เข้าใจและเท่าเทียม “ครอบครัวสีรุ้ง” แอลจีบีทีคิวเอ็นพลัส ที่ไม่นิยามเพียง “พ่อ แม่ ลูก”

ครอบครัวสีรุ้ง

เข้าใจและเท่าเทียม “ครอบครัวสีรุ้ง” แอลจีบีทีคิวเอ็นพลัส ที่ไม่นิยามเพียง “พ่อ แม่ ลูก”

ครอบครัว เป็นหน่วยเริ่มต้นที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ทุกคน ซึ่งรวมไปถึง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ แอลจีบีทีคิวเอ็นพลัส (LGBTQN+) ที่ขับเคลื่อนในประเด็น “ครอบครัวเท่าเทียม” ด้วยในสังคมไทยไม่ได้มีรูปแบบครอบครัวเพียงแค่หนึ่ง แต่มีหลากหลาย ทว่ากลับไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการ องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และดำรงตำแหน่ง Co-Presidency องค์กรระดับโลกชื่อ International Femily Eqaulity Day-IFED สมาชิกครอบครัวที่มีคู่ชีวิตเพศเดียวกัน และมีลูกสาวที่มีความหลากหลายทางเพศ เผยเรื่องราวและสิ่งที่ครอบครัวหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญได้อย่างน่าสนใจ และชวนให้นำกลับไปคิดต่ออย่างลึกซึ้ง

มัจฉา เติบโตมากับคุณแม่ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอรู้สึกว่าตัวเอง มีแรงดึงดูดทั้งกับหญิงและชายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ความสัมพันธ์กับแม่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด ที่พูดคุยกันทุกเรื่อง ในตอนเด็กแม้จะไม่ได้บอกอัตลักษณ์ทางเพศกับแม่ แต่แม่ก็รับรู้ได้ โดยพูดกับเธอว่า “แม่คงไม่ได้มีแค่ลูกสาวมั้งเนี่ย คงมีทั้งลูกสาวลูกชายในคนคนเดียว”

โดยที่บ้านของเธอไม่มีกล่องเพศกำกับว่าสิ่งไหนทำได้-ไม่ได้ “เรื่องเพศ” กับมัจฉาจึงเหมือนเป็นของที่มาคู่กัน

Advertisement

“เรื่องเพศเป็นสิ่งที่อยู่กับเรา และเป็นสิ่งที่เราทำงานด้วยมาตลอด ตอนเป็นเด็ก แม่ต้องสู้เพราะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ถูกชุมชนกดดันให้แต่งงาน หรือแม้กระทั่งถูกคุกคามในชุมชนเพียงเพราะว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เราจึงเห็นในเรื่องของการต่อสู้ทางเพศมาตั้งแต่เป็นเด็ก” มัจฉากล่าวถึงสิ่งที่ทำให้เธอกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวประเด็นรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศ (Sexaul Oreintation, Gender Identity and Expression) เต็มตัว

โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ครอบครัวเท่าเทียม”

เพราะสิ่งที่ครอบครัวหลากหลายทางเพศประสบเต็มไปด้วย “ความไม่เท่าเทียม”

Advertisement
เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์

 

