รู้จัก ‘3 มิสทิฟฟานี่’ ให้มากขึ้น ขอสู้เพื่อสิทธิ ให้ได้เป็น ‘คนธรรมดา’

มิสทิฟฟานี่

รู้จัก ‘3 มิสทิฟฟานี่’ ให้มากขึ้น ขอสู้เพื่อสิทธิ ให้ได้เป็น ‘คนธรรมดา’

มิสทิฟฟานี่ – ปี 2563 เป็นอีกปีที่ประเด็นความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำในสังคมได้รับการหยิบยกมากล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเกิดความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ในการประกวด “มิสทิฟฟานี่ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นเวทีในฝันของเหล่าผู้หญิงข้ามเพศ จึงได้รับการจับตามองตั้งแต่เปิดม่านจวบจนปิดม่านลงอย่างงดงาม โดยผู้คว้ามงกุฎไปครอง ได้แก่ ขวัญลดา รุ่งโรจน์อำภา หรือ “ร็อค” มิสทิฟฟานี่คนที่ 23 ของเมืองไทย ขณะที่รองอันดับ 1 ตกเป็นของ อภัสรา หมื่นน้อย หรือ ตาล และรองอันดับ 2 เมธาวี ทองไทยแท้ หรือ ลูกไม้

ตาล – ร็อค – ลูกไม้

และเมื่อได้จับเข่าคุยกับตัวจริง เสียงจริง ของทั้ง 3 สาว ก็ค้นพบว่านอกจากความสวยอันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังมีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ชวนให้อยากทำความรู้จักให้มากยิ่งขึ้น

นัดแก้มือ ปีทองของนางรองหวนเวที

ทั้ง 3 ที่สุดของมิสทิฟฟานี่ปีนี้ ล้วนเคยผ่านการประกวดบนเวทีนี้มาแล้ว โดย “ลูกไม้” และ “ตาล” ได้ผ่านเข้ารอบ 30 คนสุดท้ายก่อนจะหลุดไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ “ร็อค ขวัญลดา” ก็เป็นรองอันดับ 1 ปี 2017 ที่หวนกลับมาแก้มืออีกครั้ง

Advertisement

“ฉันคือนางพญา” ร็อคกล่าวถึงไม้เด็ดที่ทำให้เธอคว้ามงกุฎมาครองได้สำเร็จว่าสิ่งสำคัญคือ อินเนอร์ข้างใน เพราะเป็นสิ่งที่มาจากความคิดแล้วสะท้อนออกมาทางสีหน้า บุคลิกภาพ ที่ส่งออกมาเป็นตัวเธอได้มากที่สุด และหากเทียบกับขวัญลดาในปี 2017 แล้ว ตัวเธอในปีนี้นับว่ามีความเฟียซ ทันสมัย และทรงพลัง สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์ที่เธอใช้เวลาร่วม 3 ปีในการฝึกฝน

ซึ่งหลังรับตำแหน่ง ร็อคเล่าว่า มากกว่ามงกุฎที่ได้คือหน้าที่ที่ต้องทำ โดยเธออยากปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศให้แก่เด็กๆ เพื่อที่ทุกคนโตมามีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

“ทำไมหนังสือภาษาไทย ตัวละครอย่าง มานี มานะ ปีติ ชูใจ ถึงมีแค่สองเพศ ชายและหญิง จึงอยากให้เพิ่มตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไป เพราะโลกพัฒนาอยู่ตลอด ในเรื่องของการศึกษาก็ควรที่จะพัฒนาอยู่เสมอเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับความเป็นปัจจุบัน” ร็อคกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

Advertisement
ร็อค

ขณะเดียวกัน ตาลก็เผยว่า “ไม่เสียใจที่ไม่ได้มงกุฎ เพราะสิ่งที่ได้คือชนะใจตัวเอง” นอกจากชีวิตจะเปลี่ยนไปแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการทำงาน เป็นแรงขับเคลื่อนทางสังคมได้ ด้วยตาลเป็นคนอีสานที่รักและภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองมาก จึงอยากจะเป็นตัวกลางที่สะท้อนให้สังคมเห็นว่าการใส่ผ้าไทยไม่เชย แถมแต่ละภูมิภาคต่างมีของดีของตัวเอง หากหยิบตรงนี้มานำเสนอ จะทำให้ทั้งสังคมและเศรษฐกิจดีขึ้นได้

