ศาสตร์พระราชา ทางรอดในทุกวิกฤต

ศาสตร์พระราชา ทางรอดในทุกวิกฤต

ศาสตร์พระราชา ทางรอดในทุกวิกฤต

แตกตัวและจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 8 แล้ว สำหรับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โดย บจก.เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งครั้งนี้ยกขบวนไปจัดกิจกรรมที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา จ.ชัยภูมิ ภายใต้แนวคิด “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า จ.ชัยภูมิ นับเป็นธนาคารน้ำของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำชี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะไปไหลลงแม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม” แหล่งเรียนรู้ฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวทางศาสตร์พระราชา บนพื้นที่กว่า 11 ไร่ ด้วยการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำนาแบบดั้งเดิม การเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และระบบการกักเก็บน้ำในสระไม่ให้ไหลซึมหายไปในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอ “ตัวอย่างความสำเร็จ” ซึ่งมีค่ามากในการส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นต่อๆ ไป ให้เห็นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

อ.ยักษ์กล่าวอีกว่า จากวิกฤตโควิดหรือภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับหลายๆ คน เหมือนกระชากพวกเขาออกจากความฝันเก่าที่ว่าทำอุตสาหกรรมการผลิตส่งให้กับเมืองนอก แล้วจะมีรายได้เข้ามา แต่พอมีโควิด นักท่องเที่ยวนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไม่ได้ หลายคนจึงเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ไม่มั่นคง และให้ความสนใจเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บจก.เชฟรอนประเทศไทยฯ กล่าวว่า การเอามื้อสามัคคีหรือการตามรอยศาสตร์พระราชาอย่างแรกคือคนเข้าร่วมต้องมีใจ ซึ่งเครือข่ายก็เข้มแข็งและแตกตัวไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ในครั้งนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ราว 200 คน มาร่วมสร้าง โคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ การขุดคลองไส้ไก่ ทำแปลงผักแสนดี (ปลูกผักในกระบะ) โรงปุ๋ยแสนขยัน (ปุ๋ยจากมูลวัว) หนองปลาโตไว (แซนด์วิชปลา สร้างแหล่งอาหารครบวงจร) ดำนาอินทรีย์ และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจากวิกฤตที่เกิดขึ้น “ศาสตร์พระราชา” จะไม่ใช่แค่การเกษตรทางเลือกแต่จะเป็น “ทางรอด” ของทุกคน

Advertisement
วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปร
ศาสตร์พระราชา
ช่วนกันสานคอกสร้างแหล่งอาหารให้ปลา

นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต หรือ หมอนิค นายแพทย์ชำนาญการ รพ.หนองบัวระเหว ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บอกเล่าก้าวตาม กล่าวว่า สุขภาพของชุมชนจะดีต้องดีจากพื้นฐาน ซึ่งจากการทำงานร่วมกับชุมชนพบกรณีหนึ่ง เด็กเป็นโรคออทิสติก ซึ่งการรักษาคือต้องให้คุณแม่เป็นคนกระตุ้นพัฒนาการ แต่เมื่อไปที่บ้านของเด็กกลับพบว่าแม่ไม่อยู่ เด็กเกิดจากแม่วัยใสที่เมื่อคลอดแล้วก็ให้ตากับยายเป็นคนเลี้ยงดู ส่วนตัวเองเข้าเมืองไปหางานทำ สะท้อนว่าแรงงานต้องพลัดถิ่นไปหางานทำนอกพื้นที่ ฉะนั้น จึงเกิดเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่ในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก และจากความเครียดก็ทำให้ผู้สูงอายุป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สินที่ชาวบ้านร้อยละ 99 ต่างมีหนี้สินทางการเกษตร จึงขบคิดมาตลอดว่าจะช่วยแก้ปัญหายังไง จนตัดสินใจไปศึกษาศาสตร์พระราชาซึ่งตอบโจทย์ 3 ประการคือ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่น กระทั่งตั้งศูนย์บอกเล่าก้าวตามขึ้นมาเพื่อจัดอบรมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบไม่ต้องใช้สารเคมี สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเหมาะสมกับกำลังคนที่มีอยู่น้อยเพราะทุกคนมีงานประจำ ซึ่งที่ผ่านมาก็อบรมไปแล้วกว่า 400 คน และมีประมาณ 60 คน ที่มีใจกลับมาช่วยเป็นวิทยากรและให้ความรู้กับผู้สนใจรุ่นต่อๆ ไปด้วย

ด้าน นางปราณี ชัยทวีพรสุข พยาบาลวัยเกษียณ เจ้าของ “สวนฝันสานสุข” จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า มักจะมีเคสผู้ป่วยที่เกิดบาดแผลจากสารเคมีในการเกษตรอยู่บ่อยครั้ง มีรายหนึ่งมาหาหมอทุกๆ 3-4 เดือน เรื้อรังอยู่นานหลายปีจนสุดท้ายต้องตัดขาทิ้ง นอกจากนี้เมื่อตรวจเลือดตัวเองพบว่าในเลือดมีสารเคมีที่มาจากยาฆ่าหญ้าสูง จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาปลูกผักกินเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อทำโครงการไปรณรงค์กับชาวบ้านมีเพียง 1 ครอบครัวที่สนใจ เมื่อเกษียณแล้วตนจึงสานฝันลงมือทำสวนเองกับครอบครัว ช่วยกันออกแบบที่ดินที่มีปลูกกล้วยเป็นหลัก ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงปลา นอกจากนี้ ยังปลูกสมุนไพรใกล้ตัว เพื่อรวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย มาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต

เจ้าของสวนฝันสานสุขกล่าวทิ้งท้ายว่า คำว่า “ศาสตร์พระราชา” ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่เชื่อแต่คือศรัทธา เพราะทุกวันนี้แทบไม่ต้องซื้อผักเพราะในสวนมีเกือบหมด ตรวจเลือดตอนนี้ก็ไม่มีสารเคมีในเลือดแล้ว แถมยังมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง จนเจ้าของนาที่อยู่ติดกันมาขอใช้น้ำในสวนเรา ซึ่งก็ให้ต่อท่อไปใช้ได้ จากที่ชวนทำตอนแรกๆ เขาไม่สนใจ ตอนนี้ก็เริ่มมาปรึกษาที่จะทำโคก หนอง นา เองแล้ว

Advertisement
พื้นที่เอามื้อฯ โคก หนอง นา ในศูนย์ฯ
ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม
แปลงนาในศูนย์ฯ
หนองปลาโตไว ด้วยแหล่งอาหารแสนดี
ศาสตร์พระราชา
หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้าน
ลูกศิษย์ อจย. มีทุกรุ่น
ผลผลิตจากแปลงผักสุขใจ
นางปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ฯ
นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต (หมอนิค) นายแพทย์
อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image