เริ่มต้นชีวิตคู่บนความหลากหลาย

ความไม่เท่าเทียมคือสิ่งที่เผชิญ

มัจฉา เผยว่า พอเริ่มใช้ชีวิตคู่กับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ผลกระทบที่ได้รับก็ชัดเจนขึ้น อย่างในชีวิตประจำวันเวลาไปตลาด แม่ค้าทักว่า “หน้าเหมือนกันเลย เป็นพี่น้องกันเหรอ” พอบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะเป็นคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตด้วยกัน” เขาก็ “อ๋อ เพื่อนกัน” หรือแม้แต่ในกลุ่มเพื่อนกัน ซึ่งบางคนมีภาวะโฮโมโฟเบีย (Homophobia) ที่สนิทกันมากก็รู้อยู่แล้วว่าเรากับคู่ชีวิตอยู่กันแบบครอบครัว เขาก็จะยังใช้คำว่า “เพื่อน” ในการอธิบายความสัมพันธ์ของเรากับคู่ชีวิต นอกจากนี้ ยังมีกรณีการเข้าพักในโรงแรมที่แม้จะแจ้งไปว่าขอเตียงใหญ่ ก็มักจะได้เตียงเดี่ยวแยกมาเสมอ แม้จะไปยืนยันแล้วว่าเป็นคู่ชีวิตกันขอเตียงใหญ่ บางโรงแรมก็ไม่ยอมบอกว่าไม่มีห้องเตียงใหญ่ แต่พอมีคู่รักชายหญิงวอล์กอิน

มาทีหลังคู่เรา กลับได้เตียงใหญ่ไป

“เราเผชิญกับการถูกไม่ยอมรับในฐานะของการเป็นครอบครัว เป็นคู่ชีวิต จะถูกตัดสินตลอดว่าเป็นเพื่อน หลายครั้งที่บอกไปแล้ว ก็จะได้คำพูดกลับมาว่า จริงเหรอ ไม่เชื่อหรอก” มัจฉากล่าว และว่า

นอกจากสังคมจะไม่ให้การยอมรับแล้ว ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ นโยบาย และกฎหมายไม่คุ้มครอง

ซึ่งหลักๆ มาจาก “วิธีคิด” ในสังคมที่เชื่อว่าหญิงชายเท่านั้นที่จะก่อตั้งครอบครัวได้ หน่วยงานในสังคมก็จะทำทุกอย่างให้สอดคล้องกับวิธีคิดนี้ อาทิ ห้องน้ำก็มี 2 เพศ หญิงและชาย รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจและการไม่ยอมรับ

“หลายคนมองว่าไม่ยอมรับแล้วก็จบแค่นั้น แต่จริงๆ เราเข้าไม่ถึงเหมือนกับคนอื่น” มัจฉาย้ำ

ครอบครัวสีรุ้ง
ครอบครัวสีรุ้ง

อีกข้อคือ “การไม่ยอมรับทางกฎหมาย” เช่นกรณี คนข้ามเพศและ/หรือนอนไบนารี่ในสังคมไทย ยังไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านาม และที่สำคัญที่สุด คือ การที่ชุมชนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกลิดรอนสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และเข้าไม่ถึงสิทธิในการสมรสเท่าเทียม ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยหลากหลายรูปแบบ

เวลาซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ไม่สามารถถือครองร่วมกันในฐานะคู่สมรส กลายเป็นซื้อแล้วถือครองกันคนละแปลง หรือพอสร้างบ้านก็กลายเป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์คนเดียว ไม่สามารถถือครองทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันในฐานะคู่สมรสเฉกเช่น ชาย-หญิง ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดก็ถือครองร่วมกันได้ แต่ในความเป็นจริง คือการใช้ช่องว่างทางกฎหมายซึ่งถึงแม้จะทำได้แต่นี่มิใช่สิทธิที่เท่าเทียม

โดยสิ่งที่คู่รักหลากหลายทางเพศส่วนมากกังวลคือ โดยทั่วไปเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส เวลาที่เสียชีวิตทรัพย์สินจะถ่ายทอดไปสู่บุคคลที่มีสายเลือดใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในชุมชนของคู่รักหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงครอบครัวไม่ได้มีส่วนในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้นคนที่ควรรับทรัพย์สินเหล่านี้คือคู่ชีวิตของเรา

ด้าน “สวัสดิการสังคม” ไปจนถึงนโยบายองค์กรที่ทำงาน ครอบครัวคู่รักหลากหลายทางเพศก็ได้รับไม่เท่ากับคนอื่นๆ เช่น บางองค์กรมีนโยบายองค์กรอาจมีนโยบายช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนบุตร มีนโยบายด้านสนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ถูกรับรองในทางกฎหมาย จะถูกมองเป็นบุคคลมากกว่า ไม่ใช่ครอบครัวก็จะไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้

