บทสำรวจความอยู่ดี ผู้สูงอายุในยุคโควิด ทุกข์มากกว่าสุข!

ภาพประกอบผู้สูงอายุ

บทสำรวจความอยู่ดี ผู้สูงอายุในยุคโควิด ทุกข์มากกว่าสุข!

แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 กระนั้นการจะหยุดวงจรแพร่ระบาดของโควิดได้นั้น ประชากรร้อยละ 60-70 ของโลก หรือของประเทศนั้นๆ จะต้องได้รับวัคซีน ทำให้หลายประเทศต้องเพิ่มกำลังและแย่งชิงสิทธิในการซื้อวัคซีน จึงมีความเป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังคงมีอยู่จนถึงปี 2565 หรืออยู่ร่วมกับโควิดไปอีก 2 ปี

ซึ่งในกลุ่มประชากรทั้งหมด “ผู้สูงอายุ” นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด และมียอดเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้สำรวจความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุคโควิดทั่วประเทศ โดย รศ.ดร.วิภาภรณ์ โพธิศิริ และ ผศ.ดร.รักชนก คชานุบาล สรุปผลการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุในเขตเมืองมีความสุขลดลงเป็น 2 เท่าของผู้สูงอายุในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะโควิดส่งผลกระทบในด้านรายได้ ทำให้การจ้างงานลดลง มีหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการต้องจ่ายเพื่อดูแลบุตรหลาน เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต/โทรศัพท์ และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ผู้สูงอายุมีความกังวลว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวจะติดโควิดมากที่สุด รองลงมาคือกังวลว่าจะไม่มีเงินสำหรับซื้อของจำเป็น

สำรวจความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุคโควิดทั่วประเทศ
สำรวจความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุคโควิดทั่วประเทศ

เมื่อเจาะกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมือง กทม. พบว่าร้อยละ 75 เข้าถึงโครงการเยียวยา 5,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งต้องลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ แบ่งเป็น ร้อยละ 61.1 ทำไม่ได้แต่มีคนช่วย ร้อยละ 28.8 ทำไม่ได้และไม่มีคนช่วย ร้อยละ 7.5 ทำได้แต่ยุ่งยาก และร้อยละ 2.6 ทำได้เองทั้งหม

Advertisement

สะท้อนให้เห็นว่า “กลุ่มที่ทำไม่ได้และไม่มีคนช่วย” ก็ยังมีจำนวนไม่น้อย และเมื่อสำรวจต่อไปว่าความช่วยเหลือที่ได้รับ ตอบสนองกับความต้องการหรือไม่ พบว่าร้อยละ 61.5 ต้องการและได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่ร้อยละ 27.9 ไม่ต้องการแต่ได้รับความช่วยเหลือ ร้อยละ 5.8 ต้องการแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ และร้อยละ 4.7 ไม่ต้องการและไม่ได้รับความช่วยเหลือ

จากการสำรวจข้างต้นแสดงให้เห็นว่ายังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ “ต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับ” ขณะเดียวกันกลับมีผู้ที่ “ไม่ต้องการความช่วยเหลือแต่ได้รับ” ในสัดส่วนที่มากกว่า สะท้อนให้เห็นว่าโครงการของรัฐยังเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

สอดคล้องกับเสียงจากผู้สูงอายุในเขตเมือง อย่าง น้าสมาน ตัวแทนผู้สูงอายุชุมชนดินแดง กล่าวว่า ที่แฟลตดินแดงทุกคนอยู่แบบใกล้ชิดกันมาก แทบจะรู้จักกันทุกห้อง เมื่อมีโควิดมาก็มีหลายหน่วยงานมาช่วยเหลือ เช่น แจกข้าว ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งก็ช่วยได้มาก แต่ก็ยังมีกรณีที่ว่าทำไมคนบ้านนั้นฐานะดีกว่าแต่ได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่อีกบ้านฐานะยากจนกว่ากลับไม่ได้รับ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความช่วยเหลือที่เข้าถึงไม่ตรงจุด

เช่นเดียวกับ ป้าติ๋ม ตัวแทนผู้สูงอายุชุมชนคลองลัดภาชี ที่เผยว่า นโยบาย 20 ปีจะไม่มีความยากจน อาจจะไม่เป็นจริง เพราะหากอยากจะทำให้เป็นจริงต้องมีการลงพื้นที่และนำทางโดยคนในพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ด้วยยังมีหลายคนที่เข้าไม่ถึง อยู่ในซอกในมุมของชุมชน ซึ่งเขาไม่ทราบว่าสิทธิเหล่านี้ (โครงการของรัฐบาล) เขาก็มีสิทธิได้รับ เพราะเขาเป็นคนจนจริงๆ ที่เข้าไม่ถึง หากช่วยคนกลุ่มนี้ได้ ถึงจะเรียกได้ว่าช่วยเหลือคนจนเมืองได้จริงๆ กับเรื่องโควิด ทางออกของชุมชนคือต้องมีการจัดเก็บข้อมูลของทุกคน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง รายได้ โรคประจำตัว และต้องมีการอัพเดตทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อที่หน่วยงานซึ่งเข้ามาให้การช่วยเหลือได้ตรงจุด

ผศ.ดร.รักชนกเสนอแนะว่า ควรส่งเสริมการลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพทั้งผู้สูงอายุและสมาชิกครอบครัว จัดบริการในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น โทรเวชกรรม (Telemedicine) จัดที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ช่วยเหลือผู้สูงอายุให้เข้าถึงการสื่อสารออนไลน์ เน้นการเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม โดยการส่งเสริมบทบาทของชุมชน รวมไปถึงลดความยากจนของผู้สูงอายุและครอบครัว ป้องกันปัญหา “ความจนเมือง”

ผศ.ดร.รักชนก คชานุบาล
รศ.ดร.วิภาภรณ์ โพธิศิริ

ทั้งนี้ คำว่า “อยู่ดีมีสุข” อาจจะไม่มีมาตรฐานในการวัด แต่การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ก็เป็นการสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ดีมีสุขได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image