ยังต้องเข็นต่อ!!! ‘กม.ทำแท้งใหม่’ ให้ ‘สิทธิตัวอ่อน’ ที่ไม่มีจริงบนโลกนี้

ยังต้องเข็นต่อ!!! ‘กม.ทำแท้งใหม่’ ให้ ‘สิทธิตัวอ่อน’ ที่ไม่มีจริงบนโลกนี้

ยังไม่จบง่ายๆ กับ ‘กฎหมายทำแท้ง’ ที่แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ก็ยังไปไม่สุดทาง!!

เพราะยัง ‘ยัดเยียดความผิดให้ผู้หญิง’ ในมาตรา 301 และยัง ‘ขยัก’ จำนวนการตั้งครรภ์ถูกกฎหมายไว้ที่ 12-20 สัปดาห์ ทั้งที่องค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่า การทำแท้งที่มีความปลอดภัยสูงเมื่อให้บริการโดยแพทย์ สามารถทำได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์

รวมทั้งยังได้หยิบยก ‘สิทธิตัวอ่อนในครรภ์’ ขึ้นมาพิจารณาประกอบในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ด้วย

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เพื่อพิจารณาแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เปิดใจถึงเบื้องหลังการพิจารณาแก้ไขกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่นี้ว่า จากคะแนนเต็ม 10 ให้ 6 คะแนน แม้กฎหมายจะคืบหน้าระดับหนึ่ง เพราะกฎหมายเดิมไม่ให้ผู้หญิงทำแท้งเลย ขณะที่กฎหมายนี้ เขายังถือว่าการทำแท้งผิดกฎหมาย แต่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ในช่วง 12 สัปดาห์แรก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม อันนี้ก็ถือว่า ก้าวหน้าระดับหนึ่ง ซึ่ง กมธ.ที่ประชุมด้วย เสียงส่วนใหญ่ก็มีเหตุผล แต่หลายคนก็ยังยึดถือตามความเชื่อ เราก็พยายามอธิบายว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคิดว่าสิทธิทารกในครรภ์เหนือกว่าสิทธิตัวผู้หญิง

Advertisement

“กฎหมายยังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานผู้หญิงอยู่ และยังเอาเรื่องสิทธิซึ่งเขาใช้ว่า ทารกในครรภ์ มาเป็นสิทธิที่มองว่า มันใหญ่ มันสูงกว่า สิทธิของผู้หญิง ซึ่งที่จริงแล้ว สิทธิทารกในครรภ์มันไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ เพราะตามหลักของสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิอื่นๆ ทั้งหมด สิทธิจะเกิดขึ้นได้หลังการเกิด ต้องเกิดขึ้นมาเป็นบุคคลก่อนถึงจะมีสิทธิ เพราะฉะนั้น สิทธิทารกในครรภ์ หรือสิทธิตัวอ่อน สิทธิในท้องแม่ มันไม่มีจริง”

“แม้ว่าจะมีเรื่องสิทธิเด็กที่บอกว่า รัฐควรพึงดูแลทารกในครรภ์ตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงหลังเกิด แต่ตรงนั้นไม่ได้หมายถึงว่า ทารกในครรภ์มีสิทธิ แต่เขาให้รัฐดูแลแม่ ให้แข็งแรง ดูแลแม่เพื่อให้ทารกในครรภ์แข็งแรง เพื่อที่จะคลอดออกมาอย่างมีคุณภาพ”

ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง

Advertisement

“วิธีคิดอันนี้เกิดขึ้นเพราะความเชื่อทางศาสนา ที่เขาสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นความจริงชุดใหม่และทำให้คนเชื่อ ซึ่งเขาสู้กันในอเมริกา ในยุโรปมีการพูดเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และมีการทำเอกสารวิชาการที่เขียนชัดเจนว่า สิทธิทารกในครรภ์ไม่มีจริง”

รศ.ดร.กฤตยาขยายความต่อว่า ในหลักการและเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ จะพูดถึงทารกในครรภ์ว่า ม.301 จะต้องคำนึงถึงสมดุล คือ เดิมกฎหมายห้ามทำแท้ง ก็เท่ากับไม่เคารพสิทธิผู้หญิง แต่ถ้าให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์มากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงสิทธิทารกในครรภ์ไม่ได้

“ในตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ เขาก็เลยบอกว่า ยังไงก็ต้องเอาผิดผู้หญิง”

