ถอดรหัสข่มขืนรุมโทรมเด็ก จากบ้านเกาะแรดถึงมุกดาหาร ถึงเวลาปลุกพลัง ‘เหยื่อ’ ลุกขึ้นสู้!

ศึกนางงาม สงครามความคิด ข่มขืน คุกคาม ‘โทษทัณฑ์’ ที่ยังต้องถกเถียง

ถอดรหัสข่มขืนรุมโทรมเด็ก จากบ้านเกาะแรดถึงมุกดาหาร ถึงเวลาปลุกพลัง ‘เหยื่อ’ ลุกขึ้นสู้!

เป็นเหตุการณ์ที่สังคมพากันโจษจันกับเหตุการณ์ 5 ครู 2 ศิษย์เก่า “ข่มขืน รุมโทรม” 2 นักเรียนหญิง เมื่อประมาณ 3-4 เดือนก่อน เหตุเกิดบริเวณโรงเรียนดงมอนวิทยาคม ต.ดงมอน อ.เมือง จ.มุกดาหาร

ท่ามกลางฝุ่นตลบทางความคิดของสังคม ที่กลุ่มครูบางส่วนก็ออกมาปกป้องกันเอง! ความบอบช้ำยังได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยมีรูปแบบเดิม คือ คนใกล้ชิดเป็นผู้กระทำ เหยื่อเป็นเด็ก ไม่มีเสียงไม่มีอำนาจ อย่างเหตุการณ์ญาติ 7 คน รุมข่มขืนเด็กหญิง ป.6 ที่ จ.สุพรรณบุรี นานกว่า 2 ปี

เป็นปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิด ที่เพียงให้คำเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ คงไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เธอและเครือข่ายจึงเสนอตัวขอร่วมแก้ปัญหาเชิงรุกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกลุ่มของ ทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ซึ่งได้นำเครือข่ายเข้ายื่นข้อเสนอต่อ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัมฒาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จนนำมาซึ่งการตั้ง “คณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง และการละเมิด ทางเพศ ต่อเด็ก และเยาวชน” และเป็นที่มาของงานเปิด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างพลัง EMPOWERMENT สำหรับนักวิชาชีพ” รุ่นแรก จำนวน 45 คน ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

นายจุติ รมว.พม. กล่าวในงานว่า โครงการนี้ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม ในการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ให้ลุกขึ้นสู้ เปลี่ยนสถานะจากเหยื่อ เป็นพยานในกระบวนการยุติธรรม และเป็นผู้ปกป้องผู้เสียหายคนอื่นๆ ผมนับถือน้ำใจเหยื่อที่เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ปกป้อง ที่กล้าลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ นอกจากการอบรมพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ก็อยากฝากให้ภาคประชาสังคม มาร่วมออกแบบระบบทำงานของบ้านพักเด็กและครอบครัวให้เข้มแข็ง เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อได้ครบทุกมิติมากขึ้นและเป็นการดำเนินงานที่ยั่งยืน

Advertisement

ด้าน นางทิชา หนึ่งในคณะทำงาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ทั้งออกแบบหลักสูตรอบรมนักวิชาชีพในบ้านพักเด็ก ก็ยังรับเป็นวิทยากรอีกด้วย เธอเล่าว่า นี่จะเป็นก้าวสำคัญของการทำงานข้ามศาสตร์ เพราะอย่างแรกเราต้องนึกถึงเหยื่อก่อน ว่าเขาเป็นเด็กที่ไม่มีแรงต่อสู้ แน่นอนการไม่เสริมพลังให้เขา หรือเอ็มเพาเวอร์ แล้วให้เขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย หรือเรียกว่าขั้นตอนการสืบพยาน เด็กยังมีความอับอายอยู่ ยิ่งเหตุการณ์ที่เด็กประสบเป็นข่าวใหญ่ไปทั้งประเทศ เธอก็จะยิ่งอับอายมากเท่านั้น ถ้าปล่อยให้ขึ้นศาลไปอย่างนี้ คำพูดของเด็กที่ถูกกระทำจะไม่ใช่ประจักษ์พยานสำคัญในคดี

