ชีวิตต้องรอด โควิด-19 เดือดร้อนX3 คนพิการชุมชนคลองเตย

ชุมชนคลองเตย

ชีวิตต้องรอด โควิด-19 เดือดร้อนX3 คนพิการชุมชนคลองเตย

ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด คนพิการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เดือดร้อนมากๆ ลองคิดว่าหากคนทั่วไปเดือดร้อนจากโรคระบาดนี้แค่ไหน ให้คูณ 2 คูณ 3 ไปเลยกับสิ่งที่คนพิการต้องเจอ”  

อย่างคนพิการในชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ซึ่งเป็นที่จับตาในกรุงเทพฯ แต่ละวันมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักร้อยคน ยิ่งประสบกับภาวะยากลำบาก ถือโอกาสส่องชีวิตคนพิการในชุมชนแออัดแห่งนี้ ใกลุ่มดอกแค และภาคีเครือข่าย จึงได้เดินทางนำอาหาร น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้าน และสิ่งของจำเป็นกับผู้พิการ ไปมอบให้กับผู้พิการและครอบครัว ในชุมชนคลองเตย ณ ศูนย์เมอร์ซี่ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

นายชูชาติ คลองพบสุข นายกสมาคมคนพิการพัฒนาอาชีพ และเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ซึ่งเกิดและทำงานช่วยเหลือและพัฒนาคนพิการในชุมชนคลองเตย เล่าว่า จากยอดประชากรในชุมชนคลองเตยที่มีประมาณ 4 หมื่นกว่าคน จาก 48 ชุมชน มีคนพิการ จำนวน 2,672 คน ขณะนี้มีคนพิการติดเชื้อโควิด-19 เพียง 15 คน ถือว่าน้อย เพราะเราควบคุมไม่ให้ผู้พิการ ผู้ป่วยออกจากบ้านเลย ในส่วนผู้พิการที่ติดเชื้อไปแล้วนั้น อาจเพราะติดจากคนข้างนอกที่กลับเข้าไป

ชุมชนคลองเตย แฟ้มภาพ
ชูชาติและทีม อพม.ลงพื้นที่ช่วยชาวคลองเตย
ชูชาติและทีม อพม.ลงพื้นที่ช่วยชาวคลองเตย

ชูชาติยืนยันว่าภาพรวมคนพิการในชุมชนคลองเตยไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ที่จะห่วงคือ ต่างประสบปัญหาไม่มีรายได้ ไม่มีเงิน เพราะที่เคยเป็นแรงงานก็ถูกเลิกจ้าง ที่เคยทำอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย รายได้ก็ลดลง และช่วงหลังยังออกไปทำงานไม่ได้ ฉะนั้นช่วงนี้จึงต้องช่วยด้วยการส่งอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำ ให้ถึงบ้าน โชคดีว่ามีทั้งสปอนเซอร์ช่วยบริจาคบ้าง แต่บางทีก็ต้องควักกระเป๋าตัวเองช่วย

Advertisement

  “คนพิการในคลองเตยมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งอยู่เป็นครอบครัว อย่างมีครอบครัวที่พ่อแม่ลูกพิการหมดเลย ต้องให้ข้างบ้านช่วยดูแล บางครอบครัวก็อยู่กันพ่อลูก พิการทั้งคู่ ไม่มีใครดูแลเช่นกัน เพราะแม่ทอดทิ้ง หรือแม่ลูกพิการ พ่อทิ้ง อีกหลายเคสก็น่าอนาถใจ เป็นผู้สูงอายุพิการ ติดเตียงถูกลูกๆ ทอดทิ้ง ต้องนอนจมปัสสาวะ อุจจาระ เราก็พยายามเอาสิ่งของจำเป็นไปช่วยอยู่ตลอด แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ก็อาจยากหน่อย”

ชูชาติและทีม อพม.ลงพื้นที่ช่วยชาวคลองเตย
นายชูชาติ คลองพบสุข

แต่ตอนนี้ชูชาติเริ่มใจชื้นขึ้นมาหน่อย เพราะสถานการณ์โรคระบาดในชุมชนคลองเตยเริ่มคลี่คลาย

