ถอดบทเรียน ‘นักการเมืองหญิง’ เมื่อโลกออนไลน์หล่อเลี้ยงความรุนแรง

ถอดบทเรียน ‘นักการเมืองหญิง’ เมื่อโลกออนไลน์หล่อเลี้ยงความรุนแรง

สังคมก้มหน้า อธิบายถึงลักษณะสังคมไทยในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำสมัย เวลาเดินสวนทางกันบนทางเท้าก็แทบไม่ได้สบตากัน เพราะคนส่วนใหญ่จดจ่ออยู่กับตัวตนเสมือนที่อยู่ในโลกออนไลน์ โลกอีกใบที่ถูกย่อมาอยู่ในมือ

และหากคว้าไหล่ใครสักคนแล้วถามความคิดเห็นของพวกเขาที่มีต่อโลกออนไลน์ แนวโน้มของคำตอบก็มักจะเป็น “เชิงบวก” โดยมองพื้นที่เกิดใหม่นี้ว่าเอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา ข้อมูลข่าวสาร กระทั่งนำไปสู่การนำเสนอประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันได้ด้วย

แต่ทราบหรือไม่ว่า โลกออนไลน์ เป็นพื้นที่การสื่อสารความเกลียดชัง และอคตินานัปการ เพราะความเกลียดชังทุกประเภทที่เราเห็นในชีวิตประจำวันได้ย้ายเข้าไปสู่พื้นที่ออนไลน์แล้ว ฉะนั้นการมองพื้นที่ออนไลน์ในเชิงสัมพันธ์กับความรุนแรง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายงานการวิจัยหัวข้อ “เกลียด โกรธ กลัว: ความรุนแรงทางเพศ/เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์” ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวสตรี ได้อย่างน่าสนใจ ดังว่า

Advertisement

พื้นที่ออนไลน์ มี 2 ลักษณะสำคัญที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง คือ

1.สภาพนิรนาม สามารถที่จะสร้างตัวตนในโลกออนไลน์โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวตนในชีวิตจริงเลยก็ได้ จะโตกว่า หรือสาวกว่าก็ได้เช่นกัน ฉะนั้นในสภาพนิรนามแบบนี้จึงทำให้เกิด การขาดความยับยั้งชั่งใจ (Disinhibition effect) ไม่ต้องระมัดระวังอะไร ไม่ต้องสนใจมารยาททางสังคม ด่าได้เต็มที่ ไม่กลัวว่าคนจะรู้ว่าเป็นใคร ไม่กลัวถูกด่ากลับ เพราะยังไงก็มาไม่ถึงตัวเรา สภาพแบบนี้ทำให้ “คนไม่ยั้ง” ที่จะแสดงความเกลียดทุกประเภท และบางครั้งอาจจะแสดงอารมณ์ออกไปแรงกว่าที่รู้สึกจริงๆ ด้วย

2.พื้นที่ออนไลน์ขยายการเอื้อม สามารถเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวในชีวิตของผู้คน จับตาดู ในลักษณะที่ตัวจริงทำไม่ได้ขนาดนั้น

ทั้งนี้ ความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์ มักจะเป็นลักษณะของการเหยียดหยาม ประณาม ด่าทอ ลดทอนคุณค่าของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเจ็บใจ เสียใจ เจ็บปวด ทำร้ายตัวตนและจิตวิญญาณของคนอื่น ซึ่งเป็นรูปแบบของความรุนแรงที่มักจะถูกมองข้าม เพราะไม่ทำให้เกิดบาดแผลทางกาย ทว่าพื้นที่ออนไลน์ปัจจุบันเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงรูปแบบนี้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือ โครงเรื่องที่หยิบยกมาใช้ในการประณามมีฐานมาจากประเด็นเรื่องเพศสภาพ และเพศวิถี ในรูปแบบต่างๆ

ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่า รศ.ดร.ชลิดาภรณ์เลือกเก็บข้อมูลจากกลุ่มนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวสตรี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจำนวนมาก ในหลายรูปแบบ อาทิ ทำร้ายด้านอารมณ์ด้วยการตำหนิ ประจาน ขู่ฆ่า ขู่ทำร้าย ขู่ว่าจะข่มขืน ติดตาม และเฝ้ามอง ผ่านช่องทางยอดนิยมอย่าง “สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย” เพื่อให้รู้สึกอับอาย

