เสียงเล็กๆ บนซากปรักหักพัง ไม่อยากสูญเสีย!! อย่ายอมรับ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ 

เสียงเล็กๆ บนซากปรักหักพัง ไม่อยากสูญเสีย!! อย่ายอมรับ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ 

  “เมื่อวันก่อนหนูยังเป็นเด็กวัยรุ่นที่ไม่ค่อยรู้ประสาอะไร แต่วันนี้ต้องก้าวมาเป็นคนที่มีวุฒิภาวะสูงมาก เพราะตั้งแต่วินาทีที่พ่อเสียชีวิต หนูและพี่สาวต้องลุกขึ้นมาดูแลครอบครัว จัดการเรื่องราวต่างๆ ทั้งงานศพพ่อ ประกันตัวแม่ จัดการเอกสารมรดก และต้องหาเงินมาดูแลครอบครัวที่เหลืออยู่ มันไม่มีเวลามาร้องไห้”

เสียงจากนางสาวเอ (นามสมมุติ) วัย 19 ปี เปิดใจเล่าเรื่องราวในครอบครัวของตัวเอง ที่กำลังเผชิญการสูญเสียแสนสาหัส เหตุจากความรุนแรงในครอบครัว

แม้ชีวิตกำลังเผชิญความขมขื่นอย่างหนัก แต่เธอก็อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้น ได้เป็นบทเรียนและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ให้ครอบครัวไทย ‘ลด ละ เลิก’ ใช้ความรุนแรง จึงแชร์เรื่องราวชีวิตผ่านทวิตเตอร์ “@Best_toy_me” ซึ่งมีคนเข้าไปรีทวีตและติดตามเป็นจำนวนมาก

 

Advertisement

  ถอดรหัสความรุนแรงในครอบครัว

นางสาวเอ เปิดใจว่า อยากให้ทุกคนคิดว่าความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน แม้บางครอบครัววันนี้อาจมีความสุข แต่ก็อยากให้คิดว่าวันนึงลูกของเขาอาจไปแต่งงาน และอาจมีการทำร้ายกันก็ได้ เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่สามีกระทำต่อภรรยาเท่านั้น ผู้ชายและแอจีบีทีก็ถูกทำร้ายได้ อีกทั้งมีเรื่องพ่อแม่ที่กระทำต่อลูก แม้จะเป็นความรุนแรงด้วยคำพูด ก็ส่งผลกระทบทางจิตใจ ทำให้ครอบครัวมีความสุขได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

เธอถอดบทเรียนครอบครัวตัวเอง ระยะหลังพ่อเริ่มทะเลาะกับแม่เรื่องเงิน จากความกังวลที่มีลูกหลายคน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเยอะ ก่อนเริ่มมีการลงไม้ลงมือและขยับเพดานสูงขึ้นๆ

“ตอนเกิดเหตุ หนูพยายามวิ่งออกไปขอความช่วยเหลือคนอื่นๆ คนข้างบ้าน ไม่มีใครอยากมาช่วย เขามองว่าเป็นเรื่องครอบครัวคนอื่น หันไปพึ่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขามานะ แต่ทำเพียงไกล่เกลี่ยหน้างาน ซึ่งหนูอยากจะบอกว่าการไกล่เกลี่ยหน้างานไม่ช่วยอะไร เพราะหลังจากเจ้าหน้าที่กลับ ผู้กระทำความรุนแรงอาจยิ่งโมโหเหยื่อว่าแจ้งเจ้าหน้าที่ทำไม พอไม่ได้รับการลงโทษใดๆ สุดท้ายเหยื่อก็ถูกกระทำซ้ำ”

“ในฐานะผู้รับผลกระทบโดยตรง หนูอยากเสนอให้คนนอกสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ อย่างน้อยๆ เหยื่อจะได้รับการช่วยเหลือออย่างทันท่วงที อีกทั้งอยากให้เพิ่มการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน้าเหตุการณ์ ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เพื่อให้ผู้กระทำรู้สึกกลัว ไม่ทำผิดซ้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจริงๆ เช่น อาจทำข้อตกลง หรือใบเตือนให้ผู้กระทำไม่ทำผิดซ้ำ หรือนำตัวไปลงโทษ”