ส่วน ลูกไม้เปิดใจว่า หลังจากที่ตุ้บรอบแรกในปีนั้นก็ทำให้ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง และเก็บมาพัฒนา ทั้งซ้อมเดิน การพูด บุคลิกภาพ ที่เธอยอมรับเลยว่าจากคนที่ไม่รู้เรื่องเลยจนมายืนในจุดนี้ได้ “เหนื่อยจริงๆ” กระทั่งเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งว่า “ถ้าไม่พร้อมจริงๆ ถึงแม้โอกาสจะมาถึง โอกาสนั้นก็ไม่ใช่ของเรา”

จากวันวาน สู่ตัวตนที่แท้จริงในวันนี้

หลายคนอาจจะสงสัยว่ากว่าจะเติบโตเป็นสาวงามในวันนี้ พวกเธอค้นพบตัวตนของตัวเองเมื่อไหร่ กับเรื่องนี้ ร็อค ให้ความเห็นว่า สาวทรานส์ส่วนใหญ่รวมถึงตัวเธอเองจะรู้สึกตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เลยว่า “ที่เป็นอยู่ไม่ใช่” หรือ “สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่” เคยลองไปเตะฟุตบอลหรือเล่นกับเด็กผู้ชาย แต่ในใจก็รู้สึกฝืน หลังจากนั้นก็ตัดสินใจบอกกับทางครอบครัวซึ่งพ่อแม่ก็พยายามเข้าใจในสิ่งที่เธอเลือกเป็นให้มากที่สุด แต่เธอก็ตั้งมั่นว่าจะไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง

ร็อค

คล้ายกันกับร็อค ก็คือ ตาล ที่เล่าด้วยรอยยิ้มว่า เธอค้นพบว่าอยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ค่อยแสดงออก แม้ครอบครัวจะไม่ได้ปิดกั้นแต่ก็ยังมีความหวังว่าเธอจะกลับไปเป็นผู้ชาย กระทั่งขึ้น ม.ปลายก็เริ่มไปประกวดแล้วเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มีความสุขเพราะครอบครัวก็ไปเชียร์ตลอด

ตาล

ส่วน ลูกไม้ รายนี้แก่นแก้วแต่เด็ก เริ่มมาก็แต่งหญิงเลย เพราะครอบครัวเข้าใจและรับรู้ กระทั่งสนับสนุนมาโดยตลอด ทว่าในช่วงประถมเป็นช่วงที่เธอพยายามเป็นผู้ชาย พูด “ครับ” เพื่อให้เข้าสังคมกับเพื่อนๆ ได้โดยไม่ถูกแกล้งหรือถูกล้อ แต่ก็ทำได้ไม่นานเพราะไม่ใช่ตัวตน เพราะต่อให้พยายามขนาดไหนทุกคนก็ดูออก พอขึ้นมัธยมจึงเปิดตัวเองเลย เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ด้วยตอนนั้นก็คิดเพียงอย่างเดียวเลยว่า “ในเมื่อครอบครัว พ่อแม่ที่เรารัก รับได้ แล้วทำไมจะต้องแคร์คนอื่น”

ลูกไม้

สู้เพื่อสิทธิ เช่น ‘คนธรรมดา’

ความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาของพวกเธอทั้ง 3 คน ในที่สุดก็ฉายแสงให้เห็นถึงความสำเร็จในวันนี้ ทว่า “พวกเธอ” ก็ยังมีสิ่งที่ต้องต่อสู้อีกมาก เพราะความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ยังคงมีอยู่และได้ประสบด้วยตัวเอง

“สิ่งที่พวกเราเรียกร้องหรือสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ หรือสิ่งที่เหนือกว่า แต่คือความเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรได้รับจริงๆ” ร็อคกล่าว และว่า อย่างตอนที่ขอวีซ่าทำงานเพราะต้องไปถ่ายภาพยนตร์ที่ประเทศจีน ด้วยมีคำนำหน้าชื่อไม่ตรงกับเพศสภาพ จึงต้องพกเอกสารรับรองไปจำนวนมากทั้งยังต้องไปรายงานตัวด้วย และได้วีซ่าเพียงแค่ 7 วัน ทำให้เธอต้องเร่งทำงานทุกอย่างให้เสร็จภายในระยะเวลาจำกัด แต่สำหรับคนอื่นๆ สามารถขอวีซ่าทำงานได้เลย 15 วัน – 1 เดือน โดยไม่ต้องไปรายงานตัว

คำหน้านามไม่ตรงกับเพศสภาพ ยังส่งผลถึงตอนสมัครงานด้วย เนื่องจากมีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่เช็กเอกสารสมัครงานพบว่ารูปเป็นผู้หญิงแต่คำนำหน้าไม่ใช่ก็จะคัดทิ้งเพียงแค่ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้ดูที่ความสามารถ เพราะโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถสำหรับพวกเธอก็ยังไม่มี เป็นหนึ่งในปัญหาที่กลุ่ม LGBTQ พบกันมากในปัจจุบัน ฉะนั้น ถ้าสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับเพศสภาพได้ ก็จะทำให้หลายๆ อย่างดีขึ้นได้

