วงเสวนาแฉโรงเรียน-มหา’ลัยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย “ครู รุ่นพี่ เพื่อน รุ่นน้อง” พร้อมคุกคามทางเพศ ผู้ชายก็โดน!

สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ

วงเสวนาแฉโรงเรียน-มหา’ลัยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย “ครู รุ่นพี่ เพื่อน รุ่นน้อง” พร้อมคุกคามทางเพศ ผู้ชายก็โดน!

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ” โดย นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การคุกคามทางเพศมีทั้งทางตรง ทางอ้อม ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง คำพูด ร่างกาย หรือ สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้เป็นเป้าของการกระทำนั้นเดือดร้อน อึดอัด ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย

โดยแบ่งเป็น 1.การคุกคามทางเพศออฟไลน์ ผู้ถูกกระทำมีอำนาจหรือการต่อรองน้อยกว่า 2.การคุกคามทางออนไลน์ ผู้กระทำจะค้นหาและเป็นฝ่ายสังเกตว่าผู้ถูกกระทำเป็นใคร เพื่อหาช่องกระทำการคุกคาม ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวการคุกคามทางเพศในสถานศึกษาช่วงปี 2562-2564 พบว่า มี 12 กรณี แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือ ครู ส่วนผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่เก็บเรื่องไว้ไม่กล้าบอกใคร จนครอบครัวเห็นจากโทรศัพท์โดยบังเอิญ ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด ป่วยโรคซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย ส่วนการคุกคามทางเพศในระดับมหาวิทยาลัย 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือ อาจารย์ เพื่อนรุ่นพี่ เป็นต้น โดยเข้ามาในลักษณะความห่วงใย เป็นแฟนและพยายามข่มขืน ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ต้องการดำเนินคดีกับคู่กรณี

นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า มูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอให้สถานศึกษาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศให้แก่นักเรียน นักศึกษา อีกทั้งควรมีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย โดยช่องทางแรกที่ควรทำ คือการเข้าถึงและพูดคุยให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากผู้ถูกกระทำต้องการแจ้งความดำเนินคดี จะถูกตั้งคำถามอย่างไรบ้าง หรืออธิบายถึงขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินคดี ใครบ้างที่ต้องถูกเรียกตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการพิสูจน์ พยาน หลักฐานเป็นอย่างไร เป็นต้น

สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ

ส่วน ดร.ชเนตตี  ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าการคุกคามทางเพศเป็นอาชญากรรม และปัญหาในมหาวิทยาลัยกลับถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน เพราะนักศึกษาชาย หญิงตีความต่างกัน โดยนักศึกษาชายตีความนิยามแบบแคบว่าต้องเป็นการข่มขืนถึงเรียกว่าเป็นการคุกคามทางเพศ แต่นักศึกษาหญิงจะตีความแบบกว้างโดยมองว่าการคุกคามทางเพศ จะครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้วาจา สายตา ภาษากาย ข่มขืน ในขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ เพราะคิดว่าปัญหาไม่มีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าทั้งนักศึกษาชาย และหญิงต่างก็เป็นเหยื่อ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่อันตราย ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ เรื่องของวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นบางเรื่องอาจจะละเอียดอ่อนจนไม่ทันคิดว่า นั่นคือปัญหาการคุกคามทางเพศ บวกกับการตีความที่ต่างกัน

Advertisement

“ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือ มหาวิทยาลัยต้องเปิดอบรมนักศึกษาให้ เปลี่ยนทัศนคติเรื่องการคุกคามทางเพศที่ถูกต้องให้กับนักศึกษาทุกคน ว่าครอบคลุมทั้งกาย วาจา สายตา ให้รู้จักการเคารพสิทธิ เนื้อตัวผู้อื่น ควบคู่กับการเปิดพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนที่สร้างความปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคน และเป็นธรรม เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการแก้ไข เพราะมีการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศนั้นจะเกิดผลกระทบทางจิตใจ นำไปสู่อาการทางจิตเวช และอาจจะนำมาสู่การทำร้ายตัวเองได้” ดร.ชเนตตี กล่าว

นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้า อย่างการมีพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนในสถานศึกษา โดยเฉพาะกรณีครูละเมิดต่อนักเรียน ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวต้องมาพร้อมกับโรงเรียนที่เป็นมิตร ปลอดภัย ปราศจากระบบอำนาจนิยม ขณะที่นักเรียนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ต้องลงโทษด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นการให้บทเรียน แทนการผลักไสไล่ส่งออกไปจากสังคม

สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ

ด้าน ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนิสิตที่มหาวิทยาลัยของตน ประกาศจุดยืนเอาจริงแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ผ่านการสอบถามความจริง ส่งเรื่องให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการ และมีกระบวนการปกป้องผู้เสียหาย ทำให้ปัญหาลดลงไป แม้ยังมีอยู่บ้าง ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งยังไม่รู้ว่าการแสดงออกใด ที่ทำให้คนอื่นอาจรู้สึกอึดอัด ถูกคุกคาม ก็อยากบอกว่า หากเราได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อน ไม่เอาประเด็นทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็สามารถสร้างความสนุกสนานในรูปแบบอื่นได้

Advertisement
เสวนา
เสวนา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image