กางสมุดประสบการณ์ ‘ส.ส.’ เบื้องหลังฉากอันศักดิ์สิทธิ์ ปิดไม่มิดอคติทางเพศ

กางสมุดประสบการณ์ ‘ส.ส.’ เบื้องหลังฉากอันศักดิ์สิทธิ์ ปิดไม่มิดอคติทางเพศ

“ส.ส.ข้ามเพศ (LGBTQ) คนแรกของสภาผู้แทนราษฎรไทย”

เป็นอีกตำแหน่งพ่วงท้ายชื่อของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หรือ กอล์ฟ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล อยู่เสมอ และด้วยภาพลักษณ์การแต่งกายอย่างบรรจง แปลกใหม่ สวมแว่นตากรอบโตๆ ดูเข้าถึงง่าย มั่นใจและทันสมัย ทำให้คนทั่วไปจดจำภาพของเธอได้ดี

และเมื่อได้ฟังเรื่องราวของเธอ ก็บอกได้เลยว่า เธอคือหญิงแกร่ง ที่ต่อสู้กับแรงต้านทาน ถ้อยคำเสียดสี เหยียดหยาม มาตลอดตั้งแต่เบนสายอาชีพจากวงการบันเทิงสู่ถนนสายการเมือง

Advertisement

 

โดยเธอเล่าให้ฟังถึงฉากชีวิตที่ต้องรับมือกับความเกลียดชัง อคติทางเพศนานัปการมาอย่างโชกโชน ที่แม้แต่สถานที่อย่างรัฐสภาก็ยังหลบไม่พ้น ในเวทีเสวนา “ความรุนแรงทางเพศจากโลกออฟไลน์ถึงออนไลน์” ณ ห้องกมลพร โรงแรมสุโกศล

ก่อนก้าวสู่วงการการเมือง ธัญญ์วาริน คว่ำหวอดในวงการบันเทิง เป็นทั้งผู้กำกับและนักเขียนบทมือทอง เรียกว่าทำงานอยู่หลังกล้องมาตลอด ภาพของเธอจึงไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก กระทั่งผลงานกำกับของเธอ เรื่อง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” (Insects in the Backyard) ถูกแบนห้ามฉายในประเทศด้วยมีเนื้อหาท้าทายประเด็นสังคมในหลายเรื่อง อาทิ เซ็กซ์ ครอบครัว และความหลากหลายทางเพศ

Advertisement

อ่าน : 7 ปีแห่งการรอคอย ‘Insects in the Backyard’ ถึงเวลาแมลงเฉิดฉายหน้าบ้าน
อ่าน : ฉายแล้ว! ‘Insects in the Backyard’ รอบแรก หลังโดนแบน7ปี ผกก.ร่ำไห้-เปิดใจ

“ตั้งแต่หนังโดนแบน ชื่อเสียงก็เป็นที่รู้จักขึ้นมาพร้อมๆ กับรู้จักการโดนทำร้ายจิตใจทางออนไลน์ครั้งแรก ทั้ง “สมควรแล้ว ก็มึงทำหนังเลว มึงทำหนังชั่ว ก็สมควรโดนแบน” ทุกคนรุมด่าทั้งที่บางคนยังไม่เคยดูหนังของดิฉันเลย” กอล์ฟเล่าถึงแรงต้านจากสังคมระลอกแรก

แมลงรักในสวนหลังบ้าน

ต่อมาหลังเจ้าตัวประกาศว่า “ขออาสาเป็น ส.ส.กะเทยคนแรกของประเทศไทย” ก็ยังโดนวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า “ตัวเองยังไม่ชัดเจนในตัวเองเลย แล้วจะมาเป็น ส.ส.ได้ยังไง จะมาบริหารบ้านเมืองได้ยังไง”

แม้กระทั่งในวันที่ถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส.แล้ว ก็ยัง “ถูกด่า” เหมือนเดิม ซึ่งก็มีมาหลายรูปแบบทั้งถ่ายรูปเธอ แล้วไปโพสต์ด่าในเฟซบุ๊ก บางคนก็สร้างสรรค์ถึงกับพยายามแต่งกลอนด่าก็มี

“แรกๆ ก็ตามอ่าน กดไลค์ให้บ้าง แต่หลังๆ เยอะเกินก็เลยปล่อยผ่าน อ่านไม่ไหว” ธัญญ์วารินกล่าวแกมหยอกขำๆ

ทั้งนี้ ประเด็นที่คนวิพากษ์วิจารณ์เธอมากที่สุดยังคงเป็นเรื่อง “เพศสภาพ”

ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นคือ ส่วนที่เธอพบเจอในออนไลน์ ขณะเดียวกันในโลกออฟไลน์ก็ไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในพื้นที่ “รัฐสภา”

กอล์ฟ เผยว่า ในวันแรกที่เข้าทำงานรัฐสภาในฐานะ ส.ส.เธอตกเป็นประเด็นเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสม แต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิด ถูกพูดถึงทั้งนอกและในสภา ขุดไปถึงระเบียบต่างๆ แม้ว่าสุดท้ายจะไม่ได้มีการห้ามเธอแต่งหญิงก็ตาม แต่ก็มีการตำหนิถึง

