โควิดกับผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ความรุนแรงลด ความเดือดร้อนเพิ่ม”

โควิดกับผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนใต้ "ความรุนแรงลด ความเดือดร้อนเพิ่ม"

โควิดกับผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ความรุนแรงลด ความเดือดร้อนเพิ่ม”

ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด มากน้อยแตกต่างกันไป ไม่เว้นกระทั่งพื้นที่พิเศษอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะละ และนราธิวาส ซึ่งลำพังก็ประสบภาวะการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว ได้ทำให้สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ซับซ้อนและแตกต่างออกไป

บอกเล่าผ่านการเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “โควิดกับผู้หญิง ณ 3 จังหวัดชายแดนใต้” จัดโดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI)

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) เล่าว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา เกิดจากการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ของพี่น้องที่ไปทำงานประเทศเพื่อนบ้านกลับมายังประเทศไทย อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช้สื่อออนไลน์ ทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เพื่อห่างไกลจากโรคระบาด จึงเห็นปรากฏการณ์ที่คน 3 จังหวัดชายแดนใต้แห่ไปธนาคารจนแน่น เพื่อลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เหล่านี้ได้ทำให้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สูงมาก ซึ่งก็ต้องชื่นชม อสม.ในพื้นที่ ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ

  ที่น่าสนใจคือ โรคอุบัติใหม่ทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง เธอมองว่า อาจเพราะประชาชนขณะนี้ กำลังตึงเครียดกับคุณภาพชีวิตและโรคภัยไข้เจ็บ ฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายไหน หากยังออกมาสู้รบ แบ่งแยก สร้างความขัดแย้ง ก็จะไม่ได้รับความชอบธรรมจากประชาชนในพื้นที่แน่นอน ฉะนั้นการที่เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง ก็อาจมาจากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นความสำคัญตรงนี้ และอยากให้มีการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาด

Advertisement

  “แต่ที่น่ากังวลคือ ความรุนแรงไปเกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งจากเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา พบมีเรื่องร้องขอความช่วยเหลือแล้วถึง 30 เคส ก็พบปัจจัยของการถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินมาดูแลครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีลูกหลายคน เฉลี่ยต่อครอบครัวมีลูกขั้นต่ำ 5-6 คน ฉะนั้นแม้ได้รับสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอย่างทั่วถึง แต่เงิน 600 บาทต่อเดือน ก็ยังไม่เพียงพอที่จะต้องมาเฉลี่ยใช้จ่ายดูแลพี่ๆ ที่อายุเกินเกณฑ์รับสิทธิ เหล่านี้ทำให้เกิดความตึงเครียด จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว”

  “อีกทั้ง ช่วงโควิดที่ทำให้คนกลับมาอยู่บ้านด้วยกัน ไม่มีอะไรทำ ได้ทำให้เกิดกรณีเด็กผู้หญิงถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมี 3 เดือนที่ผ่านมา มีเข้ามาที่สมาคมแล้ว 6 เคส พบอายุผู้ถูกกระทำต่ำสุด 12 ปี ขณะที่ผู้กระทำส่วนใหญ่คือ สมาชิกในครอบครัว รองลงมาคือ ผู้มีอิทธิพลในชุมชน”

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)

ส่วนมิติการศึกษา ที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ปาตีเมาะบอกว่า มีปัญหามาก ถึงขั้นว่ามีผู้ปกครองมาร้องไห้ บอกว่าไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์มือถือไว้เรียนออนไลน์ เงินเยียวยาที่ผ่านมา คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการซื้อโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตอีก จึงเป็นความเดือดร้อนอย่างมาก ยิ่งบางครอบครัวมีลูกหลายคน ลูกๆ แต่ละคนอยู่หลายช่วงชั้นเรียน จึงต้องแย่งกันเรียน บางคนต้องปริ้นงานด้วย จึงเป็นภาระอันใหญ่มาก แต่บางชุมชนก็ปรับตัว ลูกบ้านไหนอยู่ชั้นเดียวกัน ก็ให้มาเรียนร่วมกันในโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว แบ่งบ้านละ 2-3 คน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

Advertisement

หลากหลายปัญหาเด็ก ผู้หญิง และครอบครัวข้างต้น เธอพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยคลี่คลายวิกฤต ตั้งแต่คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเพื่อเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) อาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในระยะยาวอยากให้มีการส่งเสริมความรู้การสร้างครอบครัว การเตรียมพร้อมก่อนการมีบุตร การเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ ท่ามกลางสถานการณ์เด็กเกิดน้อย ต้องส่งเสริมให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ

แม้จะมีหลายเรื่องต้องแก้ไข แต่เธอก็ยังอุ่นใจว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ธารน้ำใจหลั่งไหลช่วยเหลือพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด ที่สำคัญได้เห็นการลุกขึ้นของชุมชนเพื่อช่วยเหลือตัวเอง อย่างที่ จ.ปัตตานี ที่ใช้ต้นทุนชุมชน ใครมีอะไรก็เอามาบริจาคกัน เช่น ไก่ มะละกอ หล่อไม้ ฯลฯ แล้วนำมาทำเป็นอาหารปรุงกันในโรงเรียนของชุมชน ส่งแจกจ่ายให้ประชาชนตามบ้าน นี่เป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืนกว่าการรอให้รัฐมาช่วยเหลืออย่างเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image