สกู๊ปหน้า 1 ส่องสถานการณ์ครอบครัวไทย ปี64 โควิดซ้ำเติม!! สารพัดปัญหาถาโถม

สถานการณ์ครอบครัว

สกู๊ปหน้า 1 ส่องสถานการณ์ครอบครัวไทย ปี64 โควิดซ้ำเติม!! สารพัดปัญหาถาโถม

ไม่เพียงอยู่ในห้วงเวลาเฉลิมฉลองวันสงกรานต์ แต่วันที่ 14 เมษายน ยังเป็นวันแห่งครอบครัว แต่เดิมวันนี้จะปรากฏภาพของความชื่นมื่นในครอบครัว ที่คนหลายช่วงอายุมาทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ กำลังจะค่อยๆ เลือนหายไป

สาเหตุอาจไม่ใช่เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระบาดอย่างเดียว แต่เป็นเพราะสถานการณ์ครอบครัวไทยกำลังเปลี่ยนไป เพราะอะไร เป็นโอกาสติดตามสถานการณ์ครอบครัวไทย ปี พ.ศ.2564

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล่าว่า สค.ติดตามสถานการณ์ครอบครัวไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสำรวจสถานการณ์ความเข้มแข็งของครอบครัวเป็นประจำทุกปี อย่างผลสำรวจล่าสุดปี 2563 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 56,972 ครอบครัว แบ่งเป็น ครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 82.24 ครอบครัวขยาย ร้อยละ 15.43 และครอบครัวลักษณะพิเศษ ร้อยละ 2.26 ภาพรวมพบว่า ครอบครัวไทยมีระดับความเข้มแข็ง ร้อยละ 85.60 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตราฐาน ร้อยละ 68.40 โดยมีดัชนีความเข้มแข็งคือ พึ่งพาตนเองมากที่สุดถึง ร้อยละ 97.67 รองลงมาคือ ทุนทางสังคม ร้อยละ 94.97 ทำบทบาทหน้าที่ครอบครัว ร้อยละ 91.08

แม้ทิศทางความเข้มแข็งครอบครัวไทยดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็มีข้อค้นพบน่าสนใจคือ มีครอบครัวที่ไม่มีบุตรสูงขึ้น ร้อยละ 37.47 จากปี 2562 ที่มี ร้อยละ 33.63 เช่นเดียวกับครอบครัวผู้สูงอายุที่ดูแลเด็กตามลำพังก็เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.23 จากปี 2562 ที่มีร้อยละ 10.76 อีกทั้งพบแนวโน้มด้านสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวลดลง ได้แก่ การแสดงความรักและเอาใจใส่ระหว่างกัน ตลอดจนการสื่อสารระหว่างกันอย่างมีคุณภาพ

Advertisement

“ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนไป ตั้งแต่การตัดสินใจเป็นโสด รวมถึงการใช้ชีวิตคู่แต่ไม่จดทะเบียนสมรส การมีบุตรลดลง ทำให้ครอบครัวเดี่ยวที่มีแต่พ่อแม่ลูก หรือมีพ่อแม่แต่ไม่มีลูกมีทิศทางเพิ่มขึ้น

“ขณะเดียวกันก็มีอัตราการหย่าร้าง และเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น จากทัศนคติสังคมที่เปลี่ยน ว่าไม่จำเป็นต้องอดทนเพื่อลูก ในการรักษาสภาพครอบครัวให้สมบูรณ์เหมือนในอดีต เพราะเดี๋ยวนี้คนมีทางเลือก ทำให้ครอบครัวข้ามรุ่น ที่มีรุ่นปู่ย่าตายายมาเลี้ยงหลานมีมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของครอบครัวก็กำลังประสบกับสัมพันธภาพที่ลดลง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการติดจอโทรศัพท์มือถือ ทำให้สมาชิกในครอบครัวพูดกันน้อยลง ไม่ได้ใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกัน” จินตนากล่าว

