ปลดล็อก ‘กม.ทำแท้ง’ จี้ยกเลิก ม.301 ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร มองมุมใหม่ ทำแท้ง=บริการสุขภาพ

(แฟ้มภาพ)

ปลดล็อก ‘กม.ทำแท้ง’ จี้ยกเลิก ม.301 ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร มองมุมใหม่ ทำแท้ง=บริการสุขภาพ

“ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกที่ตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง”

ข้อความกระแทกใจ! บนป้ายรณรงค์ของ “คณะผู้หญิงปลดแอก” ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการ “ปลดแอกกฎหมายทำแท้ง” บนเวทีม็อบปลดแอกหลายต่อหลายครั้ง

และล่าสุดบนเวที “ม็อบตุ้งติ้ง” ครั้งที่ 2 ในชื่อ “ไพร่พาเหรด” โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเรื่อง “ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางเพศในสังคม”

กรกนก คำตา ตัวแทนคณะผู้หญิงปลดแอก อ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ “ยกเลิกกฎหมาย” ที่เอาผิดทางอาญากับผู้หญิงที่ทำแท้ง และต้องให้การทำแท้งเป็น “บริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์” อย่างแท้จริงว่า

“เราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าแม้แต่เรื่องร่างกายของเรา สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของเรายังถูกควบคุมโดยรัฐ รัฐมีบริการ แต่ไม่มีใครรู้ ไม่กล้าประชาสัมพันธ์ เพราะกลัวกฎหมาย หมอที่ช่วยผู้หญิงยังต้องทำไปเสี่ยงไป เสี่ยงกับการถูกตำรวจจับ เสี่ยงจากการถูกหมอด้วยกันประณามหยามเหยียด ว่าให้อับอาย ผู้หญิงต้องเสี่ยงไปทำแท้งไม่ปลอดภัย เสี่ยงถูกจับ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และหลายคนเสียชีวิต เรื่องราวเหล่านี้ยังคงดำเนินไปในทุกๆ วัน ในสังคมที่รัฐไม่เคยสนใจชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนจริงๆ”

Advertisement

“เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับผู้หญิง เพื่อทำให้เรื่องการเข้าถึงการทำแท้งเป็นบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่แท้จริง เพื่อไม่ให้มีผู้หญิงคนไหนต้องตาย ต้องบาดเจ็บ ต้องพิการจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้ผู้หญิงคนไหนต้องถูกบังคับให้เป็นแม่ โดยที่ยังไม่พร้อมจะเป็น เพื่อไม่ให้ผู้หญิงต้องถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี ทั้งที่ได้ป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว”

“การต่อสู้ให้มีการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง ยกเลิกมาตรา 301 คือการต่อสู้กับระบบผูกขาดอำนาจที่ไม่เคยฟังเสียงของประชาชน ขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย เป็นสิทธิของทุกๆ คน คือสิทธิผู้หญิง สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิมนุษยชน หยุดควบคุมสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง”

Advertisement

กฎหมายกดขี่ผู้หญิง หวังดีประสงค์ร้าย

บนเวที “ไพร่พาเหรด” นิศารัตน์ จงวิศาล กลุ่มทำทาง สมาชิกคณะผู้หญิงปลดแอก ย้ำประเด็นนี้อีกว่า “ในวันนี้กฎหมายเดินไปข้างหน้า แต่น่าเสียดายกฎหมายยังเอาผิดผู้หญิง กฎหมายใหม่ที่กฤษฎีการ่างออกมาแล้ว กำลังจะบังคับใช้ บอกว่า การทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ มีความผิด”

“กฎหมายนี้ กดขี่ผู้หญิงเหมือนเดิม ข่มขู่ผู้หญิงเหมือนเดิม เป็นความพยายามหวังดีประสงค์ร้ายเช่นเดิม คนที่ร่างกฎหมายนี้เขาถามหมอ ถามนักกฎหมาย ถามตำรวจ เขาลืมถามไปคนหนึ่ง…”

“ลืมถามประชาชน!!”

