ว่าด้วยเรื่อง ความหลากหลาย บน ‘เส้นผม’

ว่าด้วยเรื่อง ความหลากหลาย บน ‘เส้นผม’

ทุกๆ การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ล้วนมีเรื่องราวของการต่อสู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งการแลกเปลี่ยนมุมมอง รับฟังทัศนคติต่อประเด็นนั้นๆ จากหลายฝ่าย จะช่วยให้มองเห็นภาพรวม และทิศทางที่จะไปสู่จุดหมายได้ชัดเจนขึ้น

เช่นเดียวกับวงสนทนาออนไลน์ผ่านแอพพ์ซูม ว่าด้วยเรื่อง “เพศสภาพ อำนาจ และตัวตน ของเส้นผม” ดำเนินรายการโดย เรืองรวี พิชัยกุล สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI)ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อาจจะตอบคำถามที่หลายคนสงสัยได้ว่า “ก็แค่ทรงผม จะอะไรนักหนา” หรือในขณะที่หลายๆ คนก็ยังมองว่าการเรียกร้องให้ยกเลิก “ทรงผมนักเรียน” เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”

แฟ้มภาพ

แล้วทำไม “เส้นผม” หรือ “ทรงผม” ถึงมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อตัวตนของคนคนหนึ่ง ทั้งยังเกี่ยวโยงไปถึงบริบทต่างๆ ในสังคมทั้งในภาคของการเมือง นโยบายรัฐ วงการสื่อโฆษณา ไปจนถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQN+) อย่างมีนัยยะสำคัญ

Advertisement

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย จุดประเด็นว่า โลกโซเชียล หรือสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมมากๆ ต่างจากในอดีตที่ผู้คนไม่ได้มีโอกาสจะสื่อสารความคิดที่ตรงกัน เช่น โดนล้อเรื่องเพศสภาพยุคก่อนก็จะปลอบใจกันว่า “รักหรอกจึงหยอกเล่น” เทียบกับปัจจุบันหากมีคนบูลลี่ก็จะได้รับปฏิกิริยาที่ต่างไปจากเดิม เพราะเดี๋ยวนี้บูลลี่แทบเท่ากับอาชญากรรม ฉะนั้นความเข้าใจในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และเคารพในอัตลักษณ์ของผู้อื่น จึงค่อยๆ พัฒนามาคู่กัน

สำหรับคำว่า “นอน-ไบนารี่” (Non-Binary) วรภัทร อธิบายว่าคือกลุ่มคนที่เชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศไม่ได้มีแค่ชายหญิง ยังมีทางเลือกที่จะมีตัวตนทางเพศมากกว่านั้น อย่างตน “ไม่ต้องการถูกระบุว่าเป็นเพศอะไร” ด้วยรู้ตัวมาแต่เด็กว่าตัวเองมีเพศกำเนิดชายแต่เป็นผู้ชายที่ชอบมีหน้าใสและช้อปปิ้ง มากกว่ามีหนวดและไปเตะบอล ฉะนั้นจึงถูกผลักออกจากความเป็นผู้ชาย ขณะเดียวกันหากต้องเปลี่ยนตัวตนเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นชาย จึงตัดสินใจไม่เป็นชายก็ได้

ขณะเดียวกัน “ทรงผม” ก็เป็นเหมือนสิ่งที่แทนอัตลักษณ์ที่เราสามารถเลือกได้ ว่าแบบนี้เหมาะสมกับเรา แม้จะไม่ได้สวยหล่อแบบพิมพ์นิยม แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจ ความดูดีที่เราเลือกได้

Advertisement

สอดคล้องกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ร่วมแลกเปลี่ยนว่า เส้นผมหรือทรงผม คือส่วนที่เติมความเป็นเราให้เต็ม เติมตัวเราให้สมบูรณ์ เหมือนกับผู้หญิงเวลาที่เขาแต่งตัว หลายคนชอบไปบอกว่าเขาแต่งตัวโป๊ แต่จริงๆ เขาไม่ได้ต้องการยั่วยวนใคร แต่เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง ทำให้รู้สึกมีอำนาจ ก็เหมือนกับเส้นผมที่สามารถเลือกได้ ไม่ผิด