 

  ในวันที่ ‘ภูเขาไฟระเบิด’ 

จริงๆ แม่ของนางสาวเอ เคยโทรไปขอความช่วยเหลือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนโทร.1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับเรื่องไว้เบื้องต้นแล้ว แต่วันหนึ่งแม่ไม่ได้รับสายโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่โทรมาติดตาม ทำให้ขาดการติดต่อช่วยเหลือไป เรื่องราวก็ผ่านมาจนกระทั่งวันที่ภูเขาไฟระเบิด วันนั้นความรุนแรงสะสมได้ปลดปล่อยเป็นความรุนแรงที่ใหญ่กว่า จากผู้กระทำความรุนแรงมาตลอด วันนั้นต้องตกอยู่ในสภาพผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมาตลอด วันนั้นตกอยู่ในสภาพผู้ต้องหาทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เป็นตอนจบของเรื่องที่เธอและครอบครัวเสียใจมาก ไม่อยากให้เกิด

“จริงๆ ก่อนมีเหตุการณ์นี้ หากมีกระบวนการที่นำพ่อไปเตือนสติบ้าง มันก็จบ เพราะใช่ว่าทุกคนจะเลวร้ายในทันที พ่อก็เป็นคนดีคนหนึ่ง ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่เพราะปัญหามันสะสมมานาน ไม่ได้รับการแก้ไข จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนแม่แม้จะทำผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็ถือว่าเป็นเหยื่อคนหนึ่ง จริงๆ เหตุการณ์นี้ยังพบกับครอบครัวอื่น ปัญหามันไม่ได้ลดลงเลย หนูจึงอยากออกมาส่งเสียง เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” นางสาวเอเล่าด้วยน้ำเสียงเข้มแข็ง

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด หลายครอบครัวกำลังประสบปัญหาเรื่องการเงินเช่นกัน เธอกังวลว่าความรุนแรงกำลังเคาะประตูบ้านแต่ละครอบครัว ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องไม่ยอมรับความรุนแรง เริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ต้องทำให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสามารถแก้ไขเพื่อยุติได้ เมื่อนั้นคนก็จะเชื่อมั่นในระบบ เริ่มปรับความคิดได้ว่าปัญหานี้นิ่งเฉยไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ เมื่อพบเห็นหรือประสบจะต้องแจ้งเหตุ ขณะที่ภาคสื่อสารมวลชน จะต้องผลิตสื่อที่มีคุณภาพ อย่างละครไทยที่อาจดูตัวอย่างเกาหลีใต้ ที่ชอบให้บทบาทพระเอกดูสุภาพนุ่มนวล แก้ปัญหาผู้ชายชอบใช้ความรุนแรง ส่วนการเผยแพร่ข่าว จะต้องชวนสังคมเรียนรู้และเข้าใจความละเอียดอ่อน ไม่ใช่เพียงขายข่าวดราม่าผัวเมียทะเลาะกันเรียกเรตติ้ง ลูกๆ ที่เหลือจะอยู่อย่างไรเท่านั้น

 

รู้จักภาวะ Battered Wife Syndrome

โศกนาฏกรรมกำลังเกิดขึ้นในหลายครอบครัว จับสัญญาณและถอดรหัสโดยคนทำงานช่วยเหลือผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เล่าว่า ภาวะที่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้าจนมีแนวโน้มก่อให้เกิดความรุนแรง เป็นอาการบกพร่องทางจิตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “Battered Woman Syndrome หรือ BWS” ซึ่งด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนอยู่ด้วยกันนานขึ้น ประสบภาวะรายได้ลดลง ถูกเลิกจ้างงาน เครียด พึ่งพายาเสพติด สุรา ตลอดจนหึงหวงคนรัก เป็นปัจจัยให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิได้รับการส่งต่อเคสลักษณะนี้ให้ช่วยเหลือถี่ขึ้น

