อัพเดตชีวิต ‘น้องตุ้ม’ กราฟชีวิตที่ค่อยๆ ไต่ระดับ กับความ ‘ย้อนแย้ง’ ยังไม่โอเค

อัพเดตชีวิต ‘น้องตุ้ม’ กราฟชีวิตที่ค่อยๆ ไต่ระดับ กับความ ‘ย้อนแย้ง’ ยังไม่โอเค

โด่งดังในบทบาท “ผู้หญิงข้ามเพศ” ในวงการมวยไทยที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ของผู้ชาย สำหรับ ปริญญา เจริญผล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้องตุ้ม” ปริญญา เกียรติบุษบา ที่ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในภาพจำของคนไทยทั้งประเทศ กับภาพ “นักมวยปากแดง” ที่กลายเป็นสีสันของวงการต่อสู้ด้วยหมัดเข่าศอก ทำผลงานขึ้นชกบนสนามมวยลุมพินี ขณะอายุ 16 ปี ทำผลงานขึ้นชก 60-70 ครั้ง พ่ายคะแนนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น

ชื่อเสียงของเธอเป็นที่ฮือฮาถึงขนาด ได้รับการถ่ายทอดชีวประวัติเป็นภาพยนตร์ดังอย่าง “บิวติฟูล บ็อกเซอร์”

ปัจจุบัน “น้องตุ้ม” ครบรอบ 40 ปี ในเดือนมิถุนายนนี้ เดือนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ไพร์ด มันธ์” (Pride Month) หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQN+) ที่ต้องต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติมาช้านาน เพื่อนำไปสู่การยอมรับและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในมิติต่างๆ

Advertisement

ฉะนั้น หากจะชวนใครสักคนมาพูดถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศ การจับเข่าคุยกับ “ราชินีสังเวียนมวย” ที่เบื้องหลังผ่านการต่อสู้มามากมายทั้งบนสังเวียนและนอกสังเวียน สะท้อนให้เห็นถึงเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่หลายๆ อย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่บางอย่างแม้ว่าผ่านมา 20-30 ปีแล้วก็ยังเหมือนเดิม

ปฏิเสธความอ่อนแอ
ใช่-ไม่ใช่ ใจจะบอก

“ตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นอะไร แต่พอจำความได้ก็รู้สึกชอบผมยาวๆ ของแม่นะ เราชอบใส่กระโปรง ชอบเสื้อผ้าที่พี่สาวใส่ที่แม่ใส่ แล้วพอโตขึ้นมาแล้วถึงรู้ว่า อ๋อ เราอยากเป็นผู้หญิง” ปริญญาในวัย 40 ปี เล่าย้อนกลับไปถึงชีวิตในวัยเด็ก ราวๆ 30 ปีก่อนที่เริ่มทำความรู้จักกันตัวตนของตัวเอง

Advertisement

ปริญญา เล่าว่า ในยุคนั้นเราเป็นเด็กผู้ชาย ที่ไม่เล่นเหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นๆ ชอบเล่นกับผู้หญิง เวลาเข้าสังคมก็มักจะถูกเด็กผู้ชายบูลลี่ ล้อว่า ‘ไอ้ตุ๊ด’ ด้วยความที่เราไม่อยากโดนบูลลี่ก็จะปฏิเสธ “ฉันไม่ใช่” ก็คือเรายอมรับไม่ได้ ที่แกล้งแรงสุดคือเอาพริกมาป้ายตาเรา แถมยังลามไปถึงน้องชายของเราด้วย ทำให้ขีดความอดทนระเบิด เลือดขึ้นหน้าเลยซัดกลับจนอีกฝ่ายสลบไป

“จริงๆ แล้ว ตุ้มว่าแผลของชาวแอลจีบีทีตั้งแต่เล็กจนโตก็เริ่มจากการโดนแกล้ง โดนว่าโดนด่า แล้วเราก็พยายามที่จะปกป้องตัวเองโดยการปฏิเสธว่าไม่ใช่ ไม่ได้เป็นเพราะถ้ายอมรับไปว่า ‘ใช่’ เขาก็จะยิ่งแกล้งเรา จับตาที่จะแกล้งเรา เพราะมองว่าการเป็นแอลจีบีทีคือความอ่อนแอ แปลก และไม่เหมือนคนอื่น” ตุ้มกล่าวถึงบาดแผลในวัยเด็กกระทั่งเปลี่ยนเป็นพลังพรสวรรค์

