรมการ วลพ.จากนี้ ต้องทำให้ง่ายขึ้น มีช่องทางรับได้เยอะขึ้น ด้วยการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั่วประเทศ มีบทบาทหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัยได้ด้วย เพื่อให้มีคำร้องเรียนเข้ามามากๆ และสามารถช่วยกันสร้างความรับรู้ได้ทางหนึ่ง

กิตตินันท์ ธรมธัช

สอดคล้องกับ ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ อดีตกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) มองว่า สาเหตุที่คนไม่รู้จักกฎหมายนี้ เพราะทำงานกระจุกแต่ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายไปภูมิภาค ทำให้ตามภูมิภาคยังมีการเลือกปฏิบัติเยอะมาก

“อย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องความรุนแรงสามีต่อภรรยา และการเลือกปฏิบัติทางเพศมาก แต่ไม่มีใครกล้ามาร้อง ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่รู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครอง เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำอะไรในพื้นที่เลย ยิ่งแต่งงานไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทย แต่ทำพิธีนิกะห์กับอิหม่าม ซึ่งมีแต่ผู้ชาย มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ เวลาจะร้องว่าถูกสามีกระทำความรุนแรง ต้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ก็มักมองปัญหาแบบแนวคิดชายเป็นใหญ่ ฉะนั้นก็อยากให้มีกลไก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ ที่สามารถดูแลคนทุกกลุ่มได้” ปาตีเมาะกล่าว

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ

ด้านคนในกฎหมายความเท่าเทียม ก็สะท้อนความอึดอัดที่อยากให้แก้ไข โดยเฉพาะประเด็นเจออุปสรรค “พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ ชน พ.ร.บ.ที่ยังเลือกปฏิบัติทางเพศ” ซึ่งศักดิ์และสิทธิทางกฎหมายเท่ากัน

ปรีชา ปลื้มจิตต์ ประธานคณะกรรมการ วลพ. เผยว่า อยากให้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ นิยามบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจและตีความของเจ้าหน้าที่ เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และป้องกันการตีความเพี้ยน รวมถึงอยากให้นำ พ.ร.บ.นี้ไปกางให้หน่วยงานที่ดูแลการออกกฎหมายได้รับรู้ เนื่องจากปัจจุบันมี พ.ร.บ.หลายฉบับที่ยังเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ เพื่อจะไม่เกิดคำถามว่าแล้วยังไงต่อ และต้องไปสู้กันที่ศาลปกครอง อย่างที่ประสบในขณะนี้

ปรีชา ปลื้มจิตต์

ด้านหน่วยงานที่กำกับดูแล พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ เตรียมเดินหน้าศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปี 2564

วิจิตรา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรม สค. และผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) เผยว่า 5 ปีที่ผ่านมา อาจมีการขับเคลื่อนที่ล่าช้าไปบ้าง แต่เราก็พยายามปรับปรุงแก้ไขตลอดเวลา อย่างล่าสุดที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธาน สทพ. ได้สั่งการให้แก้ไขระเบียบ เพื่อจะแก้ไขความล่าช้าการไต่สวนและวินิจฉัย ให้เหลือภายใน 96 วัน นับจากวันยื่นคำร้อง และพยายามให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการเรียกประชุมคณะกรรมการ สทพ.มากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการ สทพ. และ สค.เราจะรับข้อเสนอเหล่านี้มา และเตรียมประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ ต่อไป

วิจิตรา รชตะนันทิกุล

ก้าวต่อไป เท่าเทียมทางเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image