ทิชาเล่าอีกว่า กลับกัน หากลองเอ็มเพาเวอร์ให้เด็กก่อน ด้วยกระบวนการที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็จะได้เหยื่อที่ฮึกเฮิม กลายเป็นพยานที่กล้าลุกขึ้นเรียกร้องเอาผิดผู้กระทำ แม้ระหว่างอาจต้องเสียน้ำตาบ้าง แต่ปลายทางที่ได้เห็นว่าผู้กระทำถูกลงโทษด้วยกระบวนการยุติธรรม วันนั้นเขาเสมือนได้ศักดิ์ศรีคืนกลับมา

“จากเคสที่เราเข้าไปเอ็มเพาเวอร์เหยื่อค้ากาม จ.แม่ฮ่องสอน และเหยื่อเกาะแรด จ.พังงา ได้เปลี่ยนจากเหยื่อเป็นพยาน กล้าลุกขึ้นสู้คดีในชั้นศาล จนในวันที่ศาลตัดสินจำคุกผู้กระทำ อย่างที่แม่ฮ่องสอน จำคุกตำรวจที่คอยส่งเด็กค้ากาม 300 กว่าปี เห็นได้ชัดเจนเลยว่าผู้เสียหายเขารู้สึกว่าได้ฟื้นคืนศักดิ์ศรี เขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้รอดแล้ว และหลายคนเข้มแข็งจนมาเป็นผู้ปกป้องเหยื่อรายอื่นๆ อย่างเคสน้องที่บ้านเกาะแรด เธอเขียนจดหมายให้กำลังนักเรียนหญิง จ.มุกดาหาร จนตอนนี้มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง และพร้อมจะเป็นพยานในคดี” ทิชากล่าวด้วยสีหน้ามีความหวัง

Advertisement

ภายในงานได้เชิญแม่เด็กหญิงเหยื่อรุมโทรมบ้านเกาะแรด มาถ่ายทอดประสบการณ์สำคัญ ภายหลังศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 11 เพื่อนบ้าน ตั้งแต่จำคุก 15 ปี จนถึงจำคุกตลอดชีวิต เธอให้คีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ต้องสู้ไว้ก่อน ไหวไม่ไหวไปตายเอาดาบหน้า”

นางเอ (นามสมมุติ) มารดาของเด็กผู้เสียหายคดีบ้านเกาะแรด จ.พังงา เล่าทั้งน้ำตาว่า ตอนที่ลูกบอกครั้งแรก ดิฉันทำใจไม่ได้ มันเจ็บปวดเหมือนหัวใจจะสลาย แต่ก็พยายามเข้มแข็งต่อหน้าลูก บอกเขาว่าไม่เป็นไร เราจะสู้ไปด้วยกัน ลูกไม่ใช่คนผิด ทั้งที่ลับหลังเขาดิฉันก็เอาแต่ร้องไห้

“ตอนนั้นเรามี 2 ทางเลือกคือ สู้แล้วไปตายเอาดาบหน้า กับไม่สู้ แต่อยู่อย่างอัปยศ แม้ฝั่งตรงข้ามจะเสนอเงินมาให้ ขอไกล่เกลี่ย ต่อว่ากดดัน เพื่อขอให้จบเรื่อง แต่ดิฉันไม่ยอม โชคดีว่าหลังตัดสินใจแจ้งความ มีองค์กรยื่นมือมาช่วยเหลือมาก ทั้งบ้านพักเด็กฯพังงา ทีมงานป้ามล แม้ตอนแรกจะกังวลเพราะไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้เข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่สุดท้ายมันเหมือนเป็นลมใต้ปีกให้เราบินสู้ไปตลอดรอดฝั่ง”

นางเอยังเล่าวินาทีที่ศาลตัดสินจำคุกผู้กระทำผิด 11 ราย เสมือนเป็นสิ่งยืนยันว่า สิ่งที่ตามหามาตลอดสามารถเกิดขึ้นได้จริง ก่อนมารับทราบถึงข่าวรุมโทรมนักเรียนหญิง จ.มุกดาหาร เธอและลูกจึงอาสามาช่วยเอ็มเพาเวอร์ให้ ขณะที่ลูกสาวตนเองตอนนี้เรียนเก่งมาก และได้มีชีวิตที่ปกติสุขระหว่างการคุ้มครองพยาน

ฟ้าหลังฝนยังคงสวยงามเสมอ

จุติ แม่เหยื่อคดีรุมโทรมเกาะแรด และทิชา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image