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

ในช่วงโควิด-19 ระบาด มูลนิธิรับเคส BWS ที่ภรรยาตอบโต้กลับจนสามีเสียชีวิตมา 3 เคส พบความคล้ายคลึงกันคือ สามีผู้กระทำมีทัศนคติชายเป็นใหญ่ มองภรรยาเป็นทรัยพ์สินของตัวเอง พอเกิดความหึงหวง ก็แสดงความเป็นเจ้าของ และนำมาสู่ความรุนแรง

“3 เคสนี้ พบว่าพวกเธอล้วนถูกกระทำความรุนแรงมาก่อนแล้ว อย่างเคสที่ 1 กับ 2 ตัดสินใจออกมาแล้ว ตัวฝ่ายชายก็ยังตามไปง้อ สัญญาว่าจะกลับตัวเป็นคนดี ไม่กระทำอีก เคสที่ 1 ถึงกับให้แม่ฝ่ายชายไปช่วยการันตีกับญาติฝ่ายหญิง แต่พอกลับมา ก็เกิดเหตุการณ์เดิมๆ ส่วนเคสที่ 2 ฝ่ายหญิงไม่ยอมกลับ ฝ่ายชายก็ไม่ยอม คิดว่าตัวเองไม่ได้ ก็ต้องเอาให้ตาย และเคสที่ 3 เป็นครอบครัวที่มีลูกหลายคน ผลกระทบจึงมากกว่าการที่พ่อเสียชีวิต”

  “ก่อนถึงวันแตกหักของครอบครัวทั้ง 3 พบว่า แต่ละเคสไม่มีใครมาเป็นตัวกลางช่วยแก้ไขปัญหาจริงๆ จังๆ อย่างบางเคสคนข้างบ้านก็รู้ทั้งรู้ ว่าครอบครัวนี้มีปัญหา รู้ว่าสามีบ้านนี้ชอบตบตีภรรยา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร บางเคสแจ้งตำรวจลงบันทึกประจำวันแล้วด้วยซ้ำ แต่ไม่ทันไรก็เกิดเหตุอีก และครั้งนี้ถึงขั้นเสียชีวิต”

 

แก้ปัญหาทำงานเชิงรุก-บำบัดความรุนแรง

นางสาวสุเพ็ญศรี เล่าอีกว่า ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 3 เคส เข้าไม่ถึงหน่วยงานที่แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเลย ทำไมบริการของรัฐ เช่น สายด่วนโทร.1300 ที่ประกาศนโยบายว่าสามารถช่วยแก้ไขความเดือดร้อนได้ภายใน 24 ชั่วโมง จะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิตามนโยบาย ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ที่รับผิดชอบปัญหานี้โดยตรง ทำอย่างไรที่จะทำงานเชิงรุก นอกจากมอนิเตอร์สื่อออนไลน์ ทำอย่างไรที่จะมีระบบคัดกรอง เพื่อหาว่าเคสไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อจะส่งทีมเคลื่อนที่เร็วไปช่วยถึงที่ เป็นทีมที่ให้บริการอย่างเข้าใจความละเอียดอ่อนผู้เสียหาย ไม่ตีตรา มีการแจ้งสิทธิและสวัสดิการให้ผู้เสียหายทราบ เพื่อสามารถตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการที่เป็นธรรม และติดตามสอบถามเคสจนสิ้นสุดคดี

  “จริงๆ เรื่องนี้ต้องช่วยกันทั้งหมด เริ่มที่ตัวผู้เสียหายเองก่อน ต้องกล้าออกมาร้องขอความช่วยเหลือ แจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำ อย่างน้อยๆ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กระทำไปบำบัดรักษาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสั่งให้ผู้กระทำห้ามคุกคาม ห้ามเข้าใกล้ได้ ให้ส่งค่าเลี้ยงดูได้ ตัวผู้ถูกกระทำเองก็จะได้รับการรักษาเยียวยา แต่เพราะที่ผ่านมาเราไม่แจ้งความกัน เนื่องจากไม่อยากเอาเรื่องสามี กลัวกระทบครอบครัว จึงโดนกระทำความรุนแรงซ้ำ”