“คู่ชีวิตที่ถูกมองว่าเป็นคนคนเดียวกัน สามารถแชร์กันได้ทั้งในทางบวกและลบ แต่อย่างของเราบวกก็ไม่ได้ ลบก็ไม่ได้ เราไม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม มีส่วนทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศมองไม่เห็นอนาคตร่วมกัน” นักเคลื่อนไหวสตรีกล่าว

ขณะเดียวกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแม้คู่แอลจีบีทีคิวจัดงานแต่งเยอะมาก และแม้สังคมจะเริ่มยอมรับว่าพวกเราพร้อมใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน แต่ในทางกฎหมายเรายังไม่ได้รับการคุ้มครอง มีบางคู่ใช้วิธี ให้แม่รับคู่ชีวิตเข้ามาเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตในครอบครัวเดียวกัน กลายเป็นอยู่ในสถานะลูกของแม่เดียวกับคู่ชีวิต ซึ่งในสถานะทางกฎหมายกลายเป็นพี่-น้องกัน มิใช่คู่สมรส

กล่าวคือแต่งงานกันได้ ไม่ได้สะท้อนการยอมรับในทางสังคมและในทางกฎหมายอย่างแท้จริง เพราะท้ายสุดหากยังสมรสเท่าเทียมไม่ได้ เพราะกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ระบุว่า “ชาย-หญิง เท่านั้นที่สมรสกันได้”

ชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังจะต้องเผชิญกับการไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง

ฉะนั้นการแต่งงานได้ แต่สมรสเท่าเทียมไม่ได้ เพราะกฎหมายเลือกปฏิบัติจึงไม่ใช่ “ความเท่าเทียม” ที่เราควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์มีศรี

ครอบครัวสีรุ้ง

สุดท้ายเรื่องสำคัญอีกประการสำหรับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ “ลูก” คู่รักเพศเดียวกันและ/หรือคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการตั้งครรภ์ ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีตั้งครรภ์ในประเทศไทย ยังไม่ได้อนุญาตให้ คู่รักแอลจีบีทีคิว และนอนไบนารี่สามารถเข้าถึงได้ เงื่อนไขเหล่านี้ผลักไสชุมชนของเราให้ไม่สามารถมีบุตรได้อย่างเท่าเทียม

โดยกรณีที่ชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ บางคนเคยผ่านประสบการณ์ การสมรสแบบคู่รักต่างเพศและมีบุตรมาก่อน กระทั่งวันหนึ่งได้ค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ และ/หรือมีความลื่นไหลทางเพศ จึงหันมาเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่กับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน กรณีแบบนี้มีหลายคนมากที่ “เสียสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร” เพราะถูกตีตราว่าไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ดีเท่ากับอดีตคู่สมรส ที่มีรสนิยมแบบคู่รักต่างเพศ

อีกหนึ่งกรณี ซึ่งเจี๊ยบเองมีประสบการณ์ร่วมโดยตรง คือ ชุมชนคู่รักหลากหลายทางเพศหลายคู่มีความต้องการที่จะรับอุปการะบุตรบุญธรรม แต่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายเลือกปฏิบัติ แม้เราจะมีศักยภาพในการเลี้ยงดู เรารักเด็กและอยากอุปการะเด็ก แต่เราเผชิญกับการไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองในทางสายเลือดของเด็ก รวมถึงเมื่อสมรสเท่าเทียมยังไม่ได้ แม้จะสามารถอุปการะบุตรบุญธรรมแบบเดี่ยวได้ แต่เรายังไม่สามารถร่วมอุปการะบุตรบุญธรรม (Co-Parenting)

