เพราะเป็น ‘เด็กจึง (ไม่) เจ็บปวด’ เปิดประตูความเข้าใจ รับมือ ‘การระรานออนไลน์’

ไซเบอร์บูลลี่

เพราะเป็น ‘เด็กจึง (ไม่) เจ็บปวด’ เปิดประตูความเข้าใจ รับมือ ‘การระรานออนไลน์’

มีข่าวออกมาให้เห็นไม่เว้นแต่ละวันกับความรุนแรงในเด็ก ทั้งที่เด็กกระทำต่อกันเอง เด็กถูกผู้ใหญ่กระทำ ได้เห็นได้ยินทีไรก็ชวนให้ “สลดใจ” ทุกครั้ง!!

และ…ยิ่งนับวันยิ่งรุนแรง อย่าง “การระรานทางออนไลน์” (Cyberbullying) ที่เด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อจนส่งผลกระทบรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ “การระรานทางออนไลน์ คือ การกระทำใดก็ตามที่ทำให้เกิดผลกระทบทางลบแก่ผู้ถูกกระทำ โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทั้งในทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อมูลอันสามารถสร้างผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ” ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวถึงความหมายของ “การระรานทางออนไลน์” ในเสวนาออนไลน์ “การรับมือการระรานทางออนไลน์”

 

Advertisement

เด็กส่วนใหญ่ถูกระราน 1 ครั้งต่อสัปดาห์

ผลการศึกษาสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กระดับชั้นมัธยมทุกภูมิภาค 3,240 คน ร้อยละ 21.6 เคยถูกระรานทางออนไลน์ในรอบปีที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.2 เด็กถูกระรานทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 18 ถูกระรานหลายครั้งต่อสัปดาห์ และร้อยละ 8.6 ถูกระรานทุกวัน

Advertisement

ช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุดถึง ร้อยละ 53.35 เกมออนไลน์ ร้อยละ 13.12 อินสตาแกรม ร้อยละ 10.13 ทวิตเตอร์ ร้อยละ 9.99 แอพพลิเคชั่นไลน์ ร้อยละ 8.27 แอพพลิเคชั่นติ๊กต็อก ร้อยละ 2.57 ยูทูบ ร้อยละ 1.43 และทางสื่อออนไลน์อื่นๆ ร้อยละ 1.14

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกระราน ส่งผลให้เด็กร้อยละ 44.79 รู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 37.38 รู้สึกเจ็บปวดและเศร้า ร้อยละ 23.11 อยากแก้แค้น ร้ายแรงสุด คือ ร้อยละ 17.26 อยากฆ่าตัวตาย

พฤติกรรมการระรานทางออนไลน์ผู้อื่น พบว่า ร้อยละ 57.73 รู้สึกผิด, ที่น่าตกใจ คือ ร้อยละ 33.55 หรือ 1 ใน 3 รู้สึกสะใจ, ร้อยละ 32.03 รู้สึกเท่ และชัดเจนว่าร้อยละ 35.81 ของนักเรียนที่เคยถูกระรานมีพฤติกรรมไประรานผู้อื่น

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก

 

เด็กความอ่อนไหวสูงรับสื่อออนไลน์

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สสดย. จึงจัดเวทีเสวนา “เตรียมทัพรับมือการระรานทางออนไลน์” เชิญขุนพลแนวหน้ามาระดมความคิดในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน

รศ.จุมพล รอดคำดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อ ให้ความเห็นว่า การระรานทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยก่อนก็มีการกลั่นแกล้งเช่นการล้อชื่อพ่อแม่ แต่ในยุคนี้เทคโนโลยีทำให้การระรานเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขึ้น ทำให้เด็กยุคนี้มีความอ่อนไหวสูงจากการรับสื่อออนไลน์ ที่สำคัญคือเด็กไม่รู้ว่าจะต้องป้องกันตัวเองยังไง ได้แต่เก็บเอาไว้และบั่นทอนจิตใจไปเรื่อยๆ ทำให้ชีวิตรู้สึกว่าแย่ลง หลายคนไม่กล้าเล่าให้พ่อแม่ฟัง มักจะพูดกับเพื่อนมากกว่า ขณะที่ครูเวลาเด็กมีเรื่องกันก็มักจะบอกให้ไปเคลียร์ ทำให้จบๆ คุยกันเสีย ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การยุติการระรานที่แท้จริง ครูจึงควรจะเข้าใจถึงปัญหานี้ให้ถ่องแท้ด้วย

“สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่พูดกันตรงๆ ถ้าสามารถเปิดใจและพูดคุยกันได้ ก็จะบรรเทาปัญหาใหญ่ให้เล็กลงได้ กล่าวคือการที่เด็กมีครอบครัวอบอุ่นจะทำให้เด็กเข้มแข็ง พ่อแม่จึงมีความสำคัญในการช่วยหาทางออกให้ลูก ทำให้ลูกเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับการระรานออนไลน์ หลายครอบครัวมักบอกว่าต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลามาสนใจเรื่องนี้ แต่อย่าลืมว่าสิทธิเด็กสำคัญมาก พวกเขาต้องได้รับการปกป้องดูแล” รศ.จุมพลกล่าว

รศ.จุมพล รอดคำดี

 