พูดถึงผู้หญิง และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกับทรงผมไปแล้ว ยังมีผู้ร่วมการเสวนาซึ่งแทนตัวเองว่าเป็น “ตัวแทนภาคีผู้ชายผมยาว” เล่าว่า มีประสบการณ์ทั้งไว้ผมสั้น และผมยาว ซึ่งในความรู้สึกไม่ได้แตกต่างกัน ทว่าการเป็นผู้ชายไว้ผมยาวทำให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป ถูกล้อว่า “หัวหรือผ้าเช็ดเท้า” ไปจนถึงอุปสรรคด้านการทำงานที่ถึงกับมีผู้เสนอให้ตัดผมเพื่อแลกกับตำแหน่งงานที่สูงขึ้น กระนั้นตนมองว่า ทรงผม คือรสนิยมที่ไม่ควรจะมีใครต้องมาบังคับกัน การทำงานก็อยากให้โฟกัสที่ผลงาน และพูดถึงความเท่าเทียมในอนาคตก็อยากจะเห็นโฆษณาที่มีผู้ชายผมยาวเป็นพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมดูบ้างเหมือนกัน

“ผมเลือกที่จะไว้ผมยาวเพราะไว้แล้วมั่นใจ แต่เวลาเข้าสังคมจะชอบมีคนถามตลอดว่าทำไมไว้ผมยาว ไปสมัครงานคำถามแรกก็คือทำไมไว้ผมยาว ไม่เห็นถามผมเลยว่าผมทำไรได้บ้าง” ตัวแทนภาคีผู้ชายผมยาวกล่าว

และเมื่อกล่าวถึง “ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม” ก็ต้องบอกว่าในปัจจุบันหลายๆ แบรนด์ได้ปรับตัวสะท้อนทัศนคติของแบรนด์ที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ และความงามผ่านผลงานโฆษณา ซึ่งตัวแทนจากแวดวงโฆษณา ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จะสังเกตได้ว่าสื่อโฆษณาของไทยในยุคปัจจุบันจะผ่านการคิดมากขึ้น ไม่ใช่โฆษณาแบบผมสวยใส่ออร่าเอฟเฟ็กฟรุ้งฟริ้งเหมือนแต่ก่อน แต่จะเน้นเป็นเรื่องราว สนุกสนาน เพราะคนเบื่อการนำเสนอแบบเดิมๆ

ทว่าในแต่ละสื่อก็จะมี “ทรงผม” ของบุคคลในจอที่เหมือนๆ กัน เช่น ละครช่อง 3 กับช่อง 7 ที่ของช่อง 7 ส่วนมากตัวละครจะไว้ผมยาว น้อยเรื่องที่จะไว้ผมสั้นด้วยเป็นบทปลอมตัวเป็นผู้ชาย ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าเป็นเพราะกลุ่มผู้ชมของช่องที่แตกต่างกัน ซึ่งช่อง 7 โดยส่วนมากทาร์เก็ตจะเป็นชาวบ้าน ซึ่งชอบความงามแบบอั้ม พัชราภา ซึ่งมีผมยาวสลวย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทรงผม ก็ยังคงเป็นสิ่งสะท้อนตัวตน และอัตลักษณ์มากๆ ยกตัวอย่างเช่น สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียน เพื่อนผู้หญิงจะชอบไดร์ผมตรงมาก ซึ่งตนได้ลองแล้วแต่รู้สึกไม่ใช่ พอเข้ามหาวิทยาลัยเรียนในคณะสถาปัตย์รู้สึกว่าการไว้ผมหน้าม้าเต่อๆ นี่แหล่ะเหมาะกับเรา รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคณะ แม้จะมีคนมาบอกว่าไว้แล้วไม่เหมาะก็ไม่ได้สนใจ เป็นต้น

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น “เรื่องเพศ” หรือ “ทรงผม” ไม่ควรที่จะกำหนดหรือตัดสินใจแทนกันได้

เสวนาออนไลน์ว่าด้วยเรื่อง “เพศสภาพ อำนาจ และตัวตน ของเส้นผม”
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image