“ซึ่งเราก็เถียงในการอภิปรายในสภาว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอย่างมาก เนื่องจากว่า ผู้หญิงเขาต้องการยุติการตั้งครรภ์ เป็นการกระทำกับร่างกายตนเอง เพราะฉะนั้นการที่จะคิดว่าผู้หญิงเป็นอาชญากร มันเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ เพราะผู้หญิงเขาทำกับร่างกายตัวเอง มันไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้น การที่กฎหมายยังมี ม.301 ลงโทษผู้หญิง สำหรับเราแล้ว เราไม่พอใจอย่างยิ่ง กฎหมายยังไม่แคร์สิทธิจริงๆ ของตัวผู้หญิง”

“อันนี้ เป็นประเด็นที่ขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า เรายังไม่เห็นด้วย ยังไม่พอใจในระดับพื้นฐาน ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนให้เข้าใจประเด็นนี้ ซึ่งเราก็หวังว่าในอนาคตจะมีกฎหมายให้ยกเลิก ม.301 แล้วอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้ง โดยสำหรับเรา เรายึดตามองค์การอนามัยโลก ที่มีการศึกษาวิจัย ซึ่งศึกษาวิจัยในประเทศไทยด้วยและต่างประเทศว่า การยุติการตั้งครรภ์มันปลอดภัยได้ถึง 24 สัปดาห์”

รศ.ดร.กฤตยา (ขอบคุณรูปจาก สสส.)
แฟ้มภาพ

อ่าน : ‘เต้นลุยไฟ’ หน้ารัฐสภา ‘กลุ่มทำทาง’ ผนึกเครือข่าย จี้ยกเลิก ม.301-แก้กฎหมายทำแท้ง หลังเสียงถูกเมิน

อ่าน : ปลดล็อก ‘กม.ทำแท้ง’ จี้ยกเลิก ม.301 ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร มองมุมใหม่ ทำแท้ง=บริการสุขภาพ

อ่าน : สภา ไฟเขียว ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก หรือ “กฎหมายทำแท้ง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มีข้อสังเกตเพิ่มเติม ทางสภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา ซึ่งวันนี้ ครม.ได้รับทราบข้อสังเกตและเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไป

รศ.ดร.กฤตยาเผยว่า ในการร่างกฎหมายนี้ จริงๆ เราเสนอให้ยุติการตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ เพราะจากที่เราทำงานพบว่า มีผู้หญิงต้องการยุติการตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ จนถึง 20 สัปดาห์กว่าๆ จำนวนมาก แต่ในข้อเท็จจริง ในบริการของรัฐ มีแพทย์ของรัฐ และบริการของรัฐแค่ 2 แห่งเท่านั้น ที่ให้บริการหลัง 12 สัปดาห์ จนถึง 20 สัปดาห์

“เราเสนอว่า พวกนี้ต้องเป็นเรื่องบริการสุขภาพ การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม แต่คือบริการสุขภาพ ก็คือเป็นเรื่องของผู้หญิงที่เขาตั้งครรภ์ เขาไปเจอหมอ คุยกับหมอ และถ้าเราทำการประชาสัมพันธ์อย่างดี และผู้หญิงรู้ตัวเร็ว ต้องการยุติการตั้งครรภ์ เขาก็จะไปรับบริการเร็วขึ้น”

“ซึ่งเราได้ระบุลงไปในข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ต้องประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และให้มีสายด่วนในการให้บริการข้อมูลผู้หญิงรอบด้าน และเน้นการรักษาความลับ เพื่อสร้างความไว้วางใจจากผู้รับบริการ”

เน้นทุกเรื่อง และที่ต้องไม่ลืมคือ “ประชาสัมพันธ์” ให้รู้อย่างทั่วถึงกัน

“จากการทำงานมานาน เราพบว่าคนยังไม่รู้เรื่องนี้อีกเยอะ แม้แต่ตำรวจยังคิดว่าทำแท้งแบบไหนก็ผิดหมด ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าทำแท้งผิดหมด และคนส่วนใหญ่เวลาพูดเรื่องนี้ออกสื่อมักโยงไปเรื่องศีลธรรม การทำแท้งเท่ากับการฆ่า แต่ว่าวิธีคิดแบบนี้ มันผ่อนคลายลงไปเยอะ มันไปมองไวยากรณ์ของสังคม มันไปมองเรื่องสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นทิศทางที่ดี”

