เสริม ‘พลังสตรี’ สู่ความ ‘เสมอภาค’

เสริม ‘พลังสตรี’ สู่ความ ‘เสมอภาค’

สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรณรงค์ให้สตรีได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิอันพึงได้อย่างเท่าเทียม และเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสตรี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง สู่ความเสมอภาคร่วมตัดสินใจ ไร้ความรุนแรง” และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น จำนวน 42 รางวัล จาก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี พม.

สำหรับบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลสตรีสากลในปี 2564 อาทิ รศ.เรณู พุกบุญมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นระดับสากล ประเภทบุคคลภาครัฐ, แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ หรือหมอเจี๊ยบ ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านสื่อมวลชน ประเภทสื่อวิทยุและโทรทัศน์, ส่วนรางวัลสตรีดีเด่นด้านสื่อมวลชน และสื่อสารมวลชนดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ อาทิ หนังสือพิมพ์มติชน รับรางวัลประเภทสื่อสิ่งพิมพ์, รายการผู้หญิงทำมาหากิน สถานีโทรทัศน์ ช่องวัน 31 รับรางวัลประเภทรายการโทรทัศน์, ละครโทรทัศน์ เรื่องปลายจวัก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รับรางวัลประเภทละครโทรทัศน์ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– จุติ มอบโล่ฯ นสพ.มติชน สื่อดีเด่นด้านคุ้มครองสิทธิ-ส่งเสริมความเสมอภาค วันสตรีสากล ปี64

วันสตรีสากล ประจำปี 2564
วันสตรีสากล ประจำปี 2564
รายการผู้หญิงทำมาหากิน
ผู้แทน นสพ.มติชน

นายก อบต.หญิงแกร่ง

Advertisement
นางสาวณัฐนันท์ หูไธสง

นางสาวณัฐนันท์ หูไธสง หรือนายกมด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นนายก อบต.หญิงที่น่าทึ่งที่สุดในประเทศ เพราะครองใจชาวหนองแวงและได้รับเลือกตั้งให้อยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 20 กว่าปี (พ.ศ.2540-2564) รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการบริหารงานปกครองท้องถิ่น/ท้องที่ ประเภทเทศบาลตำบล กล่าวด้วยสีหน้าภูมิใจว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะความสำเร็จที่เห็นในวันนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ

นายกมดเล่าเปิดใจว่า จริงๆ ช่วง 3-4 ปีแรกที่ได้รับเลือกมาเป็นนายก อบต.หนองแวง ตอนนั้นทำงานยากมาก เพราะไม่ได้รับการยอมรับ อย่างผู้ใหญ่ก็มองว่าดิฉันยังเด็ก เพราะอายุเพียง 27 ปี เช่นเดียวกับผู้ชาย ก็ไม่ยอมรับเพราะมองว่าดิฉันเป็นผู้หญิง ตอนนั้นจึงต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

“ในการพิสูจน์ตัวเอง ดิฉันต้องทำงานทุกวัน แต่ละวันทำงานเกินเวลา จะบอกว่าทำงานหนักกว่าผู้ชายก็ได้ เพราะทุ่มเทจริงๆ จนสิ่งที่ทำเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ประชาชนในพื้นที่เริ่มยอมรับและให้ใจกลับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าดิฉันจะหยุด แต่ยังคงทำงานหนักเรื่อยมา” นางสาวณัฐนันท์เล่าทั้งรอยยิ้ม

Advertisement

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นายกหญิงสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในตำบลหนองแวง อย่างผลงานที่เธอภาคภูมิใจอย่างมากคือ การสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่มีงานมีรายได้ จากโครงการฝึกอบรมอาชีพฟรีถึง 63 อาชีพ ยกตัวอย่างโครงการฝึกอบรมอาชีพด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ ที่ชาวบ้านนอกจากได้ความรู้ ยังสามารถกลับไปปลูกผักขายได้ จากการเอ็มโอยูกับโรงพยาบาลและห้างสรรพสินค้าในท้องถิ่น สร้างรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

เธอการันตีว่า เหล่านี้เป็นการฝึกอบรมอาชีพฟรี!!

นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือให้คนแต่ละกลุ่มเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ เช่น เด็ก ส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษา นม และอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ครัวเรือนที่อยู่อาศัยยากลำบาก ก็เข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านให้

“ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันให้อะไรแก่ชีวิต ก็จะบอกว่าให้ความสุขใจ คือดิฉันไม่มีครอบครัว ไม่มีสามี ไม่มีลูก แต่กลายเป็นว่ามีคนที่รักเราจริงๆ เพราะเราได้ไปช่วยเขาจริงๆ ไม่ว่าจะบ้าน วัด โรงเรียน ดิฉันช่วยเสมอต้นเสมอปลาย คิดว่าคนเราตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แต่ความดีเท่านั้นจะคงอยู่” นางสาวณัฐนันท์กล่าวด้วยรอยยิ้ม