“เลิกโกหกเราว่า ทำแท้งอันตราย WHO ยืนยันแล้วว่า ทำได้ ปลอดภัย มันเป็นเรื่องจริง อินเดีย กัมพูชา เนปาล หรือฝรั่งเศส ที่จ่ายยาทำแท้งมาแล้ว 20 ปี ไม่เคยมีผู้หญิงสักคนเดียวที่ตาย เลิกโกหกเราว่าทำแท้งเท่ากับตาย เลิกเอากฎหมายมาข่มขู่ไม่ให้เราไปหาหมอ ประชาสัมพันธ์บริการที่มีอยู่แล้วให้คนรู้ทั่วถึงกัน สอนในวิชาเพศศึกษาให้เด็กผู้หญิงได้รู้ในเรื่องของตัวเอง”

“ให้รู้ว่า ทำแท้งปลอดภัยมันมีอยู่จริง” นิศารัตน์ตอกย้ำหนักแน่น

เป็นการตอกย้ำที่หวังให้ “สะเทือนเลื่อนลั่น” ไปถึงรัฐ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่มีการเรียกร้องอย่างจริงจังมาเนิ่นนาน 10 กว่าปี!!

ชวนสังคมปรับมายเซต “ทำแท้ง=บริการสุขภาพ”

เจ้าของวลี “ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกที่ตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง” รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ระบุว่า ประเด็นที่นำเสนอในม็อบสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำ เพราะคนที่อยู่ในม็อบก็เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามที่จะเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง รวมหลายๆ เรื่อง รวมทั้งการทำแท้งด้วย

“เราเรียกร้องให้ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และให้มีการแก้ไขมาตรา 305 เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ถึงปัจจุบันตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า การทำแท้งเป็นอาชญากรรม จึงลงโทษทั้งตัวผู้หญิงที่ทำแท้งและผู้ทำแท้งให้ผู้หญิง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ”

“สิ่งที่เราเคลื่อนไหวมาตลอด คือ เราต้องการจะลบ รื้อ ตรงนี้ออกไป การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม ไม่เอาผิดผู้หญิง เพราะการทำแท้งจริงๆ ไม่เป็นอาชญากรรม แต่คือ บริการสุขภาพ”

ซึ่งนี่คือ “มายด์เซต” ที่ รศ.ดร.กฤตยา อยากให้สังคมปรับมุมคิดใหม่!

“เปลี่ยนให้เป็นบริการสุขภาพ การทำแท้ง คุณจะมีทัศนคติยังไงก็ได้ คุณจะไม่ชอบมันก็ได้ จะคิดว่าบาป-ไม่บาปเป็นเรื่องของคุณ ถ้าเป็นความเชื่อ เราไม่เถียงกันเรื่องความเชื่อ และสำหรับคนที่เขาคิดว่า การทำแท้งเป็นสิทธิของผู้หญิง ก็ยิ่งดี นั่นก็ยิ่งจะทำให้การบริการมาด้วยใจ เป็นการบริการที่ให้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ให้บริการที่จะช่วยเหลือชีวิตผู้หญิง”

นอกจาก มาตรา 301 ที่ “เอาผิดผู้หญิง” แล้ว

มาตรา 305 ที่เปิดช่องให้แพทย์ทำแท้งให้แก่ผู้หญิงได้ ในบางเงื่อนไข คือ การตั้งท้องนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพและจิตใจของผู้หญิง และผลของการตั้งท้องนั้นมาจากการกระทำความผิดอาญามาตรา 276 คือ ละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม มาตรา 276 คือ การข่มขืนกระทำชำเรา มาตรา 282, 283 และ 284 คือ การล่อลวงหญิงจนเป็นสาเหตุให้หญิงท้อง

ซึ่งยัง “มีปัญหาอย่างมาก” ในการตีความและการปฏิบัติ ส่งผลให้ “แพทย์ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะทำแท้ง”

และแม้จะมีสถานบริการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล คลินิกเอกชนหลายแห่ง และองค์กรสาธารณกุศล ที่มีบริการอยู่ 39 จังหวัด

รวมถึงการทำแท้งอยู่ในสิทธิประโยชน์ทั้ง “บัตรทอง” และ “ประกันสังคม”

แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะ “ไม่มีการประชาสัมพันธ์” ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง!!