“ในกรณีของเจี๊ยบที่ดูแลลูกสาวมา 9 ปีกว่า เผชิญกับการที่พ่อ-แม่ตามสายเลือดของลูกสาว ไม่ยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ฉะนั้นลูกสาวของเจี๊ยบที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงโดยพ่อ-แม่ทางสายเลือด มาตั้งแต่ 3 ขวบและแม้เราจะเลี้ยงดูมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าเป็น “ลูก” ของเรา ซึ่งหากมองในมิติ “สิทธิเด็ก” โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมถึงลูกสาวของเจี๊ยบเองก็พูดว่า ผลประโยชน์สูงสุดของเธอ คือ การได้เป็นลูกของเรา แม่ทั้งสองคนตามกฎหมาย เพราะจะได้รับการปกป้อง คุ้มครองอย่างเป็นธรรม

ตอนนี้สิทธิในการเดินทางของลูกก็ถูกจำกัด ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศกับแม่ได้ เพราะแม่ไม่สามารถเซ็นเอกสารทำพาสปอร์ตให้เธอได้ หากเกิดอุบัติเหตุ แม่ก็ไม่มีสิทธิเซ็นอนุญาตให้แพทย์ทำการรักษาเธอในภาวะวิกฤต กฎหมายที่ไม่ยอมรับแม่-แม่ ของเธอ จึงทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งนี่สะท้อนว่าประเทศไทยไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิผู้ปกครองที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังละเมิดสิทธิเด็กในครอบครัวสีรุ้ง (ครอบครัวที่มีผู้ปกครองมีความหลากหลายทางเพศ)”

“จึงเป็นทั้งความโกรธและความเศร้าปนกัน รู้ไหมคะว่า มีครอบครัวที่มีผู้ปกครองมีความหลากหลายทางเพศ ที่เลี้ยงดูลูก แต่ไม่สามารถเรียกว่า “ลูก” ได้อย่างเต็มปาก บางคนเลือกที่จะเรียกเด็กว่า “หลาน” และแทนตัวเองเป็นลุง-ลุง เป็นป้า-ป้า ทั้งๆ ที่หากสังคมยอมรับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคนที่มีความหลายหลายทางเพศ หากเราสามารถสมรสเท่าเทียมได้ ความสัมพันธ์เหล่านั้น ก็จะเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อ-พ่อ-ลูก และ/หรือแบบแม่-แม่-ลูก” มัจฉากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ครอบครัวสีรุ้ง
ครอบครัวสีรุ้ง

 

รอยแผลในใจ (ที่ไม่จำเป็น)

ครอบครัวที่ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว

“ตอนนี้ก็มีเด็กจำนวนมาก ที่เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อ 2 คน หรือแม่ 2 คน กรณีแบบนี้ ในสภาวะที่การสอนเรื่องเพศศึกษารอบด้านล้มเหลว การไม่สอนเรื่องสิทธิหลากหลายทางเพศในโรงเรียน ลูกๆ ของเราเสี่ยงที่จะถูกเพื่อนถามซ้ำๆ ถูกบูลลี่ ครูเองก็ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจทำให้ลูกของเราไม่ได้ถูกปกป้องคุ้มครอง จากการกลั่นแกล้งรังแก เพียงเพราะครอบครัวของเราไม่อยู่ในกรอบบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดไว้ อยากให้ลองจินตนาการว่าลูกๆ ของเรา ที่จะต้องอยู่ในระบบการศึกษาหลายปี

ประสบการณ์เหล่านี้ได้สร้างความเจ็บปวดและจะส่งผลกระทบต่อลูกๆ ของเราอย่างไรบ้าง ระบบการศึกษาและสังคมไทย ทำให้ลูกๆ ของเรา 1.ไม่เห็นภาพตัวเองและไม่เห็นเพื่อนๆ ที่อยู่ในครอบครัวแบบเดียวกัน 2.แบบเรียนและระบบการศึกษา ที่ไม่ยอมรับความหลากหลาย ไม่ได้สะท้อนว่าแท้จริงแล้วครอบครัวสามารถมีได้มากกว่า 1 รูปแบบ 3.เด็กที่ถูกรังแก และถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการมีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับที่สังคมคาดหวัง ระบบการศึกษา โรงเรียน ก็มิได้มีกลไกใดที่ปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ” มัจฉาสะท้อนให้เห็นปัญหาในระบบการศึกษา พร้อมเล่าต่อว่า