ชูชาติ เล่าอีกว่า หลังจาก อพม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหลวงพ่อวัดสะพาน ได้ช่วยกันทำจุดคัดแยกผู้มีความเสี่ยง และผู้ติดเชื้อให้ออกมาจากครอบครัวและชุมชน หากเสี่ยงก็นำออกมากักตัว หากตรวจเจอว่าติดเชื้อก็นำมารักษาพยาบาล ได้ทำให้ในชุมชนมีความปลอดภัยมากขึ้น

Advertisement

“แม้คนพิการหลายคนจะถูกทอดทิ้ง แต่เขาก็ไม่อยากติดเชื้อ อยากมีชีวิตรอด หลายคนที่เราไปช่วยต่างซาบซึ้งใจ น้ำตาไหล ขอบคุณที่ยังมีเราไปดูแล” ชูชาติกล่าวด้วยน้ำเสียงซาบซึ้ง

ด้าน นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ แห่งสหประชาชาติ เล่าภายหลังเป็นตัวแทนมอบของว่า ไม่น่าเชื่อว่าในชุมชนที่มีทางสัญจรไปมาคับแคบแห่งนี้ จะมีคนพิการอยู่อาศัยรวม 2,000 กว่าคน ทั้งพิการเชิงประจักษ์และไม่เชิงประจักษ์ด้วยสายตา ขณะนี้พวกเขาต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีอาชีพ ไม่มีเงิน ไม่มีที่อื่นให้ไป

เธอมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนคลองเตย บอกว่าผู้พิการรวมถึงคนในชุมชนคลองเตย ตอนนี้ต่างกักตัวอยู่แต่ในบ้าน พยายามออกมานอกบ้านน้อยที่สุด จริงๆ ต้องเอาสิ่งของจำเป็นส่งให้ถึงบ้าน แต่ด้วยไม่รู้ว่าบ้านไหนใครติดเชื้อไปแล้วบ้าง จึงพยายามวางสิ่งของบริจาคผ่านจุดวางของต่างๆ หรือศูนย์ แล้วให้ตัวแทนครอบครัวมารับสิ่งของกลับไป

เสาวลักษณ์นำของบริจาคไปให้ชาวคลองเตย
เสาวลักษณ์นำของบริจาคไปให้ชาวคลองเตย
เสาวลักษณ์นำของบริจาคไปให้ชาวคลองเตย

“จริงๆ ชุมชนคลองเตยตอนนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่รับรู้จากข่าว เพราะทุกอย่างกำลังถูกจัดการเพื่อรอวันคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ดิฉันอยากช่วยเหลือต่อเนื่อง ด้วยโครงการฟื้นฟูอาชีพคนพิการในชุมชนคลองเตย อย่างอาชีพอะไรที่คนพิการทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จหรือรายได้ไม่ดี ก็จะร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาศักยภาพและต่อยอดการตลาด เบื้องต้นจะให้ชุมชนเลือกคนพิการที่พร้อมจะเป็นต้นแบบมาก่อน”

ส่วนประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่คลัสเตอร์ชุมชนคลองเตยได้ฉีดก่อนชุมชนอื่นๆ ขณะนี้ผู้นำชุมชนและชาวชุมชนบางส่วนได้ฉีดแล้วนั้น เสาวลักษณ์ตั้งข้อสงสัยว่า แล้วคนพิการ และผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ตามบ้านจะเข้าถึงการฉีดวัคซีนเพียงใด ระหว่างรอวัคซีนเกิดติดโควิดไปก่อน จะนำรักษาได้ไหม

หากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องรักษาและกักตัวเองอยู่บ้าน การรักษาแบบเทเลเมดีซีนจะช่วยคนพิการป่วยได้จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ฉะนั้นจึงอยากให้ถอดบทเรียนชุมชนคลองเตย สู่การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในชุมชนแออัดอื่นๆ หากเกิดการระบาดจะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ แห่งสหประชาชาติ

  “การที่หลายภาคส่วนลงไปช่วยพื้นที่ชุมชน รวมถึงพวกเราด้วย ได้มีคำถามจากชุมชนอื่นๆ ที่เป็นชุมชนแออัดเหมือนกันกลับมาว่า ทำไมไม่ลงไปช่วยชุมชนเขาบ้าง ทำไมลงแต่คลองเตย มันก็สะท้อนว่าตอนนี้ทุกชุมชนก็กำลังประสบความเดือดร้อนเช่นกัน” นางสาวเสาวลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย

  ความเดือดร้อนลงถึงชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image