ส่วนกรณีภรรยาที่ตอบโต้สามีจนเสียชีวิต เพราะภาวะ BWS นั้น นางสาวสุเพ็ญศรีบอกว่า แม้กฎหมายปัจจุบันอาจยังไม่มองตรงๆ ว่าเป็นการป้องกันตัว แต่ส่วนใหญ่ศาลก็รับฟังนะ กับผู้หญิงที่ต้องเผชิญภาวะดังกล่าว จริงๆ ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ถูกยับยั้งไป ก็เริ่มมีระบุให้ภรรยาที่ถูกกระทำและมีภาวะดังกล่าว สามารถร้องต่อศาลเพื่อขอลดโทษได้ด้วยซ้ำ

 

กรมสตรีฯ ปรับปรุงบริการกำชับช่วยเร็ว แก้ได้ 

ด้าน นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรม สค. กระทรวง พม. กล่าวว่า สค.ได้รับฟังสถานการณ์และข้อเสนอมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม จึงมีมาตรการในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ ซักซ้อมแนวทางการดาเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งดิฉันได้ตั้งมาตรฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ สค. หลังจากเคสแจ้งขอความช่วยเหลือ ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้เสียหายทันที สอบสวนอย่างเข้าใจความละเอียดอ่อนผู้เสียหายภายใน 24 ชั่วโมง และไม่ว่าจะแจ้งความหรือไม่แจ้งความ ก็จะต้องมีการติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง

  “จากนี้เคสความรุนแรงในครอบครัวจะมาไกล่เกลี่ยยอมความเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่ทำแล้ว หรือไม่ก็ให้ตำรวจยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่ง ให้ผู้กระทำความรุนแรงไปบำบัด ต้องไม่ทำอีก จ่ายค่าเลี้ยงดู เหยื่อก็เข้ารับการรักษา ส่วนกรณีผู้หญิงที่อยู่ในภาวะ BWS เราก็มีกระบวนการเอ็มเพาเวอร์ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยจะร่วมกับภาคีเครือข่าย”

อธิบดี สค.ยังมองปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าอาจต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ ที่ขับเคลื่อนดูแลแก้ปัญหานี้โดยตรง เพื่อกำหนดนโยบาย และสร้างความร่วมมือให้ชัดเจน ไม่ว่า พม. สถานีตำรวจ โรงพยาบาล เบื้องต้นคิดว่าจะเสนอให้ตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เร็วๆ นี้

นางจินตนา จันทร์บำรุง

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดทำโพลสำรวจสถานการณ์ครอบครัวไทยในช่วงโควิด -19 ระลอก 3 เพื่อรู้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน และรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชน เพื่อออกมาตรการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

นางจินตนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ก็ฝากประชาชนให้มีสติในสถานการณ์โรคระบาดนี้ อีกทั้งมีความรักความเอาใจใส่กัน พูดและคิดดีต่อกัน ให้กำลังใจกัน แต่หากเกิดความรุนแรงในครอบครัวไปแล้ว ไม่ว่าจะประสบเองโดยตรง หรือพบเห็นความรุนแรง อย่านิ่งเฉย อย่าใจอ่อน อย่างๆ น้อยโทรมาสายด่วนโทร.1300 หรือเข้ามาที่ไลน์แอดแฟมิลี่ (@linefamily) และเว็บไซต์เพื่อนครอบครัว (www.เพื่อนครอบครัว.com) นอกจากช่วยแก้ไขให้ได้ เรายังมีบริการให้คำปรึกษาด้านสตรีและครอบครัวจากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย

เพื่อนครอบครัว

ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ความรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image