“เพราะฉะนั้น ในอนาคตเราต้องทำความเข้าใจให้สังคมเข้าใจมากขึ้นว่า สิทธิตัวอ่อน สิทธิทารกในครรภ์ เป็นสิทธิที่ไม่มีจริง มันถูกสร้างขึ้นมา”

ดังนั้น “เราต้องเข็นต่อ เราต้องทำงานทะลุทะลวงความเชื่อต่อไปจากที่ทำงานมาได้ระดับหนึ่ง เพราะการที่จะปรับเปลี่ยนฐานความเชื่อเก่าๆ ทำยาก เราต้องทำงานต่อไปว่า การทำแท้งไม่ควรเป็นอาชญากรรม กฎหมายมันต้องแก้ต่อว่า ไม่เอาผิดผู้หญิง” รศ.ดร.กฤตยากล่าว

โดย “มายด์เซต” ที่อยากให้สังคมเปลี่ยนเรื่องการทำแท้ง คือ อยากให้เข้าใจว่าการทำแท้งคือบริการสุขภาพ และการทำแท้งก็เหมือนภาวะทางสุขภาพเหมือนเรื่องอื่นๆ เหมือนไม่สบาย แล้วต้องไปหาหมอ แต่เป็นการป่วยไข้แบบต้องไปหาหมอ เมื่อไปหาหมอแล้วก็เป็นเรื่องที่หมอและผู้หญิงต้องคุยกัน ต้องให้บริการ ต้องตรวจร่างกาย เราสนับสนุนด้านนี้

“สิ่งที่ควรจะมี คือ การมีการให้บริการ แต่เป็นการให้คำปรึกษาทางเลือกที่หมายถึงว่า เป็นการให้คำปรึกษาแบบฟังผู้หญิงอย่างตั้งใจไม่ตัดสิน เก็บความลับ ให้ข้อมูลรอบด้าน และให้ผู้หญิงเป็นคนตัดสินทางเลือกเอง ห้ามไปโน้มน้าวว่า อย่าทำแท้ง อันนี้ก็สำคัญ แล้วต้องเข้าใจ ต้องไม่ตีตรา ต้องไม่กระทำความรุนแรงซ้ำต่อผู้หญิง”

รศ.ดร.กฤตยาทิ้งท้าย ถ้าจะมีการแก้กฎหมายในอนาคตต่อไป อยากให้เพิ่มเรื่องอนุญาตให้ทำแท้งถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ และลบมาตรา 301 ไม่เอาผิดผู้หญิง

แฟ้มภาพ

สารพัดปัญหาผู้หญิงทำแท้ง ‘สังคมนึกไม่ถึง’

จากรายงานเฝ้าระวังการทำแท้งประเทศไทย พ.ศ.2560 สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ระบุ จำนวนผู้ป่วยทำแท้งที่มีเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ดังนี้

1.มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร 399 คน

2.การตั้งครรภ์เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ 255 คน

3.ยังเรียนไม่จบ 210 คน

4.มีบุตรพอแล้ว 176 คน

5.ยังไม่พร้อมที่จะแต่งงาน 157 คน

6.ฝ่ายชายไม่รับผิดชอบ 89 คน

7.มีบุตรถี่เกินไป 67 คน

8.หย่า/เลิกกับสามี/เพื่อนชาย ภายหลังจากการตั้งครรภ์ 41 คน

9.ฝ่ายชายมีครอบครัวแล้ว 35 คน

10.มีปัญหากับญาติของฝ่ายชาย 33 คน

11.ตั้งครรภ์กับชายอื่นที่ไม่ใช่สามีหรือเพื่อนชาย 20 คน

12.มีปัญหากับสามี/สามีมีผู้หญิงใหม่ 9 คน

13.อายุมากแล้ว 7 คน

14.ตั้งครรภ์เนื่องจากโดนข่มขืน 6 คน

15.สามี/เพื่อนชายติดยาเสพติด 4 คน

16.สามีติดคุก 3 คน

17.ถูกสามีทำร้ายร่างกาย/กระทำความรุนแรง 2 คน

18.สามีที่มีอยู่แล้วพิการ 2 คน

19.สามีเสียชีวิต 1 คน

20.ไม่กล้าบอกแฟนว่าตั้งครรภ์ 1 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image