ถึงเวลารื้อแบบเรียน! สอนให้คนเท่ากัน

ถึงเวลารื้อแบบเรียน! สอนให้คนเท่ากัน

เพราะเชื่อว่าปัญหา “ข่มขืน ลวนลาม คุกคามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนปัญหาความรุนแรงต่างๆ” ล้วนมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้ การปลูกฝังมาผิดๆ โดยเฉพาะบทบาทของโรงเรียน จะด้วยครูไม่สอน หรือสอนผิดๆ จะด้วยหลักสูตรการศึกษาไม่มีเนื้อหา หรือมีเนื้อหาผิดๆ ทำให้เกิดทัศนคติชายเป็นใหญ่ เป็นสิ่งต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ ในงานเสวนารื้อถอน “เมื่อแบบเรียนเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และภาคีเครือข่าย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เริ่มที่ นางสาวศศิธร สรฤทธิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดข้อมูลน่าห่วง แบบเรียนหลายช่วงชั้น หลายวิชา กำลังมีปัญหา เล่าว่า มูลนิธิฯได้ศึกษาเนื้อหาหนังสือเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบปัญหาที่กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับประถมและมัธยมศึกษา ไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ อย่างการกำหนดบทบาทเพศชาย เช่น ชอบเล่นกีฬาใช้พละกำลัง ท้าทาย เป็นผู้นำครอบครัว เข้มแข็ง ร้องไห้ไม่ได้ ส่วนเพศหญิง ต้องทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลังน้อย ทำงานบ้าน งานฝีมือ ทั้งให้รักนวลสงวนตัว ไม่แต่งกายรัดรูปและเปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป

ถัดมาที่ผู้มีประสบการณ์ตรงจากหลักสูตรปัจจุบัน ต่างสะท้อนถึงความล้มเหลว ที่โรงเรียนสอนให้คนไม่เท่ากัน พลอย และนิว ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวร่วมกันว่า จริงๆ ไม่เพียงวิชาสุขศึกษา แต่ยังมีวิชาภาษาไทย วิชาพระพุทธศาสนา และวิชาหน้าที่พลเมือง ที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ เช่น เนื้อหาที่บอกว่าคนหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีทีคิว เมื่อชาติที่แล้วเคยทำกรรมผิดลูกผิดเมียคนอื่น ชาตินี้จึงเป็นอย่างนี้ ทั้งระบุว่าแอลจีบีทีคิว เป็นผู้มีปัญหาทางจิตไม่ปกติ ควรพบแพทย์ด่วน

“คงจำกันได้กับคำถามว่า ใครมีหน้าที่ทำงานบ้าน คำตอบที่ถูกคือ แม่ หรือหากหลอดไฟเสีย ใครในบ้านต้องเป็นคนเปลี่ยน คำตอบที่ถูกคือพ่อ หากตอบเป็นอย่างอื่นคือ ผิด เหล่านี้จะบอกว่าแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกัน หลายครอบครัวมีแม่เป็นผู้นำครอบครัว มีแม่ที่สามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้ ส่วนพ่อก็ทำงานบ้านได้ ฉะนั้น แบบเรียนควรให้คุณค่า ศักดิ์ศรีทางเพศที่เท่าเทียม เพื่อทำให้ผู้เรียนทุกเพศรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง” พลอยและนิวกล่าวร่วมกัน

Advertisement
ศศิธร สรฤทธิ์

ในแง่วิชาการแสดงความเป็นห่วง หากแบบเรียนที่สอนอย่างนี้!

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า แบบเรียนถือเป็นสิ่งที่หล่อหลอมอุดมการณ์ วิธีคิดของคนในสังคม แบบเรียนเป็นอย่างไรผู้เรียนก็จะมีโลกทัศน์อย่างนั้น แบบเรียนยังเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคน หากอะไรที่ไม่อยู่ในตำรา สิ่งนั้นอาจไม่ได้รับการยอมรับและได้รับผล

กระทบ เช่น แอลจีบีทีถูกแทรกแซง ถูกออกจากงาน ฉะนั้น อยากให้ ศธ.เลิกทำแบบเรียนที่ยัดคนลงกล่องเพศ เลิกกำหนดว่าเพศไหนต้องทำอะไรถึงจะดี เปลี่ยนมานำเสนอทุกเพศเท่าเทียมกันในแบบเรียน มีศักดิ์ศรีและคุณค่า ให้อิสระแต่ละคนสามารถนำคุณค่าของแต่ละเพศ มาเป็นฐานคิดและใช้ได้ เป็นการกระโดดจากกล่องเพศ

Advertisement

“เนื้อหาในแบบเรียนปัจจุบัน เหมือนถูกส่งมาจากอดีต ล้าหลังกว่าสถานการณ์ความเป็นจริงอยู่หลายสิบปี ทั้งที่มูฟเมนต์และวิธีคิดของเด็กสมัยนี้ก้าวหน้าไปมาก ฉะนั้น ถึงเวลาต้องปรับปรุงแก้ไข” ดร.ชเนตตีกล่าว

นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สนับสนุนแนวคิดปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เป็นการปฏิรูปที่มีตัวแทนนักเรียนเข้าไปนำเสนอข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมามีแต่ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปออกแบบ เป็นคนคิดที่ไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิดแต่ต้องรับกรรมต่อไป

ภายในงานมีตัวแทนเยาวชน สะท้อนสิ่งที่อยากเห็นในระบบการศึกษา เช่น วิชาแนะแนว ต้องเป็นวิชาแนะนำเส้นทางอนาคตจริงๆ รวมถึงพยายามดูแลนักเรียนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา อันจะนำไปสู่ปัญหาเยาวชนต่างๆ ที่สำคัญอยากให้นิยามคำว่า “ครอบครัวสมบูรณ์ ต้องมีพ่อแม่และลูก” ใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปมด้อยแก่เด็กและเยาวชน เพราะครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกพร้อมหน้าก็มีความสุขได้

ก่อนสรุปข้อเสนอ มูลนิธิหญิงชายฯ ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ปรับหลักสูตรแกนกลาง ที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ทุกเพศ ทุกวัย ยกเลิกเนื้อหาแบบเรียนที่กดทับ มองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่น รวมถึงพัฒนาครูให้รู้และเข้าใจ การเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย มีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับช่วงวัย และพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย เป็นพื้นที่เคารพในเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน

ทิชา ณ นคร

ตัวอย่างบทเรียนมีปัญหา

ถึงเวลาสอนให้คนเท่ากัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image