ศาสตร์พระราชา สู่เชียงดาว ยืนได้ด้วยตัวเอง สู้ภัยยาเสพติดชายแดนเหนือ

ศาสตร์พระราชา สู่เชียงดาว ยืนได้ด้วยตัวเอง สู้ภัยยาเสพติดชายแดนเหนือ

“ยาเสพติด” เรียกได้ว่าเป็นภัยร้าย ที่สร้างปัญหาและบั่นทอนสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งก็ด้วยสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิต ที่บีบบังคับให้คนต้องเลือกเดินทางนี้ การสร้างทางเลือกให้เห็นว่ามีหนทางอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ด้วยพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงห่วงใยปัญหายาเสพติด เป็นที่มาของการดำเนินงานในโครงการร้อยใจรักษ์ ที่บ้านห้วยส้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งแก้ปัญหาด้วยศาสตร์พระราชา โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการใช้ศาสตร์พระราชา แก้ปัญหายาเสพติดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา 19 อำเภอ 119 ตำบล มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ รับผิดชอบการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ในโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.)

วิรุฬ พรรณทวี รองผวจ.เชียงใหม่ ร่วมเปิดฝาย
ฝายบ้านแม่กอน

บ้านแม่กอน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เข้าโครงการนี้เช่นกัน

นพวัชร สิงห์ศักดา ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ เผยว่า จากการลงพื้นที่ เราพบว่าปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องการขาดแคลนแหล่งน้ำทำกิน แม้จะเป็นหมู่บ้านแรกที่ได้รับน้ำจากลุ่มน้ำกอนหลวง 4 ลำน้ำหลักก็ตาม เนื่องจากสภาพของระบบประปาภูเขาที่ชำรุด อุดตัน มีระบบส่งน้ำขนาดเล็ก ชาวบ้านในบ้านแม่กอน ทำนาปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ลำไย เกษตรเชิงเดี่ยว การขาดแคลนน้ำทำให้ไม่สามารถปลูกพืชไว้ช่วยตัวเองได้ตลอดปี จึงได้มีการปรับปรุงระบบชลประทาน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างฝายอุปโภคบริโภค ฝายเกษตร รวมทั้งต่อระบบท่อพีอี 6.25 กิโลเมตร ด้วยแรงของชาวบ้านมาร่วมมือกัน ทำให้สามารถเพาะปลูก สร้างอาชีพอื่นได้

Advertisement

เมื่อมีน้ำใช้ ก็สามารถขยายผลไปสู่การร่วมมือกันทำแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) สู่การพัฒนาอาชีพ พื้นที่เพาะปลูก ต่อไปได้อีก เมื่อพึ่งตัวเองได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องหันไปพึ่งยาเสพติดอีกต่อไป

นพวัชร สิงห์ศักดา

ข้ามมาที่อีกด้านของ อ.เชียงดาว ที่บ้านห้วยลึก ต.ปิงโค้ง คือหนึ่งในหมู่บ้านที่ได้เข้าร่วมโครงการเช่นกัน

Advertisement

อภิเดช แซ่จาง ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก เผยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวม้ง ย้อนไปเมื่อปี 2520 ในหลวง ร.9 เสด็จฯเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่าม้ง ที่ อ.ฮอด ชาวบ้านจึงได้ถวายฎีกา ขอพระราชทานที่ดินทำกิน ที่ห้วยลึก อ.เชียงดาว เพราะพื้นที่ดังกล่าวเหมาะทำการเกษตร จนปี 2523 ชาวบ้านก็ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ และยังทรงมีรับสั่งให้ ม.จ.ภีศเดช รัชนี เข้ามาช่วยเหลือส่งเสริมการเพาะปลูก บนเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ นี้เอง

“รายได้ของหมู่บ้านเรามาจากการปลูกผักส่งโครงการหลวงตามแผนงาน อย่างผักกาด กะหล่ำ แตงกวา และดอกไม้ เช่น เบญจมาศ ผักและดอกไม้ที่เกินจากแผนงานของโครงการหลวง ก็สามารถวางขายได้ที่ตลาดม้ง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าหัตถกรรมต่างๆ แต่ที่ผ่านมาคนในหมู่บ้านไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วจึงทราบว่าเรามีรายได้ทั้งปี 120 ล้านบาท หนี้สินปีละ 90 ล้านบาท เมื่อมีเงินคนจะไม่ได้สร้างบ้านให้ดี มักซื้อรถ ไม่ทำบัญชี อีกปัญหาหนึ่งก็คือเราไม่มีพื้นที่ทำนา ต้องซื้อข้าวจากหมู่บ้านอื่น รวมทั้งขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกด้วย” ผู้ใหญ่บ้านเผย

อภิเดช แซ่จาง
ตลาดม้ง

ที่หมู่บ้านนี้แตกต่างจากบ้านแม่กอน เพราะเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ร่วมมือกันวางแผน คิดรูปแบบ ด้วยการใช้ศาสตร์พระราชา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีชาวบ้านเองเป็นผู้นำ ปิยะนุช ไชยวิชู นักพัฒนาทางเลือก ผู้จัดการโครงการ เผยว่า เราได้ใช้ศาสตร์พระราชาลงมาทำงานกับหมู่บ้าน เช่น การระเบิดจากภายใน ให้ชาวบ้านได้คิดโครงการขึ้นเอง โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเสริม

เรื่องแรกคือเรื่องแหล่งน้ำ ที่เราได้งบประมาณในการทำฝาย แล้วจากนั้นคือเรื่องการทำชุมชนให้พึ่งตนเองได้ เริ่มจากลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ให้เขาจัดการที่ดินที่เขามีให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการรวมกลุ่มของคนที่ทำอาชีพเดียวกัน เช่น เย็บผ้า หัตถกรรม ส่งเสริมการเลี้ยงหมูดำ ซึ่งชาวบ้านต้องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้ ชาวบ้านยังอยากพัฒนาตลาดชุมชนอย่างตลาดม้ง และขยายตลาดไปเพื่อนบ้าน รวมทั้งวางแผนส่งออกนอกชุมชน ใช้เทคโนโลยีในการส่งออกผักและดอกไม้ที่มีต่อไป

ปิยะนุช ไชยวิชู

เมื่อคนในหมู่บ้านได้ร่วมใจและพัฒนาจากตัวเองแล้ว ก็จะทำให้เขามีส่วนร่วม และหลีกไกลยาเสพติด

ก้าวหน้าด้วยชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image