การเมืองดี รัฐธรรมนูญดี ต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง
วันสตรีสากล 8 มีนาคม มีความหมายต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวสตรี เครือข่ายสตรี มากกว่าการเฉลิมฉลอง เพราะยังมีปัญหาอีกมากมายของผู้หญิงในประเทศไทยที่ต้องผลักดันไปสู่การแก้ไข ฉะนั้นเบื้องหลังบรรยากาศความยินดีที่ได้มาพบปะกันคนทำงานเพื่อผู้หญิงด้วยกัน ลึกๆ ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้เรียกร้องอย่างโชกโชนต่อความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปีนี้ที่สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนฉ่า ในบรรดาทุกกลุ่มที่กำลังต่อสู้ในมิติต่างๆ ล้วนแต่มีผู้หญิงร่วมต่อสู้อยู่ด้วยทั้งสิ้น
เวทีเสวนาเนื่องในวันสตรีสากล 2564 “8 มีนา การเมืองดี รัฐธรรมนูญดี ต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง” ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร ตึกโดม ชั้น 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงมีขึ้นด้วยความหวังที่ว่า หากการเมืองดีกว่านี้ มีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ ชีวิตของผู้หญิง ทั้งสิทธิเสรีภาพ การทำมาหากิน สวัสดิการ จะดีขึ้นกว่านี้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาจากตัวแทนผู้หญิงกลุ่มต่างๆ มากกว่า 20 เครือข่าย



สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่พวกเราเครือข่ายผู้หญิงทั่วประเทศต่อสู้กันมาตลอดก็คือ “สวัสดิการ” ที่ทำอย่างไรให้ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงก่อนเสียชีวิตได้รับสวัสดิการดูแลอย่างถ้วนหน้าทุกคน
“เวลาพูดว่า สิทธิของผู้หญิง นั้นหมายรวมถึง สิทธิของทุกเพศสภาพ สิทธิของประชาชน เพราะสิทธิของผู้หญิงจะได้มาอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเรามีทั้งประชาธิปไตย มีการเคารพสิทธิมนุษยชน การต่อสู้ของเครือข่ายสตรีจึงไม่ได้สู้เพื่อสิทธิประโยชน์ส่วนตน แต่สู้เพื่อผลประโยชน์โดยรวม เพราะผู้หญิงก็อยู่ในหลากหลายฐานะทั้งแม่ ย่า ยาย จึงมีทั้งมิติของการขับเคลื่อนทั้งในด้านความเป็นธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน” สุนีกล่าว และว่า
ในวันนี้สิ่งที่ควรทำคือ “การปฏิรูปที่ดิน” เพราะคนที่มั่งมีมีที่ดินในครอบครองถึง 6 แสนไร่ ขณะเดียวกันยังมีคนไร้ที่ดินเลยกว่า 1 ล้านครอบครัว ไร้ที่อยู่ ถูกบังคับให้อพยพ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ระบบการเมืองมีปัญหา” ถามว่า หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะตอบคำถามพวกเขาและเธอยังไงในเรื่องนโยบายการเมือง รัฐธรรมนูญจะออกแบบเพื่อปกป้องกลุ่มพี่น้องที่ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องชุมชนทั่วประเทศนี้อย่างไร
“รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง” เป็นคำขวัญที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ที่ถูกใช้มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สะท้อนการต่อสู้ เพื่อมีส่วนร่วมของขบวนการผู้หญิงที่ทุกครั้ง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะรู้กันว่าต้องเคลื่อนไหวก่อนตลอด เพื่อเรียกร้องให้มีความชัดเจนต่อร่างที่จะช่วยผู้หญิงได้จริง บทเรียนสุดท้ายคือบทเรียนในการร่าง รธน.ปี 40 ที่ผู้หญิงออกมาเคลื่อนขบวนจำนวนมากว่าในร่างต้องมีผู้หญิง ผู้หญิงลงสมัครเยอะมาก ได้มา 6 คน แต่ถ้าไม่สมัครจะไม่ได้สักคน
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 เกิดขึ้นมาโดยไม่มีการรับฟังเสียงประชาชน เพราะแม้แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงที่หลายคนมองว่าไม่เห็นจะน่ากลัวอะไรเลย ก็ยังโดนทหารตำรวจบล็อกไม่ให้จัด แล้วเสียงของประชาชนจะมาจากไหน ทั้งนี้ ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า “ขอปฏิเสธหลักการที่บอกว่าให้แก้ทีละมาตรา และให้ ส.ส. และ ส.ว.ลงมติกันเป็นชิ้นๆ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วน ไม่สามารถแก้ทีละมาตรา
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 ก็ออกแบบให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากมาก นอกจากจะต้องมีเสียงข้างมาก ยังบังคับให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ต้องเห็นด้วย 84 คน ซึ่งตอนนี้ ส.ว.บางส่วนก็ได้ออกมาพูดว่าจะไม่โหวตให้ผ่าน ฉะนั้นงานของเครือข่ายสตรีก็ยังต้องฝ่าด่านถึง 2 ด่านด้วยกัน แต่กระนั้นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่จำเป็นต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง เพื่อให้เนื้อหาสำคัญของสตรีบรรจุเข้าไปได้ พลังของพวกเราสตรีก็ไม่น้อยหน้าใคร จะเป็นการผลักดันที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองและแก้ปัญหาอื่นๆ มากมาย” สุนีกล่าวย้ำทิ้งท้าย