Advertisement
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ขณะที่ นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ที่ปรึกษางานด้านพัฒนาครอบครัว และกระบวนกรด้านครอบครัวอิสระ ซึ่งเป็นเอ็นจีโอทำงานด้านครอบครัวมาหลายสิบปี เล่าว่า เดิมสถานการณ์ครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนอีกและซับซ้อนยิ่งขึ้น อย่างก่อนการระบาดจะพบแนวโน้มที่ครอบครัวย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง แต่ตอนนี้เป็นการย้ายถิ่นกลับชนบท ซึ่งเป็นการกลับไปแบบไม่มีงานทำ อีกทั้งมีข้อจำกัดทางเงินออม ทำให้ยิ่งได้รับผลกระทบ

“สถานการณ์ครอบครัวจะรุนแรงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งมากขึ้น การจัดการในครอบครัวไม่ดี การจัดสอบหลายสนามของเด็ก เหล่านี้พบว่าทำให้เด็กป่วยซึมเศร้ามากขึ้น

“ปัจจุบันเราพยายามทำงานกับพ่อแม่ เพื่อให้พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง สามารถสื่อสารเชิงบวกในบ้าน จัดการอารมณ์ตัวเอง ซึ่งที่น่าสนใจคือเราจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจในครอบครัว และเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ได้อย่างไร”

เหลียวดูระบบสวัสดิการ ยังไม่สอดคล้องกับการสร้างและดำรงอยู่ของครอบครัวอย่างมีคุณภาพ

นางฐาณิชชายกหลายประเด็น ตั้งแต่การมีบุตร แม้ปัจจุบันจะให้สิทธิลาคลอดบุตรแม่ลาได้ 3 เดือน แต่พ่อลาได้จริง 45 วัน เฉพาะที่ทำงานในหน่วยงานรัฐ ทั้งที่พ่อก็ควรมีบทบาทและช่วยเลี้ยงลูก เมื่อมีลูกแล้วพบว่ามีเพียงบางสถานประกอบการ หรือบางที่ทำงานที่มีศูนย์เด็กเล็ก เหล่านี้ไม่จูงใจให้คนมีบุตร ทำให้คนเกิดน้อย ที่เกิดก็อาจด้อยคุณภาพ เพราะเด็กไปเกิดกับแม่อายุน้อยที่ไม่มีความพร้อม ดั่งประโยคว่า “คนพร้อมไม่ท้อง คนท้องไม่พร้อม”

ขณะเดียวกันในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้หนี้สินครอบครัวเพิ่ม ครอบครัวมีความเครียด วิตกกังวล และนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ก็ยังไม่มีสวัสดิการอะไรที่จะมาตอบโจทย์ครอบครัว ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบได้

นางฐาณิชชาเล่าอีกว่า เรื่องนี้ พม.ทำเพียงลำพังไม่ได้ หลายหน่วยงานรัฐต้องมาช่วยกัน พร้อมด้วยเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะจากประสบการณ์ทำงานด้านครอบครัวมาหลาย 10 ปี พบว่าปัญหาครอบครัวไม่เคยจบ มีแต่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซับซ้อนยิ่งขึ้น สวัสดิการทั่วไปที่เป็นอยู่ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้นต้องจัดสวัสดิการที่สอดรับกับความเดือดร้อนนั้นๆ ด้วย

นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ที่ปรึกษางานด้านพัฒนาครอบครัว และกระบวนกรด้านครอบครัวอิสระ

สารพัดปัญหาครอบครัวไทย สค.เปิดแผนงานส่งเสริมครอบครัว เร็วๆ นี้เตรียมเปิดตัวรายการโทรทัศน์ เผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ในลักษณะโรงเรียนครอบครัว ส่วนปัญหาปากท้อง ก็เชิญชวนผู้หญิงมาฝึกอาชีพวิถีใหม่ฟรี โดยเฉพาะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ล่าสุด ได้ตั้งศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยว 9 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการครบวงจรตั้งแต่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ฝึกอาชีพ เรียนรู้การทำธุรกิจ จัดหาทุนและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ และติดตามเป็นพี่เลี้ยง เพราะเชื่อว่าหากผู้หญิงเข้มแข็ง ครอบครัวก็เข้มแข็ง

ล่าสุด เตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นและเว็บบอร์ด “เพื่อนครอบครัว: แฟมิลี่ ไลน์ (Family Line)” ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้านครอบครัวทุกมิติตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ข้อกฎหมาย สุขภาพ สุขอนามัย สิทธิและสวัสดิการ ความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ สามารถเข้าไปส่งเสียงได้

เพราะครอบครัวต้องมาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image