ละครมีฉากข่มขืน ‘ความล้าหลัง’ ที่ ‘สังคมแบน’

ละครมีฉากข่มขืน ‘ความล้าหลัง’ ที่ ‘สังคมแบน’

ในยุคสมัยที่คนไทยให้ความสำคัญเรื่อง “ความเสมอภาคระหว่างเพศ” การผลิตซ้ำฉากละครข่มขืนเป็นเรื่องที่ “ล้าหลัง” ไปแล้ว

แต่ก็ยังไม่วายที่ละครไทยบางเรื่องยังไม่ปรับตัว อีกทั้งยังนำมารีรันใหม่ ผลิตซ้ำความรุนแรงและการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ล่าสุดกับละครดังเรื่องหนึ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ถึงขนาดออกมา “แบน” ผู้ผลิตที่ยังปล่อยให้มีฉากความรุนแรงออกมาได้

เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดเสวนา “หยุดฉากข่มขืนผ่านจอ หยุดผลิตซ้ำความรุนแรงในสังคมไทย” ที่เดอะฮอลล์

Advertisement

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาละคร และรายการทีวีที่ไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยวิธีการสุ่มเก็บข้อมูลจากช่องต่างๆ ที่ออกอากาศตั้งแต่ ปี 2550-2564 พบว่าละครที่ออกอากาศในช่วงเวลา 20.30 น. และหลายเรื่องมีการรีรัน เนื้อหาละครส่วนใหญ่ใช้การข่มขืน สร้างความโรแมนติกให้พระเอกนางเอกและจบแบบ Happy Ending

“ทั้งที่ความเป็นจริง เคสที่ถูกข่มขืน ส่วนใหญ่ถูกกระทำจากคนใกล้ชิด ไม่มีเคสไหนที่จบแบบ Happy Ending อีกทั้งเนื้อหาละครใช้การข่มขืนสร้างความสะใจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับนางร้ายตัวอิจฉา ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรมีใครถูกข่มขืน และการข่มขืนไม่ใช่วิธีการลงโทษ แต่เป็นอาชญากรรมทำลายความเป็นมนุษย์”

“ส่วนเนื้อหาละคร รายการทีวีใช้การคุกคามทางเพศสร้างความตลกเฮฮา ทั้งรายการทอล์กโชว์และรายการเกมส์โชว์มักเล่นมุขตลกลักษณะคุกคามทางเพศผู้ร่วมรายการหรือแขกรับเชิญผู้หญิง ทำให้ปัญหาการคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้เสียหายจะรู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย ขณะที่การผลิตซ้ำเป็นมายาคติผิดๆ สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืน ทำให้สังคมมองเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งเนื้อหาของละครมีการโทษผู้เสียหายคือโทษฝ่ายหญิงด้วยการทับถมคำพูดรุนแรง และมีการตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกข่มขืน เป็นการตีตราว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ

ทัศนคติแบบนี้จะทำให้ผู้ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ไม่แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งข้อมูลจากการให้คำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศ มีจำนวน 36 กรณี แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีเพียง 14 กรณี นอกนั้นเลือกที่จะไม่ดำเนินการ หรือใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ย ย้ายที่อยู่”

“การข่มขืน คืออาชญากรรม เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ละครไม่ควรสนับสนุนและไม่ควรตอกย้ำให้ยอมรับคุ้นชินกับการข่มขืนผ่านพระเอก-นางเอก-นางร้าย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอีกหลายประเด็นด้วย”

จรีย์ เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาว่า ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างมาตรฐานและกติกาเปลี่ยนแปลงเนื้อหาละครไม่ให้ผลิตซ้ำ หยุดรีรันละครที่มีเนื้อหาผลิตซ้ำมายาคติผิดๆ เกี่ยวกับการข่มขืน ควรมีหน่วยงานกลางตรวจสอบเนื้อหาและโครงเรื่องของละครตั้งแต่ก่อนกระบวนการผลิต เชิญผู้ผลิตละคร และสถานีโทรทัศน์ ทีวีดิจิทัล