“ประเทศไทยมีการทำแท้งที่ปลอดภัย แต่ปัญหาคือไม่มีการประชาสัมพันธ์ จึงทำให้ผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องการทำแท้งไม่ถึงข้อมูล เขาก็ไปซื้อหายาทางออนไลน์ หรือไปหาหมอเถื่อน ทั้งที่เทคโนโลยีด้านยุติการตั้งครรภ์ก้าวหน้าไปมาก” รศ.ดร.กฤตยาเปิดเผย

ยกเลิก ม.301 แก้ไข ม.305 ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร

ต่อประเด็นนี้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับเครือข่ายอาสา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเดือน ก.ย.2562 เพื่อขอให้พิจารณาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 ว่าไม่ชอบต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 เห็นว่ามาตรา 301 ขัดต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนมาตรา 305 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่สมควรแก้ไขทั้งมาตรา 301 และ 305 ให้เหมาะกับสภาพการณ์ ทั้งสองเครือข่ายจึงร่วมจัดทำข้อเสนอแก้กฎหมายและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ทั้งในส่วนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ครม.ได้ไฟเขียวให้แก้ ม.301 และ 305 โดยกำหนดอายุครรภ์ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่ถ้าทำแท้งอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(อ่านข่าวเพิ่มเติม : ครม.เห็นชอบแก้ กม. ให้ทำแท้งได้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ชี้มีสิทธิและเสรีในร่างกาย)

“แม้จะมีการปรับแก้กฎหมายแล้ว แต่ก็ยังไม่ยกเลิกมาตรา 301 ยังคงมาตรานี้ไว้ เพียงแต่ลดโทษลง ซึ่งถือว่าการทำแบบนี้ก็ยังมองว่า การทำแท้งเป็นคดีความอาญาอยู่ ซึ่งเราต้องการให้ยกเลิกไปเลย” รศ.ดร.กฤตยาย้ำ ยืนยัน 

ทำแท้งเสรีไม่มีในโลกนี้

รศ.ดร.กฤตยาย้ำว่า การทำแท้งเสรีไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ เพราะแต่ละบริการในแต่ละประเทศล้วนมีเงื่อนไขทั้งสิ้น เช่น อายุครรภ์ กำหนดว่าต้องทำที่ไหน ใครที่เป็นผู้ทำ

“ต่อให้ประเทศซึ่งอนุญาตให้ทำแท้งได้ ก็ต้องทำการยื่นคำร้อง และไปยื่นสถานบริการ เพื่อยุติการตั้งครรภ์ ไม่ได้เสรีอย่างที่คุณปวดหัว แล้วไปซื้อพารากินตามเซเว่น เพราะการทำแท้งได้จะมีเงื่อนไขเรื่องอายุครรภ์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ถึงสามารถทำได้ และที่มากกว่านั้นคือ ใครจะเป็นผู้ทำให้ และสถานที่ที่จะทำคือที่ไหน”

“ดังนั้น ประเทศต่างๆ ที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ จะกำหนดเลยว่าอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ สูงสุดไม่เกิน 24 สัปดาห์ ส่วนสถานที่แบบไหนทำให้ได้ เช่น โรงพยาบาล ถ้าเป็นคลินิกก็ต้องเป็นคลินิกมีเตียง คลินิกค้างคืน เพราะฉะนั้นแล้ว คำว่า ทำแท้งเสรี ถ้ามีเงื่อนไขพวกนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง โอเค มันก็อาจจะเป็นทำแท้งเสรีได้”

“แต่ถ้าเป็นทำแท้งเสรี ที่เหมือนไปซื้อยาแก้ปวดหัวกิน อย่างนั้น ไม่ใช่ คือ เราจะทำแท้ง ไม่เหมือนเราปวดหัว ที่เราไปซื้อยา หรือไปหาใครที่ช่วยให้เราหายปวดหัวก็ได้ เพราะการทำแท้ง ในหลายสถานการณ์ ถ้าเป็นอายุครรภ์สูง ต้องอาศัยกระบวนการที่จะต้องดูแลกันในระดับหนึ่ง”

อีกหนึ่งความคิดที่เชื่อกันผิดๆ ถ้าปลดล็อกกฎหมายทำแท้งจะทำให้มีคนทำแท้งเยอะขึ้น!!