เธอว่าอาจจะเป็นเพราะความกดดันจากการถูกแกล้งเลยคิดอยากจะมีวิชาป้องกันตัวเอง ประกอบกับที่ค้นหาพรสวรรค์ของตัวเองเจอ เพราะทุกครั้งที่ฮึดสู้พลังจะเยอะมากก็เลยรู้สึกว่าน่าจะลองชกมวยแบบจริงจังดู แต่ถ้าถามว่าชอบไหมตอนนั้น ปริญญายังไม่ชอบ เพราะคงไม่มีกะเทยที่ไหนชอบชกต่อยเห็นคนต่อยกันก็ใจเสียแล้ว

วิชาแม่ไม้มวยไทยจึงเหมือนเข้ามาเป็นกิจกรรมที่ขจัดภาพลักษณ์ความอ่อนแอของตุ้ม บอกว่า “ฉันก็สู้นะ”

เฉิดฉายไว้ก่อน
ศักดิ์ศรีบนสังเวียน กับคำเหยียดหยาม

ปริญญา เกียรติบุษบา ย้ำว่า การเลือกเรียนรู้ชีวิตบนสังเวียนวันนั้นเธอเลือกถูกแล้ว เพราะมวยไทยให้อะไรกับเธอเยอะมาก

“ถ้าไม่มีมวยไทยก็ไม่มีน้องตุ้มในวันนี้ ที่สำคัญอาจจะฟังดูขัดกันมากเพราะมวยไทยซึ่งอดีตเป็นพื้นที่ของผู้ชาย กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ตุ้มเป็นหญิงสมดังใจ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง”

ชีวิตในค่ายมวยของตุ้มค่อนข้างจะเงียบ ด้วยแรกๆ ต้องปิดบังตัวตน จนกระทั่งมาเผยว่าเธอมีใจเป็นหญิง รุ่นพี่รุ่นน้องในค่ายก็เริ่มล้อ แต่ครูมวยคนแรกที่ตุ้มเคารพนับถือ เป็นคนที่มีเหตุผลและเป็นที่เคารพของทุกคนในค่าย เรียกเธอเข้าไปคุยบอกว่า

“พี่ไม่สนนะ ไม่ใส่ใจว่าตุ้มเป็นอะไร แต่ขออย่างเดียวคือขึ้นเวทีตุ้มสู้ให้เต็มที่ ตุ้มจะแต่งหน้าจะทาปากก็แล้วแต่” เป็นเหมือนการปลดล็อกให้ ปริญญา เกียรติบุษบา ขึ้นชกด้วยตัวตนที่เป็นตัวเองอย่างที่สุด เธอใช้เวลาร่วมชั่วโมงในการบรรจงเขียนคิ้ว แต่งหน้า ทาปาก กล้ามแขนที่แน่นปึ้ก คือแหล่งพลังงานของเธอ

“ตุ้มดีใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก เราไม่ต้องปิดบังใครแล้ว เราไม่แคร์ใครแล้ว เราแคร์แค่ครูมวยของเราเท่านั้น และในเมื่อคนที่เราเคารพเข้าใจ ก็ปล่อยเลย แต่ละไฟล์ทที่จะขึ้นชกตุ้มต้องแต่งตัวเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง แม้คิ้วไม่เท่ากัน กล้ามจะใหญ่ขนาดไหน แต่ต้องจัดเต็มไว้ก่อน เฉิดฉายไว้ก่อน” ตุ้มเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส

และตลอด 60-70 ครั้งที่ขึ้นชก ตุ้มใส่เต็มที่ทุกครั้ง ความใจสู้และเอาจริงของเธอ เอาชนะใจทุกคนในค่าย เจ้าของค่าย ดังที่หลายๆ คนบอกเธอว่า “ยอมใจ ต่อให้ล้อว่าเป็นกะเทย แต่ยังสู้” แน่นอนว่าเอาชนะใจแฟนมวยได้ด้วย ทำให้เธอมีแฟนคลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแฟนคลับชาวเหนือที่เรียกเธอว่า “อีตุ้ม”
ขณะเดียวกัน ดังที่ปรากฏว่า “กีฬาชกมวย” หรือ “มวยไทย” เป็นพื้นที่ของผู้ชาย นักมวยส่วนมากล้วนเป็นผู้ชาย ทำให้การขึ้นชกของ ปริญญา ที่เป็นนักมวยข้ามเพศไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“ลองคิดตามว่าแค่ในศึกของนักมวยชายกับชาย ยังไม่อยากแพ้ เขาวัดกันว่าเป็นศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย แล้วนับประสาอะไรกับกะเทย ถ้าเขาแพ้กะเทย เขาจะอายถึงขั้นไหน เพราะฉะนั้นเหมือนว่ามวยไทยยากแล้ว แต่พอตุ้มก้าวเข้าไปมันยากขึ้นอีก เพราะไม่มีผู้ชายหน้าไหนอยากแพ้กะเทย มีแต่อยากจะเหยียบเตะกะเทยเล่น” ตุ้มกล่าว