“คิดมาตลอดว่า พื้นที่ในสภาน่าจะเป็นที่ที่เคารพสิทธิมนุษยชนมากที่สุด กลับกลายเป็นว่าพื้นที่นี้แหละ มีคนจับจ้องการทำหน้าที่ของเราตลอด เหมือนมีครูปกครองที่คอยเช็กว่า ชุดนี้โป๊นะ ทำไมรัดก้นแน่นขนาดนี้ คอยตรวจเสื้อผ้าดิฉัน และ ส.ส.ผู้หญิงคนอื่นๆ ก็คิดเหมือนกันว่า ทำไมถึงมีคนเดือดร้อนเรื่องการแต่งกาย แต่ไม่มีใครเดือดร้อนว่า ส.ส.จะทำงานให้มีประสิทธิภาพยังไงมากกว่า รู้สึกไม่มีความสุขกับการถูกตรวจสอบเรื่องเสื้อผ้า ส.ส.ชายในอดีตพรรคของดิฉันก็โดนบ่อย เช่น ทำไมไม่ใส่เนกไท” อดีต ส.ส.เล่า

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่ไม่คิดว่าจะพบเจอในพื้นที่อันทรงเกียรติ เช่น มี ส.ส.ผู้ชายท่านหนึ่ง ท่าทางเฟรนด์ลี่ ดึงเธอไปแนะนำตัวกับ ส.ส.ท่านอื่น ทว่ามือก็ลูบลงจากแผ่นหลังลงไปที่บั้นท้าย ตอนนั้นตกใจมาก จึงรีบหลบฉากออกมา รู้สึกว่า “ทำเกินไป”

หรือจะเป็นเหตุการณ์ในห้องอาหารรัฐสภา มี ส.ส.ผู้ชายท่านหนึ่งมาทัก บอก “เดี๋ยวผมจะให้รางวัลคุณนะ รางวัลการแต่งกาย” ดิฉันก็ “ขอบคุณนะคะ” แล้วเขาก็พูดต่อว่า “รางวัลการแต่งกายยั่วเพศดีเด่น” ตอนนั้นหน้าชา แล้วก็พูดไม่ออกจนต้องเดินหนีออกจากโต๊ะมา

“รู้สึกว่าไม่ให้เกียรติดิฉันเลย ไม่ว่าจะพูดจริง หรือพูดเล่นก็ไม่สมควร”

หลังเผชิญกับการไม่ให้เกียรติจากอคติทางเพศมาหลายต่อหลายครั้ง ธัญญ์วาริน ให้ความเห็นว่า สังคมไทยไม่ได้ให้ค่าความเป็นมนุษย์ของคนหลากหลายทางเพศเท่ากับผู้หญิง หรือผู้ชายอยู่แล้ว ทั้งในทางวัฒนธรรม การศึกษา การแพทย์ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับในความเป็นมนุษย์เลย สังคมไทยยังให้คุณค่ากับอวัยวะเพศมากกว่าความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเวลาที่ดิฉันแสดงตัว หรือพูดออกไปด้วยความภาคภูมิใจถึงวีถีทางเพศ ก็จะมีผลกระทบแน่นอน

แม้ว่าจะเจอมาเยอะ แต่ธัญญ์วารินก็ไม่เคยคิดที่จะ “หยุด”

เธอยอมรับว่า รู้สึกเจ็บปวดเวลาโดนด่า แต่ในความเจ็บปวดนั้นมันมีประโยชน์ เหมือนถูกบูชายัญ ที่หากไม่มีคนออกมายืนให้ด่า ก็จะไม่มีคนออกมาปกป้องและทำความเข้าใจในสังคม เมื่อก่อนเวลาโดนด่า โดนทัวร์ลงจะกลัวมากๆ แต่ตอนนี้เข้มแข็งขึ้นเยอะมาก เพราะเมื่อดิฉันอยู่ในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับความเห็นต่างให้ได้ด้วย ไม่ใช่ยอมรับแค่คำชม

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว แต่เธอยังยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยมองว่ากลุ่มคนที่ด่าทอ หรือมีอคติทางเพศ ใช้ความรุนแรงในโลกออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ตามแต่ ล้วนเป็นผลผลิตจากสังคมที่ไม่ได้ปลูกฝัง หรือสอนให้เข้าใจถึงพื้นฐานการให้เกียรติกัน พื้นฐานความเท่าเทียมของมนุษย์ ทั้งยังเป็นผลจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ รองลงมาคือผู้หญิง ส่วนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้นอยู่ท้ายสุด

ฉะนั้นการต่อสู้ของเธอ จึงเป็นไปเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมที่จะช่วยให้เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศหลุดออกจากการถูกกดทับ ทำให้พวกเขากล้าที่จะยอมรับและเปิดเผยได้อย่างภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

คนเท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image