น้ำเมาเปลี่ยนนิสัย สาดซ้ำความรุนแรงในครอบครัว รากลึก ‘ทุกข์’ ผู้หญิง

น้ำเมาเปลี่ยนนิสัย สาดซ้ำความรุนแรงในครอบครัว รากลึก ‘ทุกข์’ ผู้หญิง

น้ำเมาเปลี่ยนนิสัย – น่วม คือคำอธิบายชีวิตของ 2 ผู้หญิงไทยที่รับบทบาทเป็นทั้ง “แม่” ของลูกๆ และเป็น “ภรรยา” ที่สามีมองว่าเป็น “สมบัติ” ของตัวเอง พวกเธอต่อสู้กับการเป็นที่รองรับอารมณ์ของสามี ซึ่งถูกกดทับด้วยมายาคติแบบชายเป็นใหญ่ หลายต่อหลายครั้งถูกทำร้ายร่างกาย

หลังจากสามีเปลี่ยนไป เพราะมัวเมาในฤทธิ์ “น้ำเปลี่ยนนิสัย”

“เราไม่ใช่คนที่ทนต่อความเจ็บปวด” หนึ่งในสองสาวกล่าว ก่อนจะพูดด้วยน้ำเสียงขมขื่นว่า “แต่ก็ต้องทนเพราะลูก”

ทว่าในวันที่ทนไม่ไหว หญิงแกร่งทั้ง 2 ตัดสินใจหยัดยืนออกมาตีแผ่ความทุกข์ ด้วยหวังว่าเรื่องราวชีวิตของพวกเธอจะสร้างความตระหนักแก่สังคมได้ว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นหนึ่งในปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิด “ความรุนแรงในครอบครัว” ผ่านเวทีเสวนา “แม่…ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย” โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ เดอะฮอลล์ บางกอก

Advertisement

น.ส.เอ (นามสมมุติ) วัย 47 ปี เล่าว่า แต่ก่อนสามีไม่ดื่มเหล้านิสัยดีมาก ช่วยเหลือครอบครัวจนกระทั่งกลับไปอยู่บ้านเกิดระยะหนึ่ง เจอกับสังคมรอบตัวที่ดื่มเหล้าทุกวันจึงเริ่มดื่มและมีอารมณ์ร้อน ชอบทำร้ายร่างกาย โมโหง่าย จนเธอต้องหอบลูกหนีเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นพนักงานเย็บผ้าในโรงงานแห่งหนึ่ง สามีก็ตามมา ทุกวันใช้ชีวิตแบบอกสั่นขวัญแขวน กินข้าวในบ้านก็ห้ามเปิดไฟ เพราะสามีชอบอยู่ที่มืด ต้องงมกินแบบมองไม่ชัด ช้อนกระทบจานเกิดเสียงก็โมโห บางวันขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านยังไม่ทันได้จอดรถ เสียงด่าก็ลอยมาแล้ว

“ที่ทุกข์อยู่แล้วก็ยิ่งทุกข์อีก หลังมีโควิดเพราะโรงงานก็ลดงาน เงินไม่มี บางวันต้องเอาข้าวบูดที่เหลือจากโรงงานมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วก็เอามาอุ่น หรือต้มใส่เกลือให้ครอบครัวได้ทาน”

“ลูกพูดกับเราตลอดว่า แม่..เราหนีไปอยู่ที่อื่นไหม เราก็บอกลูกว่าไม่มีทางไป เงินก็ไม่มี” น.ส.เอเล่าเสียงสั่นและยอมรับว่ามีหลายครั้งที่คิดจะจบชีวิตนี้ไปอย่างเงียบๆ แต่เมื่อหันหลังมามองลูกสาวก็ทำไม่ได้ ห่วงว่าจากไปแล้วลูกจะอยู่อย่างไร

