‘วิกฤตโควิด’ ทำขยะพลาสติกพุ่ง

‘วิกฤตโควิด’ ทำขยะพลาสติกพุ่ง

พลาสติกนั้นมีอายุยาวนาน แต่กลับมีอายุการใช้งานที่สั้นมาก จึงถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยในจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมด มีเพียง 25% ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือ 75% เป็นขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งขยะพลาสติกแต่ละชนิดมีระยะเวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปี เช่น หลอดพลาสติก 400 – 450 ปี ถุงพลาสติก 450 – 500 ปี ผ้าอ้อม 500 ปี และกล่องโฟม ไม่ย่อยสลาย

เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ หน่วยงานรัฐจึงมีการรณรงค์แคมเปญแบนผลิตภัณฑ์พลาสติก 3 ชนิด คือ กล่องโฟม แก้วน้ำพลาสติก และหลอดพลาสติก เพราะมองว่าได้ผลและรวดเร็วที่สุด

กระนั้น วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงแต่ทำให้แคมเปญดังกล่าวหยุดชะงัก แต่ยังอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

Advertisement

โดยในหนังสือ “จับตาทิศทางสุขภาพไทย ปี 2564” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า เมื่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ควบคุมการเดินทางและการรวมตัวของคนในพื้นที่สาธารณะ หรือจำง่ายๆ ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ส่งผลให้สถานบริการปิดชั่วคราว “ธุรกิจรับส่งอาหาร” หรือ “ฟู้ด ดิลิเวอรี” ได้รับความนิยมมากขึ้น

สิ่งที่ตามมาก็คือจำนวนขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยประเมินว่า ต่อ 1 ยอดการสั่งซื้อจะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น อาทิ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงใส่น้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด

Advertisement

ขณะเดียวกัน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังประเมินว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน โดยจำนวนนี้ยังไม่รวมขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่คาดว่าจะมีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยราว 1.5-2 ล้านชิ้น/วัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นถังขยะของโลก อันเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาตลอดคือการ “นำเข้า” ขยะพลาสติกมาในประเทศไทย โดยพบว่าระหว่างปี 2557 – 2561 มี 81 ประเทศส่งออกขยะพลาสติก เศษตัด และพลาสติกใช้แล้วมายังประเทศไทย รวมกันสูงถึง 906,521 ตัน

ซึ่งในที่สุดในที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2/2563 ก็ได้มีมติให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะยกเลิกการนำเข้าและปราศจากขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ 100%

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะพลาสติกมาพร้อมกับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลดปริมาณลง กระนั้นในส่วนของทางออก รัฐบาลไทยก็ได้หาวิธีลดประมาณขยะพลาสติก คือ การออกโร้ดแมป ให้ “เลิกใช้” พลาสติก พร้อมตั้งเป้าหมายว่าจะนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ 100% ในปี 2570

แต่เพียงแค่การดำเนินของภาครัฐอาจไม่เพียงพอ ในส่วนของภาคเอกชนและประชาชนที่ผ่านมาก็มีโครงการส่งเสริมให้แยะขยะก่อนทิ้งขยะพลาสติกลงถัง เพื่อง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล และเพิ่มจุดติดตั้งถังขยะให้มากขึ้นด้วย

ปัญหาขยะไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image