ด้าน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ที่มาของเครือข่ายผู้หญิงมาจากการเรียกร้องและต่อสู้ หน้าที่ของเครือข่ายคือไปบอกสิ่งที่เป็นความยากลำบากของมวลพี่น้องผู้หญิงให้ชาวโลกรู้ก่อนว่า ประเทศไทยเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่เขียนกฎหมายดีแต่มีการเลือกปฏิบัติ มุ่งเน้นออกนโยบายในทางสงเคราะห์ และช่วยเหลือผู้ยากจน ซึ่งบางครั้งเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ดังเช่น นโยบายที่ออกดำเนินการในช่วงโควิด-19 ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ญาติก็ต้องหามกันไปรายงานตัว เพื่อรับความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่อยู่กับความเป็นจริง
ประเทศไทยมีกฎหมายดีๆ ได้นั้น มาจากการที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง เห็นได้จากบทเรียนของสมัชชาคนจน บทเรียนของเครือข่ายแรงงาน ฯลฯ ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันนอกจากประเทศไทยจะติดขัดเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการพัฒนา ยังมีปัญหาเรื่องความความรุนแรงในเชิงโครงสร้างทางการเมือง ที่ผู้ชายมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองก็ไม่ได้คิดเพื่อผู้หญิงด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ต้องตั้งคำถาม อีกอย่างพี่น้องที่มีความยากลำบาก โดยเฉพาะคนพิการ ยังมีส่วนร่วมในทางการเมืองน้อย อย่างในส่วนของ ส.ว.ยังไม่มีคนพิการไปร่วมเลย
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสตรีจะต้องช่วยกันผลักดันและคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่จะคิดเพื่อผลประโยชน์ของชาติ บ้านเมือง และต้องมีสิทธิมีเสียงส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลได้มีการวินิจฉัยโดยคำนึงถึงสิทธิทางการเมือง สิทธิมนุษยชนด้วย


ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ทิ้งท้ายว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 อาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่เป็นฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ประกอบกับในช่วงนั้นแรงงานก็เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดปัญหาเศรษฐกิจ กระนั้นแม้ว่านายจ้างจะเลิกจ้าง แต่รัฐธรรมนูญยังให้สิทธิแรงงานออกมาเรียกร้อง ออกมาส่งเสียง ออกมาชุมนุม เพื่อแสดงออกว่าเหล่าแรงงานต้องการอะไร
ขณะที่ในปัจจุบันมีทั้งกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ มาจำกัดสิทธิของพวกเราแรงงาน ห้ามชุมนุม สะท้อนให้เห็นว่า หากไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ถ้าการเมืองไม่ดี และถ้ารัฐธรรมนูญไม่ดี สิทธิของประชาชน สิทธิแรงงานจะไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์ เป็นความจริงที่เกิดขึ้น