Advertisement

“ครั้งหนึ่งสามีเมาเหล้าแล้วทุบตีตามปกติ จากนั้นเอาเข็มขัดมารัดคอลากไปมาจนเราสลบไปไม่รู้ตัว ลูกก็นอนอยู่บนอก จำได้ว่าตื่นมาเพราะได้ยินเสียงลูกร้อง เขาร้องไห้ดังมาก พอลืมตามาก็เจอคนมุงเต็มเลย ทุกคนคิดว่าเราตายไปแล้วตอนนั้น” พนักงานโรงงานเล่า

ขณะเดียวกัน น.ส.บี (นามสมมุติ) วัย 46 ปี อีกหนึ่งผู้หญิงที่มาสะท้อน “ชีวิต” ที่เธอบอกว่า “ไม่ต่างกับละคร”

บีจบปริญญาโท ม.ศิลปากร เป็นล่ามอาสาสมัคร เล่าว่า เธอพาสามีและลูกเดินทางกลับมาใช้ชีวิตด้วยกันในประเทศไทยได้ปีกว่า สามีเป็นแฟมิลี่แมนที่ดีมาก รักลูกมาก ทว่าขณะที่ครอบครัวมีแพลนทำธุรกิจก็ต้องชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านเข้ามา ประกอบกับสามีซึ่งปกติชอบเข้าสังคมและทำกิจกรรมอยู่ตลอด ต้องกักตัวอยู่บ้านจึงเกิดความเครียด พอหลังคลายล็อกจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็เริ่มไปดื่มเหล้า สังสรรค์กับเพื่อน เมากลับมาก็ทำร้ายร่างกายเธอต่อหน้าลูก ทั้งยังใช้คำพูดหยาบคายทำร้ายจิตใจ ส่งผลให้ลูกชายวัย 9 ขวบ ที่เป็นเด็กร่าเริง ซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงจากพ่อ เวลาไม่พอใจจะโมโห กระแทกประตู ขยำกระดาษ ชอบนั่งคนเดียวไม่คุยกับใคร เธอจึงตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีทำร้ายร่างกายกับสามีของเธอ

“เราไม่ใช่คนเสพติดความเจ็บปวด บางครั้งอาจจะทนได้ แต่ความรู้สึกสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเรารักลูก ในฐานะแม่ เราต้องลุกขึ้นทำอะไรบางอย่างเพื่อลูก อย่าให้ลูกต้องซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงมากขึ้น เพราะพฤติกรรมเด็กยังปรับเปลี่ยนได้ เราต้องลุกขึ้นสู้ด้วยปัญญาไม่ใช่การใช้กำลัง จึงแจ้งความดำเนินคดีทำร้ายร่างกายกับสามี แม้จะเจ็บปวดหรืออาย แต่การที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาไม่ใช่เรื่องธรรมดา ก็ต้องขอให้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาคุ้มครองจากการถูกทำร้าย” น.ส.บีกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง


‘ความรุนแรงผู้หญิง’ พุ่ง!

มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล เปิดผลสำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัว รอบครึ่งปีแรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน โดยการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ พบว่า มีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว 350 ข่าว เมื่อเทียบกับข่าวความรุนแรงในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 สูงขึ้นร้อยละ 50 และสูงขึ้นกว่าปี 2561 ร้อยละ 12 ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามประเภทความรุนแรง อันดับ 1 ยังคงเป็นข่าวการฆ่ากันในครอบครัว 201 ข่าว ร้อยละ 57.4 เป็นสามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว โดยมีมูลเหตุหลายปัจจัย ทั้งหึงหวง ขัดแย้งเรื่องเงิน-ธุรกิจ โมโหที่ขัดใจ

รวมไปถึงดื่มเหล้าและเสพยาเสพติด ซึ่ง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดข่าวความรุนแรงอยู่ในอันดับ 2 จำนวน 74 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 21.2 ตามด้วยข่าวการทำร้ายกัน 51 ข่าว ร้อยละ 14.6 การฆ่าตัวตาย 98 ข่าว ร้อยละ 10.9 ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว 31 ข่าว ร้อยละ 8.9 โดยในจำนวนนี้มี 30 ข่าวเป็นข่าวข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัว และตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว ร้อยละ 2.9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image