รวมถึงช่องสื่อออนไลน์ที่มีละครร่วมทำความเข้าใจยุติเนื้อหาละครที่ไม่สร้างสรรค์และสร้างทัศนคติที่ผิดๆ เกี่ยวกับการข่มขืนและการคุกคามทางเพศ โดยเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนหาข้อสรุปที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง และขอให้ประชาชนช่วยกันรณรงค์แสดงออกไม่สนับสนุนละครรายการที่มีลักษณะทำลายความเสมอภาคระหว่างเพศ

 

ขณะที่ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัฒนธรรมความบันเทิงในละครของไทย ทุกเรื่องให้อำนาจผู้ชายมากเกินไปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกมิติ เช่น อำนาจร่างกายที่เหนือกว่าคนอื่น อำนาจสถานะทางเศรษฐกิจ อำนาจในครอบครัว อำนาจในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทำให้เกิดความรุนแรง โดยไม่มีการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเพศ

“ละครเป็นโลกแห่งแฟนตาซีที่หลุดจากความเป็นจริง เพราะสามารถเติมแต่งให้โอเวอร์ เพิ่มอรรถรสและเพิ่มอำนาจให้ผู้ชายทำสิ่งชั่วร้ายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้การข่มขืนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวละครไม่เคยถูกลงโทษตามกฎหมาย ทั้งที่ความจริงการข่มขืนคืออาชญากรรม ไม่ใช่ความรักโรแมนติก และไม่ใช่ความสนุกสะใจ ทำให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

ส่งผลเกิดระบบปิตาธิปไตยเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมให้โลกแฟนตาซีถูกเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนดูจนเป็นการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่มาทำร้ายรังแกข่มเหงผู้หญิงในโลกความเป็นจริง เพราะละครมีอิทธิพลมากมาย กว่าเราจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามในประเด็นนี้ก็มีผู้หญิงถูกข่มขืนมาต่อเนื่องตั้งแต่มีละครไทย ซึ่งสังคมเพิ่งตื่นก็เมื่อปี 2557 แต่มาถึงวันนี้ละครหลายเรื่องก็ไม่เปลี่ยนแปลง อ้างเหตุผลเดิมๆ เช่น เรตติ้งและโทษคนดูว่าชอบดูละครแบบนี้”

“วันนี้ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพลเมืองในโซเชียลมีเดียมีความเข้มแข็งมากขึ้น ลุกขึ้นมาติดแฮชแท็กแบนละครไทยที่มีเนื้อหารุนแรง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองรวมทั้ง กสทช. ยังตามไล่หลัง ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงานใหม่ อย่าตั้งรับอย่างเดียว แต่ต้องทำงานเชิงรุกพร้อมภาคประชาสังคม อย่ารอแต่จะให้ใครมายื่นเรื่องร้องเรียน ต้องเรียกฝ่ายผลิตละครและ ผอ.สถานีมาพูดคุย เพราะมีอำนาจตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงฉากในละครไทยที่ล้าหลังให้มีความก้าวหน้า ลงโทษผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกคนทั้งพระเอกและผู้ร้าย รวมถึงเหล่าทุนนิยมหรือสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนต้องเพิ่มจิตสำนึกให้มาก ควรสนับสนุนคอนเทนต์ดีๆ อย่าคิดแต่เรตติ้งโฆษณายอดขายเพียงอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นทุนนิยมที่ชั่วร้าย” ดร.ชเนตตีกล่าว

จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสื่อทุกประเภท ที่นำเสนอในเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศไม่เหมาะสม กำหนดแนวทางเฝ้าระวัง เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ถูกต้อง พร้อมจะทำเอ็มโอยูร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กสทช. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อตามกฎหมาย

“ขณะนี้ภาคประชาชนมีอิทธิพลสูง ควรช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังไม่สนับสนุนละคร โฆษณา หรือข่าวต่างๆ แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ที่มีการละเมิดสิทธิและคุกคามทางเพศ จะทำให้สื่อเหล่านั้นตระหนักมากขึ้น ว่าสังคมไม่ยอมรับ แต่หากเรายังเพิกเฉยการผลิตซ้ำก็จะเกิดขึ้นอีก และทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมตระหนักส่งเสริมสื่อดีๆ และสร้างสรรค์ต่อสังคม” อธิบดีกรมกิจการสตรีทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image