‘ผู้หญิง-ผู้ชาย’ แห่งปี ต้นแบบพัฒนาสิทธิสตรี ‘ความเสมอภาค’ ต้องเกิดกับทุกเพศ

ณัฐวุฒิ บัวประทุม (ซ้าย) / ศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี (ขวา)

‘ผู้หญิง-ผู้ชาย’ แห่งปี ต้นแบบพัฒนาสิทธิสตรี ‘ความเสมอภาค’ ต้องเกิดกับทุกเพศ

“งานนี้เหมือนเป็นลมหายใจแห่งชีวิตที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่และมีความหวัง และอยากให้ทั้งหลายทั้งปวงไปสู่เป้าหมายของความเสมอภาคเท่าเทียมในศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และต้องไม่ลืมคนที่แตกต่างหลากหลายในทางเพศ”

เสียงเจ้าของรางวัลผู้หญิงแห่งปี 2563 ศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ซึ่งเป็นรางวัลที่สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานโดดเด่นเพื่อเป็นที่ประจักษ์และเอื้อต่อการสร้างสถานภาพสตรี โดยจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ณ ห้องประชุมบำรุง-รวีวรรณ สมาคมส่งเสริมสถานสตรีฯ ดอนเมือง กรุงเทพฯ

นับเป็นเสียงที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแรงกล้าแห่งการทำงานเพื่อสตรีมาตลอด 40 ปี ของ ศ.มาลี ซึ่งตลอดการทำงานของผู้หญิงแกร่งคนนี้มีคุณูปการต่อสังคมไทยหลากหลายประเด็น ในวงการการศึกษา ศ.มาลีรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเป็นผู้ที่ร่วมผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของสถานภาพสตรี ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคม เสนอแนะนโยบายต่างๆ รวมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ประธานมูลนิธิแรงงานหญิง ที่ปรึกษาอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ, ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)

“ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ทำงานเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงมาตลอด รางวัลนี้เป็นรางวัลแห่งชีวิตอย่างแท้จริง ที่ได้ทำงานมาตลอด ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ชัดเจน และถ้ามีพละกำลังอยู่ก็จะทำต่อไป ตามศักยภาพของตัวเอง” ศ.มาลีกล่าวถึงรางวัลที่ได้รับ การทำงานเกี่ยวกับสตรีทำให้เธอรู้จักตัวเองมากขึ้น และรู้สึกว่าเธอมีพัฒนาการทางความคิดที่แตกต่างกับผู้หญิงที่ถูกอบรมเลี้ยงดูแบบอนุรักษนิยม

Advertisement

“ตอนดิฉันอายุ 17-18 ปี ดิฉันอ่านนิยายของดอกไม้สด ประทับใจนางเอกมาก เพราะบอกรักผู้ชาย ซึ่งเราถูกสอนมาว่าเราเป็นผู้หญิงบอกรักผู้ชายไม่ได้ แต่ในนิยายรู้สึกว่าตัวละครมีเหตุผล เพราะเขารักผู้ชายที่ความดี ไม่ได้รักเพราะว่าผู้ชายคนนี้หล่อ หรือรับราชการในตำแหน่งสูง จึงมีความคิดว่าต่อไปข้างหน้า ถ้าเจอผู้ชายที่เรารัก ดิฉันจะบอก ซึ่งก็เคยบอกมาแล้ว ซึ่งก็มีทั้งความสมหวังและผิดหวัง เพราะในภาวะของเราที่เป็นผู้หญิงที่ถูกสอนมาตามจารีตประเพณี เบื้องลึกของจิตใจ ยังคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่”

หนึ่งในเรื่องที่ ศ.มาลีคิดว่าต้องพูดกันอย่างจริงจังในสังคมคือ “ภาวะของการตกเป็นเบี้ยล่างของผู้หญิงมีอยู่จริงหรือเปล่า”

“บางเรื่องไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง ผู้ชายไม่ควรมาทำกับเรา แต่ผู้หญิงต้องอดทนกล้ำกลืนและอยู่กับภาวะที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก ดิฉันคิดว่า แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไป มีความพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น แต่แนวคิดเรื่องระบบชายเป็นใหญ่ยังซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทยอีกเยอะ ดังนั้น เราต้องคุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล”

Advertisement

ยกตัวอย่าง ผู้หญิงพูดเรื่องความต้องการทางเพศไม่ได้ ทั้งที่จริง คือสัญชาตญาณของทั้งสองเพศ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมผู้หญิงที่พูดถึงอวัยวะเพศของตนเองก็ถูกหาว่าหยาบคาย ทั้งที่ผู้ชายก็พูดถึงของตัวเองมานานแล้ว