สตรีพิการดีเด่น

สุดารัตน์ เมฆฉาย

นางสาวสุดารัตน์ เมฆฉาย สตรีพิการดีเด่น แม้เป็นผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย หากเธอมีบทบาทในการเป็นอาสาสมัคร empowerment ด้านการรณรงค์การขับเคลื่อนและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลด้านการบริการสาธารณะ ด้านสิทธิและกฎหมาย ด้านต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศ ด้านการเคารพคุณค่าตนเอง และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับสตรี ในกลุ่มเครือข่ายระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับสากลของกลุ่มคนหูหนวกหูตึง กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ รางวัลนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของคนหูหนวกที่ทำให้สังคมเห็นว่าสตรีหูหนวกก็สามารถเป็นสตรีดีเด่นได้

สำหรับสุดารัตน์ เป็นคนหูหนวกตั้งแต่กำเนิด หากเธอใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปมาโดยตลอด คุยกันได้ สื่อสารกันได้ โดยได้รับทุน ก.พ.ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์และสื่อสารมวลชน ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

“การได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้เราเห็นความแตกต่างของการเข้าถึงข้อมูลของคนหูหนวกอังกฤษกับไทย เมื่อเรียนจบกลับมาจึงตั้งใจมาทำงานส่งเสริมการพัฒนาคนหูหนวก ซึ่งต่อมาได้เข้ามาเป็นกรรมการสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ทำให้เราได้ทำงานโฟกัสงานสนับสนุนคนหูหนวกทั่วประเทศ และชุมชนคนหูหนวกระดับเอเชีย”

สุดารัตน์เล่าถึงปัญหาคนหูหนวกในเรื่องการสื่อสารว่า ปัญหาสำคัญลำดับแรก คือ การเข้าถึงสาธารณะ ความคิดของสังคมทั่วไป ยังไม่เข้าใจคนหูหนวกอย่างเต็มที่ ว่าคนหูหนวกต้องการอะไร

“จริงๆ คนหูหนวกต้องการแค่เข้าถึงข้อมูลเท่านั้น เช่น จัดล่ามให้คนหูหนวก มีแคปชั่นในทีวี (อักษรวิ่ง) อยากให้มีในส่วนของข่าวที่เป็นสาระ และบันเทิง เพราะทุกวันนี้ มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีล่ามผ่านหน้าจอ และอยากให้รัฐพัฒนาคุณภาพของล่ามภาษามือให้มีประสิทธิภาพ จัดให้มีล่ามในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีการได้รับข้อมูลที่ตกหล่นก็จะส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในอาชีพได้ แต่หากได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนก็จะทำให้คนหูหนวกต่อยอดการใช้ชีวิตได้”

สุดารัตน์ทิ้งท้ายว่า อยากให้มองคนหูหนวกเหมือนกับทุกคน อย่ามองว่า เราเป็นคนแปลก และต้องจัดให้มีการเข้าถึงที่เหมาะสม เช่น การจัดให้มีล่ามภาษามือ แคปชั่นในรายการข่าวและความบันเทิงต่างๆ การส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับคนหูหนวก

“ไม่อยากให้ทุกคนเรียกคนหูหนวกว่าใบ้ จริงๆ ถ้าเรียกว่าคนหูหนวกเรารับได้ แต่ถ้าเป็นคำว่าคนใบ้ คนหูหนวกรู้สึกว่าเป็นคำว่าไม่สุภาพ เป็นคำดูถูกอย่างรุนแรง เหมือนไม่มีความสามารถ ซึ่งปัจจุบันอาจจะเริ่มเข้าใจแล้ว แต่คนหูดี กลัวว่าใช้คำว่า คนหูหนวกไม่สุภาพหรือเปล่า สามารถพูดได้ ทั้งหูหนวก หูตึง หรือบกพร่องทางการได้ยิน” สุดารัตน์ทิ้งท้าย


สตรีดีเด่นประเภทอาสาสมัคร

นางเตือนใจ เกราะกระโทก

นางเตือนใจ เกราะกระโทก กรรมการสหพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย (ส.อ.ร.ด.) จ.นครราชสีมา รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ประเภทอาสาสมัคร เปิดเผยว่า ส.อ.ร.ด. มีสมาชิกเป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงาน ทหารตำรวจ ในการฝึกอบรมสมาชิก มีเครือข่ายทั่วประเทศ 57 จังหวัด งานที่เธอทำมาตลอดคือ “ครู” ฝึกอบรมหลักสูตรส่งเสริมความเป็นไทย มาเป็นระยะเวลากว่า 37 ปี ในการปลูกฝังการเป็นจิตอาสา รักษาระเบียบวินัย สามัคคี และเสียสละต่อส่วนรวม เป็นกำลังเสริมสร้างก่อให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศ การได้รับรางวัลครั้งนี้นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิต เพราะทำด้วยใจของการเป็น “อาสาสมัคร” ที่แท้จริง