แนะทางออกระบายความเจ็บปวด

ที่ปรึกษาขวัญใจวัยรุ่น นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล หรือดีเจพี่อ้อย นักจัดรายการชื่อดัง เล่าว่า เด็กยุคปัจจุบันเจ็บปวดจากการถูกบูลลี่กว่าเด็กในยุคก่อนๆ เพราะเมื่อมีโลกออนไลน์เข้ามา เปลี่ยนจากบูลลี่ทางวาจาไปเป็นตัวอักษรที่ไม่เลือนหายไป เพราะยังอยู่ในโลกออนไลน์นั้น วิธีแก้คือการทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน เสริมความมั่นใจ เพราะไม่มีใครอยากถูกเกลียด ทุกคนต่างอยากเป็นที่รัก

ดีเจพี่อ้อยยกตัวอย่างว่า น้องคนหนึ่งเป็นคนมีสิวเยอะ ไปโรงเรียนทีไรเพื่อนก็แต่งเพลงคนหน้าผีมาล้อ สิ่งเหล่านี้คือความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเสียงหัวเราะของคนที่มองสังขารคนอื่นเป็นเรื่องขำขัน

เช่นเดียวกับ “ครู” ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเด็ก บางครั้งกลับเป็นคนทำร้ายเด็กเสียเอง เช่น เรียกเด็กว่า อ้วนมานี่หน่อย หัวหยองส่งการบ้านหรือยัง เป็นต้น เพราะฉะนั้นในการมองหาทางออก อาจจะให้เด็กเขียนเรียงความในหัวข้อ “ความเจ็บปวดในใจของหนู” เพื่อให้เด็กเปิดใจเล่าถึงความเจ็บปวดในใจของเขา เมื่อได้ระบายออกมาเรื่องเศร้าก็จะเบาลง ขณะเดียวกันขณะที่เขาเขียนไปก็จะได้คุยกับตัวเอง ได้ยินเสียงของตัวเองดังขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น

“วันนี้ทุกคนมีมือถือในมือก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสื่อสารมวลชน สามารถอยู่ในระบบเดียวกันได้ สิ่งไหนที่คิดว่าทำแล้วคนอื่นจะเจ็บปวดก็ไม่ควรโพสต์สิ่งนั้นลงไป ขณะเดียวกันทุกคนก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างมารยาททางสังคมให้แก่ตัวเองด้วย เพราะอาชญากรในปัจจุบันอาจจะไม่ต้องหยิบมีดมาฆ่ากัน แค่ใช้เพียงแค่คำพูดก็ทำร้ายกันได้แล้ว” ดีเจพี่อ้อยกล่าว

ดีเจพี่อ้อย

สอนเด็กฉลาดทางอารมณ์

ปิดท้ายด้วย อ.กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ครูภาษาไทย ขวัญใจวัยรุ่น เล่าว่า ดิฉันคือตัวอย่างผลพวงของการถูกกระทำ 2 เด้ง คือนอกจากเพศสภาพไม่ตรงแล้ว ยังอ้วนและอัปลักษณ์ คือสิ่งที่เพื่อนด่ามาตลอดตอนเรียน แต่ก็นำจุดนี้มาผลักดันตัวเองว่าต้องเรียนให้เก่ง แล้วสุดท้ายทุกคนที่เคยด่าดิฉันก็ต้องมาง้อให้ดิฉันช่วยติว อีกทางหนึ่งคือการใช้ความสามารถสร้างการยอมรับ ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกบูลลี่น้อยลง

ครูลิลลี่เล่าว่า มีลูกศิษย์รายหนึ่งจบจากโรงเรียนดัง กำลังเรียนทันตแพทย์ ปี 2 เลือกที่จะจบชีวิตตัวเองเนื่องจากเครียดที่เรียนไม่ได้เกรด 4 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กในยุคปัจจุบันแข่งขันกันเรื่องวิชาการสูงมาก ซึ่งบางครั้งความเก่งไม่ได้ช่วยให้พวกเขาแก้ปัญหาหรือรับมือกับอุปสรรคในชีวิตได้ จึงสอนลูกศิษย์เสมอว่า “ลูกต้องฉลาดทางอารมณ์ด้วย” ก็คือมีทักษะชีวิตด้วย เช่นเดียวกับเรื่องการระรานทางออนไลน์นี้เป็นเพียง 1 ใน 100 ปัญหาที่พวกเขาจะต้องเจอเมื่อเติบโตไป ที่สำคัญคือหลักสูตรการเรียนไทยมักจะสอนให้เด็กท่องจำ จำแล้วก็ไปสอบ แต่ลืมสอนให้เด็กคิดเป็น คิดได้ด้วยตัวเอง

“ทั้งครูและครอบครัวต้องสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิต ซึ่งเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนเพราะเขาจะมีความเข้าใจโลก เข้าใจว่าโลกนี้มันมีคนที่สนุกปาก สนุกมืออยู่แล้ว เมื่อเข้าใจแล้วก็จะปล่อยวางเป็น เพราะบางทีคนแทงเราทีเดียว แต่เราเก็บมาแทงตัวเองซ้ำๆ สุดท้ายกลายเป็นว่าเราทำร้ายตัวเอง” ครูลิลลี่กล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า เสนอให้ยกประเด็นการระรานทางออนไลน์เป็นวาระระดับชาติที่ต้องช่วยกันหาทางออกร่วมกันด้วย

เสวนา
เสวนา
ครูลิลลี่
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image