“อันนี้เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นความแตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่บางทีเราอาจจะต้องคุยกันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และอย่างมีเหตุมีผล เหมาะสม มีรสนิยม และให้สังคมเข้าใจแง่มุมของผู้หญิงบ้าง ไม่ใช่ว่า พอผู้หญิงพูดอะไรผิดหูขึ้นมา บอกเป็นเรื่องหยาบคาย”

ถึงเวลาผู้หญิงออกมาโวย

สำหรับการทำงานที่ผ่านมา ศ.มาลีเผยว่า ใช้ความอดทนอดกลั้นค่อนข้างเยอะ ซึ่งสิ่งที่ช่วยได้มาก คือ พุทธศาสนา ทำให้เข้าใจในเรื่องต่างๆ ยับยั้งจิตใจไม่ให้แสดงออกอย่างทันทีทันใด

“บางทีดิฉันก็เป็นตัวแสบเหมือนกัน บางครั้งบางคราวก็มีอารมณ์ที่อยากจะพูดอะไรแรงๆ เพราะสังคมไทย ถ้าพูดเรื่องตัวบทกฎหมายดีมาก เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ แต่กลับไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน”

ดังนั้น ถ้าเห็นอะไรไม่เป็นธรรม ศ.มาลีก็แนะนำให้ “ผู้หญิงออกมาโวย” ซึ่งที่ผ่านมา เธอก็โวยมาเยอะ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติ

“กฎหมายดีแล้ว แต่ก็ต้องปฏิบัติด้วย” ผู้หญิงแห่งปีย้ำ ที่ผ่านมา ศ.มาลีได้เขียนจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้คนไปทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปมากมาย แต่ทำไมไม่เห็นผู้หญิงเลย ตั้งผู้หญิงเข้าไปนิดเดียว

“ถ้าตั้งผู้หญิงบ้าง ท่านจะรู้ว่าผู้หญิงทุกสาขาเก่งมาก ถ้าท่านได้ผู้หญิงไปช่วยทำงาน ท่านจะไว้วางใจว่า ผู้หญิงจะทำงานได้สำเร็จลุล่วง ดังนั้น เราต้องช่วยกันโวย เพราะในแง่ประชากร เรามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายล้านกว่าคน”

ปัจจุบัน ศ.มาลีกำลังเขียนหนังสือ “จากควายสู่คน และความเป็นพลเมือง” พูดถึงรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2563

“เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความมุ่งหวังว่า คนที่ไม่มีเวลาที่จะไปอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม อ่านเล่มนี้แค่เล่มเดียวก็พอจะรู้ว่าผู้หญิงเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก่อนปี 2475 ผู้หญิงเป็นควาย ซึ่งนี่เป็นพระราชดำรัสของของรัชกาลที่ 4 ไม่ใช่คำพูดของ อ.มาลี พระองค์รับสั่งว่า กฎหมายโบราณทำอย่างกับว่าผู้หญิงเป็นควายและผู้ชายเป็นคน ดังนั้น จากควายมาเป็นคน แต่เป็นคนไม่พอ เราต้องเป็นพลเมืองที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม

ดังนั้น เรายังต้องทำอีกเยอะ เพราะเมื่อประเทศไทยรับรองความเสมอภาคหญิงชายมาตั้งนานแล้ว เมื่อไหร่เราจะมีความเสมอภาคจริงๆ สักที” ผู้หญิงแห่งปี 2563 ทิ้งท้าย

ก้าวข้ามผลิตซ้ำ “ชายเป็นใหญ่”

นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ยังมอบรางวัล “ผู้ชายแห่งปี 2563” ให้กับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล รองประธาน กมธ.เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ชีวิตของผู้ชายคนนี้หลังจากจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็เลือกที่จะทำงานในสายเอ็นจีโอที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กมีบทบาทหลากหลายมิติทั้งนักสำรวจ นักพัฒนา และนักสังคมสงเคราะห์ ลงพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาหลายพันกรณี เขาตระหนักว่างานกฎหมาย นโยบาย และโครงสร้างสังคม เป็นต้นตอสำคัญของความเหลื่อมล้ำ การถูกเอารัดเอาเปรียบของเด็กและสตรี จึงเข้าร่วมผลักดันนโยบายและข้อกฎหมายหลากหลายประการที่เอื้อต่อสถานภาพต่อสตรี