ด้าน ลูกไม้เสริมว่า อีกเรื่องคือการทำงานในหน่วยงานราชการที่มีข้อระเบียบและกฎบังคับ ในบางมุมก็เป็นสิ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เช่น อาจารย์สอนนาฏศิลป์ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ จะต้องสวมวิกผู้ชาย แต่งกายแบบผู้ชาย ในชั่วโมงการสอน ทั้งที่ความสามารถและผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถสอนเด็กๆ ได้

ทั้งสามจึงกล่าวร่วมกันว่า “สิ่งที่เราเป็นไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคระบาด ที่มองเห็น สัมผัสแล้วจะเป็นกันได้หมด แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคลมากกว่า”

จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับจูนทัศนคติเสียใหม่ โดยร็อคกล่าวว่า หลายคนเข้าใจว่า LGBTQ คือคนผิดปกติทางจิต เป็นโรคระบาด บกพร่องทางเพศ แต่จริงๆ เพศที่เราเป็น คือสิ่งที่เลือกอยากจะเป็นเพศสภาพนี้ เป็นสิ่งที่มาจากความต้องการของจิตใจ ตรงนี้คือความจริงแท้ และพวกเราก็มีความเป็นคนเท่ากัน

“พวกเราไม่ได้อยากจะเรียกร้องให้ทุกคนมาสงสาร แค่อยากให้เปิดใจและเข้าใจ เพราะทุกวันนี้เพศทางเลือกทุกคนสู้เพื่อให้ได้เป็น ‘คนธรรมดา’ ในสายตาทุกคน ที่สามารถทำหลายสิ่งได้เหมือนคนทั่วไป” ทั้ง 3 สาวมิสทิฟฟานี่กล่าว

ตาล – ร็อค – ลูกไม้

ผลิตซ้ำ ‘สาวประเภท 2’ คู่ ‘ความตลก’

ต่อด้วยอีกหนึ่งประเด็นว่าด้วยเรื่องภาพลักษณ์ของ “สาวทรานส์เจนเดอร์” หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “สาวประเภทสอง” มักจะถูกนำไปโยงเข้ากับคาแรคเตอร์ “ตลกขบขัน”

กับเรื่องนี้ ร็อค มองว่าคนทุกคนมีคาแรคเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่แบ่งแยกเพศ แต่สิ่งที่สาวทรานส์อย่างพวกเราดึงดูดให้เพื่อนๆ เข้ามาหา เพราะพวกเราเป็นคนที่มีความสุข และสนุกสนาน เพื่อนๆ ถึงอยากเข้ามาพูดคุยกับพวกเรา แต่ในมุมอื่นๆ แม้ว่าเราจะชอบความรื่นเริง ความสนุกสนาน แต่ไม่ได้อยากจะถูกมองว่าเป็นคนตลก ส่วนในเวลาทำงานก็จริงจังได้เหมือนกัน

ร็อค

สอดคล้องกับ ลูกไม้ ที่นำเสนอในอีกมุมว่า ด้วยความที่เราเป็นเพศทางเลือก เราต้องการเป็น “คนปกติ’ เพราะฉะนั้นในการที่จะเข้าหาทุกคนเราจึงพยายามที่จะทำให้ทุกคนมีความสุข เพื่อที่จะให้เขาอยู่กับเรา จนหลายคนมองว่าเราเป็นคนตลก

ซึ่งจริงๆ แล้วลูกไม้มองว่าสิ่งนี้คือ “ความสบายใจ” มากกว่าจะเป็น “ความตลก”

ทว่าอาจจะเป็นด้วยการนำเสนอของ “สื่อ” ส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสาวประเภทสองในมุมตลก ตอกย้ำภาพจำว่าเป็นสาวประเภทสองต้องตลก เช่นในภาพยนต์บางเรื่องแม้จะมีเนื้อหาสาวประเภทสองกู้ชาติ แต่ก็ยังเป็นสอดแทรกเรื่องความตลกเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปพูดถึงเส้นทางการเติบโตของพวกเธอแล้วก็เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความสุข โดยมีสิ่งหนึ่งที่ต่างเป็นเหมือนกันคือ “ไม่กินขนมได้ เก็บเงินไว้ซื้อครีม” เพราะขอสวยไว้ก่อน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image