สารพัดคำพูดอย่าง “คอยดูนะ เดี๋ยวจะเตะกะเทยเล่นให้ดู” “เดี๋ยวจะเตะกะเทยให้กลิ้งเลย” รวมถึงมีหลายคนมาจับตูดและล้อว่า “น้องสาว” หรือพี่เลี้ยงนักมวยฝ่ายตรงข้ามมักจะพูดว่า “ไฟต์นี้ถ้าแพ้กะเทยนะ กลับไปเลี้ยงควายเลยไป” คือ สิ่งที่นักมวยข้ามเพศอย่างตุ้มต้องเจออยู่เสมอ

แม้จะกดดันมาก แต่เธอเปลี่ยนแรงกดดันเหล่านี้ให้เป็นแรงผลักดันใส่ให้เต็มที่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ในประวัติการชกพ่ายคะแนนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น

เพศสภาพใช่ แต่กฎหมายไม่ยอมรับ

ในด้านการใช้ชีวิต ตุ้ม เผยมุมมองต่อการยอมรับในสังคมไทยว่า หากมองในภาพรวมจากทั่วโลก คิดว่าสังคมไทยค่อนข้างให้การยอมรับต่อการมีอยู่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เดินสวนกันหรือเห็นกันก็จะเฉย มองเป็นเรื่องปกติ หรือในหลายๆ คนก็ชื่นชมชาวแอลจีบีทีด้วย ทว่าในด้านกฎหมายประเทศไทยกลับไม่ยอมรับพวกเรา เป็นปัญหาที่ทุกคนรู้ว่ามีมาแต่ช้านานแล้ว

“ตุ้มแปลงเพศมาแล้ว 20 ปี จนมาตอนนี้คุยกับเพื่อนชาวต่างประเทศ เขาก็บอกยังไม่อยากเชื่อว่ากฏหมายประเทศเรายังไม่รองรับ อย่างเช่นเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับเพศสภาพ ซึ่งก็ทำให้เรายังต้องใช้คำนำหน้าว่า ‘นาย’ ในหลายๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ตและเอกสารราชการต่างๆ สำหรับตุ้มก็บอกได้เลยว่า มันก็อายนะ” ตุ้มกล่าวพร้อมยกตัวอย่างถึงความย้อนแย้งที่เธอยังต้องเผชิญอยู่ว่า…

“ปัจจุบันตุ้มรับสอนเด็กๆ ตามโรงเรียนในชั่วโมงวิชาพละและวิชาเสรีมวยไทย ก็จะต้องมีการติดต่อเอกสารทางราชการซึ่งมีคำนำหน้าว่านาย ก็จะคุยกับคุณครูก่อนว่าขอเรียกตุ้มด้วยชื่อเฉยๆ ได้ไหม อย่าเรียกนายเลย เพราะบางครั้งเราก็อาย ทุกครั้งที่ต้องเซ็นชื่อด้วยคำว่านาย เราจัดเต็มความสวยแต่งหน้า แต่งตัว ผมยาว แต่ต้องเขียนคำว่า นาย รู้สึกไม่โอเคมากๆ”

“ตอนไปต่างประเทศเชื่อว่าแอลจีบีทีหลายคนก็คงจะมีประสบการณ์เหมือนกัน คือการผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง พอคำนำหน้าไม่ตรงกับเพศสภาพ เจ้าหน้าที่ก็จะมองพาสปอร์ตสลับกับมองหน้าเราหลายๆ ครั้ง บางประเทศถึงกับเรียกกันมาดูแล้วหัวเราะคิกคัก ก็ต้อมยอมก้มหน้า ทั้งๆ ที่เราเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างชื่อให้กับประเทศไทย” ตุ้มกล่าว

คุณแม่ของลูกสาว
คุณค่าที่สัมผัสได้ แม้ให้กำเนิดไม่ได้

อีกด้านนอกจากเป็นนักชกที่เทคนิคแน่นแล้ว ปริญญา ยังมีมุมอ่อนโยนกับบทบาทของการเป็น “แม่” ด้วยการรับลูกของน้องชายมาเลี้ยง ทว่าเมื่อพาลูกสาวไปจดทะเบียนแจ้งเกิดเพื่อรับรองบุตร ด้วยมีคำนำหน้าเป็นนาย เจ้าหน้าที่จึงแจ้งกับเธอว่า