“เวลาที่เราพูดถึงอุดมการณ์ของคนที่เป็นนักกฎหมาย หลายคนอยากเติบโตเป็นผู้พิพากษา เติบโตเป็นอัยการ แต่สำหรับผม คิดว่าในสังคมไทยใครเป็นมือที่สั้นที่สุด และพบว่า คนที่มือสั้นที่สุดในสังคมไทย คือ เด็ก ผู้หญิง จากประสบการณ์หลายปีของผม คนที่มือสั้นที่สุด คือคนที่ไม่สามารถบอกได้แม้กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง คือ การถูกละเมิดทางเพศ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า ถ้าเราเดินอยู่ในสังคม เราก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถช่วยเด็กหรือผู้หญิง คนที่มีมือที่สั้นที่สุด ในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้” ณัฐวุฒิเผยถึงอุดมการณ์การทำงาน

หนึ่งในปัญหาที่เป็นรากของความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ณัฐวุฒิมองว่าคือ “ทัศนคติชายเป็นใหญ่”

“หลายคนบอกว่า ผู้ชายไทยเจ้าชู้นิดหน่อยเหมือนขุนแผนได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นผู้หญิง จะถูกเรียกว่าเป็นนางวันทองมีสองผัว โดยที่ไม่ได้มองว่าเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้หญิงเป็นเช่นนี้ นี่คือมาตรฐานไม่เท่าเทียมกันระหว่างความเป็นชายเป็นหญิง ซึ่งสังคมไทยต้องช่วยกันการก้าวข้ามการผลิตซ้ำวิธีคิดชายเป็นใหญ่ เพราะการที่สังคมออกมาบอกว่าผู้หญิงต้องเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้ มันไม่ได้ติดตัวผู้หญิงมาตั้งแต่กำเนิด สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่สังคมจะก้าวไปให้พ้นตรงนี้ได้อย่างไร และไม่ใช่เฉพาะผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น ปัจจุบันความไม่เท่าเทียมเกิดกับกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย แม้กระทั่งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ”

“ซึ่งจริงๆ แล้ว เราควรเปลี่ยนว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศไหน” ณัฐวุฒิกล่าว

ผู้หญิงเก่ง 9 สาขา

ภายในงานเดียวกัน สมาคมส่งเสริมสถานสตรีฯ ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ผู้หญิงเก่ง ปี2563” โดย นางสาวลานทิพย์ ทวาทศิน นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวว่า โล่ประกาศเกียรติคุณนี้มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบแก่คนต้นแบบที่มีผลงานสร้างสรรค์และช่วยเหลือคุ้มครองเด็กและผู้หญิงที่ประสบปัญหา และด้อยโอกาส จนนำไปสู่ความสำเร็จต่างๆ

สำหรับ ผู้หญิงเก่ง ปี2563 มีให้รางวัล 9 สาขา มีเสนอชื่อเข้ามารวม 148 คน ผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ 1.เนาวรัตน์ บุญมี เกษตรกรต้นแบบ จ.จันทบุรี ได้รับรางวัลสาขาเกษตรกร 2.พีรดา ปฏิทัศน์ ประธานกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะ จ.สุพรรณบุรี ได้รับรางวัลสาขาสิ่งแวดล้อม 3.นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย จ.พิษณุโลก ได้รับรางวัลสาขานักพัฒนา 4.วีณา จันทร์แก้ว เจ้าของธุรกิจไม้และเฟอร์นิเจอร์ จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลสาขาผู้ริเริ่มธุรกิจ 5.ณัฐนันท์ หูไธสง นายกองค์การบริหารตำบลหนองแวง จ.บุรีรัมย์ ได้รับรางวัลนักการเมืองท้องถิ่น 6.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนักบริหาร 7.ปุณยภา วิศวกรวิศิษฎ์ เยาวชนต้นแบบดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลสาขาเยาวสตรี 8.อุสาห์ ไทรชมภู สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไชยราช หมู่ที่ 3 อ.ปะทิว จ.ชุมพร ได้รับรางวัลสาขาสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และ 9.สุภัทรา บุณยพรหม หัวหน้าข่าวโต๊ะสังคมสตรี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ได้รับรางวัลสาขาสื่อมวลชน สำหรับองค์กรระดีเด่นแห่งปี 2563 ที่ทำงานเพื่อสังคมและส่งเสริมสถานภาพสตรี ได้แก่บริษัท เซ็นทรัล วัตสัน จำกัด

พลังในการพัฒนาสตรีของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image