เมื่อเธอเริ่มเลี้ยงดูลูกสาว ก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่าครอบครัวหลากหลายทางเพศถูกละเมิดสิทธิอะไรบ้าง ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่ทางในทฤษฎี หรือหลักการที่เธอทำงานมา ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิหลากหลายทางเพศ แต่คือประสบการณ์ของเรา และยิ่งพอเราได้ไปเจอเพื่อนๆ ที่อยู่ในบริบทแบบเดียวกัน คือ ก่อตั้งครอบครัว โดยไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองในทางกฎหมาย เราและครอบครัว และครอบครัวสีรุ้งจากหลายประเทศ ได้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ซึ่งไม่เพียงแต่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังทำเพื่อชุมชนหลากหลายทางเพศ

“จริงๆ ครอบครัวของเรา และครอบครัวสีรุ้งล้วนเจ็บปวด ที่ถูกละเมิดสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวจากรัฐและในขณะเดียวกัน หลายครอบครัวก็อาจจะเผชิญปัญหาเหมือนกันกับเรา คือ กระทั่งครอบครัวเจี๊ยบเองก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราอุปการะลูก แต่จากการต่อสู้มาอย่างยาวนานที่เจี๊ยบและลูกได้ลุกขึ้นมาสื่อสารประเด็นครอบครัวเท่าเทียมออกไป ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย และนี่เองก็มีส่วนทำให้ในที่สุดพ่อโดยทางสายเลือดของลูกสาวเจี๊ยบ ก็ยินดีที่จะให้เจี๊ยบรับอุปการะลูกเป็นบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย

หลังจากที่เราได้รณรงค์สร้างความเข้าใจในสังคม และได้พูดคุยกับครอบครัวของเราและพ่อโดยทางสายเลือดของลูกสาวมา 8-9 ปี ฉะนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างความเข้าใจ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่นี่ก็ยังไม่ถือว่าเราได้รับสิทธิเท่าเทียม เพราะหากยังสมรสเท่าเทียมไม่ได้ การอุปการะบุตรบุญธรรมก็ทำได้แบบเดี่ยว ไม่ใช่ร่วมกันอุปการะ ท้ายที่สุด แม่กี่คนของลูกสาวก็ยังคง “เป็นอื่น” ในกฎหมายไทย ที่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ”

“ทั้งหมดที่เจี๊ยบทำแม้ไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ได้กลายแบบอย่างให้กับลูกสาว ศิริวรรณ พรอินทร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กในครอบครัวสีรุ้ง จนทำให้เธอได้รับรางวัล Asean Girl Award สาขาสิทธิมนุษยชน จากองค์กร The Gardern of Hope Foundation ประเทศไต้หวัน” มัจฉากล่าวด้วยความภูมิใจ

ครอบครัวสีรุ้ง
ครอบครัวสีรุ้ง

 

ความในใจลูกแอลจีบีทีคิวและนอนไบนารี่

“ความรักและความเท่าเทียม”

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ มัจฉากล่าวว่า ต้องบอกว่าเจี๊ยบโชคดีที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ฉะนั้นจะเข้าใจดีว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องการอะไรจากครอบครัว

“เจี๊ยบอยากให้แม่รักเราเท่ากับลูกๆ คนอื่นๆ – อยากให้แม่ตระหนักและยอมรับว่าเราเป็นลูกมีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่ลูกหญิง หรือชาย และเราเป็นลูกที่มีรสนิยมทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อเรามีแฟน มีคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน ก็อยากให้แม่รักแฟนของเรา คู่ชีวิตของเราอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นๆ”