สตรีดีเด่นจาก 3 จว.ใต้

นางรอซิดะห์ ปูซู

นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าของรางวัล “สตรีดีเด่นด้านกระบวนการยุติธรรม” ผู้ก่อตั้งโครงการพัฒนาพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้หญิง เพื่อสร้างความร่วมมือกับ คณะกรรมการอิสลามและหน่วยงานภาครัฐ ในการยุติความรุนแรงในครอบครัวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และจัดตั้งกองทุนยุติความรุนแรงเพื่อเด็กและสตรีชายแดนใต้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“โครงการที่ทำเป็นกลไกที่มีชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน จัดทำเพื่อผู้หญิงมุสลิมที่เวลาเจอปัญหาส่วนมากจะไม่กล้าไปศาล ไปหาตำรวจ แต่จะเข้าไปปรึกษาผู้นำศาสนา ซึ่งก็ไม่มีความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรม เราจึงเหมือนเป็นตัวกลางที่คอยประสานงานเพื่อส่งเคสให้ทางภาครัฐช่วยเหลือ

“อย่างในกรณีที่ผู้หญิงถูกสามีทำร้าย ไม่ดูแล แถมยังมีเรื่องยาเสพติดมาเกี่ยวข้อง ภรรยาต้องการฟ้องหย่า กลไกของเราก็จะช่วยเหลือในตรงนี้ เขาอยู่ที่บ้านต่อไม่ได้ ก็ต้องนำตัวเขาออกมา ให้เขาปลอดภัยระหว่างที่เขาตัดสินใจฟ้องหย่า เพราะในมุสลิมต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 ในขั้นตอนนี้ หากไม่มีอาชีพก็ประสาน พม.ให้เขาได้เข้าฝึกอบรมอาชีพ เรียกว่าไม่ปล่อยให้ผู้หญิงต้องสู่เพียงลำพัง” รอซิดะห์กล่าวถึงงานที่เธอทำเพื่อผู้หญิงด้วยกัน

ทั้งยังทิ้งท้ายว่า การได้รับรางวัลครั้งนี้ มากกว่าความภูมิใจคือเป็นหนึ่งตัวชี้วัดว่า โครงการที่เธอทำมีคุณค่าและช่วยเหลือผู้หญิงได้จริง ทั้งนี้ ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยน โลกหมุนไปไกลมาก ผู้หญิงไทยต้องหลุดจากกรอบที่คอยให้สังคม หรือผู้ชายมาช่วย ต้องลุกขึ้นมาสู้และพึ่งพาตัวเองให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองก่อน การมีคุณค่าไม่จำเป็นต้องจบการศึกษา แต่สามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ เรียนรู้ที่จะนำมาใช้ปกป้องตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ผู้หญิงควรจะต้องรู้ จะเข้าถึงสิทธิอย่างไร อย่างไรก็ตาม ผู้ชายก็ต้องปรับทัศคติเหมือนกันว่าผู้หญิงไม่ใช่สมบัติของคุณที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ผู้หญิงก็มีสิทธิเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแรง


ยุวสตรีพการดีเด่น

มะปราง-จิดาภา นิติวีระกุล

ยังมีสตรีดีเด่นอีกหลายคนน่าสนใจ พวกเธอไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานยิ่งใหญ่ แต่เพียงชนะใจตัวเอง อย่าง นางสาวจิดาภา นิติวีระกุล หรือมะปราง อายุ 19 ปี พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเคยได้รับ 3 รางวัลใหญ่ ในการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล ประจำปี 2562 (2019 Global IT Challenge for Youth with Disabilities) ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี รับรางวัลยุวสตรีพิการดีเด่น

มะปรางกล่าวด้วยรอยยิ้ม มือกอดรางวัลแน่นอยู่บนรถวีลแชร์ไฟฟ้า ว่า ที่ผ่านมามะปรางต้องพยายามมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นคนพิการและเรียนรู้ช้า จึงต้องแอ๊กทีฟและเรียนรู้มากกว่าคนอื่น วันนี้ที่ได้รับรางวัลจึงรู้สึกดีใจ

หลังจากได้รางวัลไอทีระดับนานาชาติ ทำให้เธอมีแรงบันดาลใจอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ด้วยขณะนี้กำลังศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ชั้น ปวช.ปีที่ 3 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จังหวัดชลบุรี หรือพูดง่ายๆ คือเรียนไม่ตรงสาย เธอจึงตั้งเป้าหมายว่า จากนี้จะต้องเรียนรู้เพิ่มและต้องเรียนให้หนักขึ้น เพื่อศึกษาต่อระดับ ปวส. และไปให้ถึงความฝันอันสูงสุด คือ คว้าใบปริญญาตรีมาให้ครอบครัวภาคภูมิใจให้ได้

“อยากฝากน้องๆ ที่พิการว่า อย่าท้อแท้กับชีวิต แม้ร่างกายอาจทำให้เราลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เพราะหากเรามีความมุ่งมั่น ก็สามารถคว้าโอกาสและไปถึงความฝันได้ เพียงอาจต้องพยายามมากหน่อย และทุกอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต ให้มองว่าคือ แรงผลักดันที่ต้องผ่านไปให้ได้” จิดาภากล่าวด้วยรอยยิ้ม

เชิดชูผู้หญิงเก่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image