“อันนี้ไม่จริง” เสียง รศ.ดร.กฤตยาบอกหนักแน่น

“มันแปลกตรงที่ว่า ยิ่งมีการบังคับกฎหมายยากๆ ลำบากๆ ผู้หญิงตายเยอะกว่าอีก ซึ่งนี่เป็นสถิติระดับโลก และเป็นสถิติที่ไม่ได้เก็บปีเดียว เก็บมา 50-60 ปี เพราะฉะนั้น เราเชื่อมั่นได้ เพราะเป็นประสบการณ์จากการแก้กฎหมายจากหลายประเทศ ที่จะมีการเก็บข้อมูล เพื่อดูว่า 3 ปีต่อมาจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ควรทำแบบเดียวกัน”

มองมุมใหม่ “ผู้หญิง-สังคม” ได้ประโยชน์

ตลอดการเคลื่อนไหวประเด็นดังกล่าวมา 30 ปี รศ.ดร.กฤตยาบอกว่า สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น จากเดิมที่มีทางตันซะเยอะ แต่ตอนนี้ทะลุทะลวงไปได้ระดับหนึ่ง และหวังว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยทำให้การแก้กฎหมายราบรื่น และขยายสิทธิของผู้หญิงในการที่จะเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

“ถ้าหากปลดล็อกกฎหมายทำแท้งได้ จะทำให้คนท้องไม่พร้อมเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบัน เราไม่เคยรู้ว่าผู้หญิงต้องตายและบาดเจ็บจากการทำแท้งปีๆ หนึ่งเท่าไหร่ เพราะตัวเลขถูกปกปิด แม้จะมีตัวเลขก็มีน้อย เพราะการทำแท้งเถื่อนและมีคนตาย เวลาตาย เขาไม่แจ้งว่าตายมาจากการตั้งครรภ์และมีการทำแท้ง แต่แจ้งว่าตายด้วยสาเหตุอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำแท้ง”

“เพราะฉะนั้นแล้ว มันเป็นเรื่องที่อยู่ใต้พรม แต่ถ้าเราเอาทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะมันชัดเจน จากการวิจัยขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสถิติระดับนานาชาติได้เปรียบเทียบ 50-60 ประเทศ พบว่าประเทศที่แก้กฎหมาย ทำข้อกฎหมายให้คลี่คลาย หรือขยายเงื่อนไขมากขึ้น ทำให้จำนวนการตาย จำนวนการบาดเจ็บของผู้หญิงจากการตั้งครรภ์ลดลงอย่างชัดเจน”

“เราก็เชื่อมั่นว่า ในประเทศไทย ระบบการสาธารณสุขในประเทศไทย เป็นบริการที่ดีมากในด้านอื่น ยกเว้นเรื่องการทำแท้ง ซึ่งถ้าทำให้เรื่องการทำแท้งดีแล้ว สิ่งที่จะดีตามมาคือบริการคุมกำเนิดที่จะเข้าถึงทุกกลุ่ม และที่จะดีมากขึ้น เราจะมีข้อมูล เพราะปัจจุบันการคุมกำเนิดที่มีปัญหาคือ ไม่เข้าถึงทุกกลุ่ม”

“เราก็เชื่อว่า ตรงนี้มันจะดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น สุขภาพอนามัยผู้หญิงโดยภาพรวมจะดีขึ้น” รศ.ดร.กฤตยาทิ้งท้าย

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม

ปลดแอก “กฎหมายทำแท้ง” เพราะการทำแท้ง “ไม่ใช่” อาชญากรรม และผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image