เพื่อให้พวกเธอ “เงียบ” หรือ “หุบปาก” และละจากสิ่งที่ผลักดันหรือดำเนินการอยู่

ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

1.นักการเมืองหญิงมักถูกโจมตีด้วยเรื่องของร่างกาย และเสื้อผ้า ถูกยกมาเป็นประเด็นวิพากษ์หลายครั้ง เช่น สีขาวดำไม่เหมาะสม ไปจนถึงรูปแบบการแต่งกาย ขณะที่นักการเมืองหญิงในอเมริกาเลือกใส่เสื้อผ้าสีขาวไปร่วมงานสำคัญอยู่บ่อยครั้ง เพราะสีขาวคือสัญลักษณ์ของคนที่ต่อสู้เพื่อการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงในอเมริกา มากไปกว่านั้น นักการเมืองหญิงไทยมักจะถูกวิพากษ์เรื่องความสวยอยู่เสมอ ใครสวยกว่า ใครสวยหรือไม่สวย กระทั่งถูกบูลลี่เรื่องรูปลักษณ์เสียด้วยซ้ำ

2.พฤติกรรมในทางเพศ นักการเมืองหญิงที่มีบทบาททางการเมืองแทบทุกคนไม่เคยรอดพ้นจากการถูกสถาปนาเป็นเมียน้อยของนักการเมืองชาย จนแทบกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

3.การประจานเรื่องเพศ มีการปล่อยคลิปแล้วตำหนิว่ามีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เพียงแค่พวกเธอมีความต้องการทางเพศ หรือมีการร่วมเพศ ก็จะไม่มีสิทธิที่จะพูดในประเด็นทางการเมือง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ในต่างประเทศจะเรียกว่า Slut Shaming มักจะเกิดขึ้นกับนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวผู้หญิง เพื่อปิดปาก

4.การใช้ภาพลักษณ์ และการกระทำของนักการเมืองในการประเมินว่าสถานการณ์ที่เจอนับว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่ อธิบายได้ในกรณีที่มีนักการเมืองหญิงบางคนถูกบูลลี่หรือถูกคุกคามทางเพศ แล้วจะมีคนบอกว่า “นักการเมืองหญิงคนนี้กวนประสาท สร้างความปั่นป่วน เพราะฉะนั้นก็สมควรที่จะโดนกระทำความรุนแรง” ซึ่งชวนให้ฉุกคิดว่า ความรุนแรงทางเพศแบ่งระดับตามผู้ถูกกระทำเช่นนั้นหรือ หากว่า “ใช่” ประเด็นนี้จึงสำคัญ เพราะต่อไปหากการกระทำไหนจะนับว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลที่ถูกกระทำเป็นใคร

5.แชร์ประสบการณ์ผ่านพื้นที่ออนไลน์ เช่น กรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของนักการเมืองชายที่มีภาพลักษณ์ดีมาตลอด ความเห็นส่วนมากก็จะเชื่อทางฝ่ายชายมากกว่า ขณะที่ผู้ถูกกระทำหลายคนก็จะคอมเมนต์เล่าประสบการณ์ที่พวกเธอถูกกระทำในพื้นที่ออนไลน์ มากกว่าจะเล่าให้คนรอบข้างฟัง โดยหยิบยกกรณีของนักการเมืองหรือคนดังมาเปรียบเทียบ

6.ความเป็นแม่ถูกนำมาใช้โจมตีนักการเมืองหญิง เช่น ประโยคที่ว่า ทำแบบนี้ ไม่กลัวลูกอายหรอ หรือ ตัวเองเป็นแม่ทำแบบนี้ ไม่มีสิทธิจะไปสอนลูกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาระบุอีกว่า กลุ่มคนที่หยิบยกเรื่องเพศสภาพมาทำร้ายคนอื่นนั้น มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหนก็ไม่ควรทำร้ายกัน

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ยังได้รวบรวมข้อเสนอต่อประเด็นดังกล่าว ไว้ดังนี้

1.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงต้องไม่เงียบเมื่อถูกกระทำ และควรจะนำเสนอประเด็นนี้ให้สังคมเห็น รวมถึงมีพื้นที่และกลไกให้ผู้หญิงได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยไม่แบ่งพรรค

2.สื่อมวลชนควรลดประเด็นในการผลิตซ้ำและกระจายความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนพิจารณาก่อนนำเสนอข่าว เข้าใจประเด็นและจัดหากลไกในการจัดการร่วมกัน

3.ลดการพึ่งพารัฐบาลให้ออกกฎหมายมากำกับ เพราะในอีกทางหนึ่งหมายถึงยอมให้รัฐมาลดทอนเสรีภาพ การคัดค้านหรือตั้งคำถามจะทำได้ยากขึ้น จึงควรรักษาเสรีภาพในการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม และได้คิดว่าจะจัดการกับความรุนแรงออนไลน์นี้ได้อย่างไร

“ที่สำคัญคือประชาชนมีความสามารถในการคิดร่วม อย่าหยุดคิด” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image