“ใครจะรับเป็นบุตร เพราะถ้าตุ้มรับ ตุ้มต้องเป็นพ่อ คนก็มองตุ้มเต็ม ก็เลยต้องให้พ่อแม่ของตุ้มรับลูกสาวตุ้มเป็นบุตรแทน วินาทีนั้นที่ไม่เซ็นรับเป็นพ่อเพราะตุ้มคิดไปถึงตอนลูกโตจนรู้ความ เกิดวันหนึ่งมีเหตุต้องไปทำหน้าที่ผู้ปกครองแล้วเรียกพบพ่อของ ด.ญ.คนนี้ ในขณะที่เราเพศสภาพเป็นหญิงแล้ว ลูกเราจะงงไหม” ตุ้มเล่าย้อนกลับไป

“ปัจจุบันลูกโตขึ้น เขาเข้าใจดี เวลาพาเพื่อนมาบ้าน เพื่อนของลูกก็เรียกตุ้มว่าแม่หมด ส่วนหนึ่งตุ้มคิดว่าเป็นเพราะเราวางตัวดี แล้วเราก็เป็นแบบอย่างกุลสตรีให้กับลูกสาวด้วย” ปริญญากล่าวก่อนครุ่นคิดและเปลือยความในใจว่า

ความเป็นแม่ของตุ้ม ตุ้มไม่ได้เสียใจที่ให้กำเนิดเขาไม่ได้ มีหลายคนว่าตุ้มว่าอย่ามั่นให้มาก มีมดลูกก่อนละค่อยมาพูด แต่ตุ้มกลับคิดว่าแม้ตุ้มจะให้กำเนิดเขาไม่ได้ แต่ตุ้มให้โอกาสดีๆ ความรักความอบอุ่นกับเขาได้ คุณค่าของคำว่าแม่ไม่ได้อยู่ที่เพศแต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นแม่ยังไง เช่นเดียวกับการเป็นครูของตุ้ม ตุ้มคำนึงถึงหน้าที่ของครูตลอด ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นเพศที่เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าคนจะยอมรับเราที่คุณค่าและการกระทำ

นิยามไม่จำกัด
เคารพการตัดสินใจ

กราฟชีวิตของ “น้องตุ้ม” นับว่าทำความฝันสำเร็จไปทีละขั้นตอน ซึ่งในปัจจุบันเธอและครอบครัวใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งทำงานบริษัท เปิดค่ายมวยของตัวเองชื่อ “น้องตุ้มมวยไทยยิม” มาแล้ว 6 ปี แต่ขณะนี้ปิดชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะมีลูกศิษย์ลูกหาทุกเพศทุกวัย สอนพิเศษวิชาพลศึกษาชั่วโมงมวยไทยในโรงเรียนต่างๆ และถ่ายสารคดีต่างประเทศนำเสนอภาพลักษณ์แม่ไม้มวยไทยแก่ชาวโลก

ด้านชีวิตรักกับแฟนหนุ่มนักมวยรุ่นน้อง คบหากันมานานกว่า 9 ปีแล้ว ตุ้มเล่าด้วยรอยยิ้มว่า คบกันมา 8-9 ปีแล้ว จริงๆอยู่กันมาขนาดนี้แล้วไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการอยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข แต่ถามว่าอยากให้สมรสเท่าเทียมไหม บอกเลยว่าอยาก อยากแต่งงานเพราะอย่างน้อยเราก็อยากใส่ชุดเจ้าสาว

และในปัจจุบันมีศัพย์นิยามความหลากหลายทางเพศมากมาย ตุ้มมองว่า ความต้องการของคนเราก็มีหลากหลายเช่นเดียวกัน ตุ้มแค่มองว่าใครจะอยากนิยามตัวเองว่าเป็นแบบไหนถ้ามีความสุขก็ทำเถอะ ตุ้มห้ามใครไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเราควรที่จะเคารพการตัดสินใจของเขา คนอื่นก็จะได้เคารพการตัดสินใจของเราด้วย เท่าเทียมกัน

ทิ้งท้ายกับวลีประจำตัวน้องตุ้ม อย่าง “พ่อไม่เข้าใจตุ้ม” ที่เจ้าตัวเฉลยว่าที่แท้เป็นเพียงคอนเซ็ปโฆษณาแอร์ที่ตอนนั้นแบรนด์ต้องการจะนำเสนอว่าไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยลูกชายก็โตขึ้นมาเป็นผู้ชาย แต่ยุคนี้ลูกชายโตขึ้นมาเป็นผู้หญิงก็ได้ แต่แอร์ยังเย็นเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

ซึ่งปัจจุบัน น้องตุ้ม ยืนยันว่าตนกับพ่อรักใคร่กลมเกลียวกันดี (ฮา) ทว่า ปริญญา เกียรติบุษบา ในวันนี้ก็ยังมีคนเจอหน้าแล้วทักว่า “พ่อไม่เข้าใจตุ้ม!” อยู่เช่นเคย

การันตีความโด่งดังของ ‘ราชินีสังเวียนมวย’ แห่งยุคจริงๆ


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image