“ไม่ได้อยากให้แม่พูดว่า เป็นอะไร (แอลจีบีทีคิวและนอนไบนารี่) ก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี เพราะการพูดแบบนี้ เราเหมือนถูกกดทับ เพราะแม้เราจะเป็นคนดีเท่าไหร่ เราก็ยังไม่ได้รับความรักที่เท่าเทียมและแม่ก็ไม่ได้พูดคำนี้กับลูกคนอื่น”

จากประสบการณ์ จึงทำให้เจี๊ยบตระหนักว่าเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศต้องการอะไร และเผชิญกับอะไรบ้าง ยังคงมีพี่-น้องในชุมชนของเราหลายคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ได้ผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย บางคนถูกครอบครัวใช้ความรุนแรง เด็กหลายคนมีประสบการณ์ถูกบังคับให้บวชทั้งๆ ที่ไม่เติมใจ บางคนถูกครอบครัวพาไปพบจิตแพทย์ หรือในกรณีผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ

หลายคนหลังพ่อแม่ทราบว่ารักเพศเดียวกันก็เสี่ยงที่จะถูกบังคับแต่งงาน เพราะครอบครัวมีความคิดความเชื่อฝังหัว ว่ารสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแล้ว การกระทำเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ เป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

“พ่อ-แม่รู้ไหมว่า สิ่งที่ทำนี้คือการละเมิดสิทธิ ถ้าไม่รู้ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ชาว LGBTQN+ ต้องการเลยคือต้องการให้พ่อแม่รัก และสนับสนุนอย่างเท่าเทียมเท่านั้นเลย” มัจฉาฝากถามทุกครอบครัวพร้อมแชร์ประสบการณ์ว่า

“พอลูกสาวมาบอกเราว่า เธอชอบผู้หญิง แทนที่เราจะตกใจ เสียใจ ตรงกันข้าม

เรารู้สึกดีใจ เพราะเราตระหนักว่าความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เราจึงรู้สึกว่ามันยอดเยี่ยมมากที่ลูกของเรารู้จักและยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศของตนตั้งแต่อายุยังน้อย จำได้ว่าตอนนั้นเราบอกลูกกลับไปว่า “แม่จะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ และลูกจะได้รับการสนับสนุน ลูกจะไม่มีทางถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการเป็นเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศจากแม่-แม่ ที่สำคัญครอบครัวของเราจะยังคงรัก และดูแลลูกเหมือนเดิม ครอบครัวของเราจะสู้ไปด้วยกัน”

สุดท้ายสิ่งที่ มัจฉา ฝากถึงทุกครอบครัวคือ “การเป็น LGBTQN+ ไม่ต้องไปหาว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ไม่ต้องสนใจว่ามีความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเมื่อเขาบอก หรือเราทราบเอง ก็ให้ปฏิบัติกับเขาเหมือนที่ปฏิบัติกับคนอื่น โปรดสนับสนุนเขาเหมือนที่สนับสนุนลูกๆ คนอื่นในครอบครัว เพราะสังคมภายนอกมันลำบากและมันยากแล้ว พอกลับมาบ้าน ถ้าไม่เป็นบ้าน ชีวิตก็จะยากขึ้นอีกหลายเท่า แต่ถ้าข้างนอกยากแล้วกลับมาบ้านได้รับการสนับสนุน ลูกก็จะพร้อมสู้มาก” คุณแม่แอลจีบีทีคิวกล่าว และบอกว่า

พ่อแม่หลายคนมักจะมีเงื่อนไขที่ชอบใช้ละเมิดลูกคือ ชอบบอกว่า เพราะรักและไม่อยากให้ลูกเผชิญกับปัญหา มันจะดีกว่าถ้าเป็นหญิงชายและรักเพศตรงข้าม ซึ่งควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า ถ้าสังคมสนับสนุนชาวแอลจีบีทีคิวและนอนไบนารี่ให้เข้าถึงกฎหมาย และยอมรับพวกเราเหมือนคนอื่นๆ มันก็จะไม่ยากแล้ว

ครอบครัวเท่าเทียม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image