จะเป็นอย่างไรเมื่อ “ตำรวจ” อาสาแก้ “ความรุนแรง” ในครอบครัว

อัมพวาโมเดล

จะเป็นอย่างไรเมื่อ “ตำรวจ” อาสาแก้ “ความรุนแรง” ในครอบครัว

เพราะความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นจากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ก่อนสะสมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นจะดีแค่ไหนหากเราได้รับรู้สัญญาณ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงก่อนจะเกิดความสูญเสีย  โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

อย่าง “ตำรวจ” เดินเข้าหาประชาชนเพื่อช่วยเหลือ แทนการนั่งรอรับแจ้งความ ก่อนจบด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจนำมาสู่ความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง

“อัมพวาโมเดล” คือ หนึ่งในภารกิจที่ตำรวจ ลุกขึ้นมาอาสาแก้ปัญหาครอบครัวให้กับประชาชน

พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของภารกิจนี้่ว่า ปัญหาความรุนแรง แม้จะมีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครับ (สค.) เป็นเจ้าภาพ และมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยร่วมรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาก็ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำงาน ผมซึ่งมีไอเดียอยากสร้างระบบคุ้มครองเด็กและครอบครัวเชิงรุกอยู่แล้ว อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาบูรณาการกัน จึงเชิญมาพูดคุยหาจุดร่วมการทำงานในพื้นที่อัมพวา ตั้งแต่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สมุทรสงคราม บ้านพักฉุกเฉิน สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตลอดจนภาคเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จนเกิดเป็นความร่วมมือกันขึ้น

Advertisement
อัมพวาโมเดล
อัมพวาโมเดล

อัมพวาโมเดลโฟกัสการช่วยเหลือดูแล 4  เป้าหมายคือ 1.เด็กพิเศษ หรือเด็กพิการ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 2.เด็กทั่วไปที่อยู่กับครอบครัว แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรืออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม 3.เด็กกลุ่มเสี่ยงก่ออาชญากรรม เช่น เด็กใช้ยาเสพติด เด็กแว้น และ 4.ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะกรณีสามีกระทำต่อภรรยา พ่อแม่กระทำต่อลูก

ผู้กำกับฯ เล่าอีกว่า ช่วงแรกๆ เรานำหลากหลายเคสมาพูดคุยถอดบทเรียนเพื่อหาขอบเขตการทำงานว่า แต่ละหน่วยสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ต้องส่งต่ออะไรยังไง เพื่อต่อไปเวลาพบเคสลักษณะนี้จะได้ช่วยเหลือได้ทันทีและทำอย่างเป็นระบบ พร้อมการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ถึงพิษภัยความรุนแรง

  “ในส่วนตำรวจเอง ผมให้นโยบายกับลูกน้องเลยว่า หากมีเคสความรุนแรงในเด็ก ความรุนแรงในครอบครัวเข้ามา อย่านิ่งเฉย ให้เดินหน้าทุกคดี คดีไหนที่ดำเนินการแล้ว ให้สายตรวจไปติดตามเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายต่อ เพื่อจะเป็นการบอกว่าตำรวจยังเฝ้ามองอยู่นะ

Advertisement

ฉะนั้นอยากฝากประชาชนว่าหากเกิดเหตุลักษณะนี้ ให้ร้องขอความช่วยเหลือมา บอกให้ชัดเจนว่าต้องการให้ช่วยเหลืออะไร อย่าอดทนนิ่งเฉยและปล่อยผ่าน”

อัมพวาโมเดล
อัมพวาโมเดล
อัมพวาโมเดล

ก้าวต่อไปของ “อัมพวาโมเดล” จะพยายามดึงผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการสร้างวัฒนธรรม “เผือก” ในชุมชน ที่ให้ทุกคนเมื่อพบเห็นปัญหานี้ต้องช่วยกัน เป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังความรุนแรง รวมถึงการสร้างกติกาหรือกลไกในชุมชน ที่จะประกาศไม่ยอมรับความรุนแรง เพื่อจะสามารถยับยั้งความฮึกเฮิมผู้ที่คิดจะกระทำได้

  “การทำงานเชิงรุกตรงนี้ อาจเหนื่อยหน่อยกับการประสานงานกับชาวบ้าน แต่ตำรวจจะไม่เหนื่อยเวลาตามปราบปราม เพราะเรามีหูตามากมายคอยป้องกัน ซึ่งเมื่อชาวบ้านเชื่อใจในตำรวจ อยู่อย่างมีความสุข อาชญากรรมก็จะไม่เกิด” พ.ต.อ.เผด็จกล่าว

มุมมองเอ็นจีโอ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แสดงความเห็นว่า ตำรวจเป็นกลไกที่สำคัญมากในคดีความรุนแรง หากได้ตำรวจที่เข้าใจความละเอียดอ่อน จะทำให้การคุ้มครองช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และนำไปสู่การบูรณาการอย่างแท้จริง

  “ต้องยอมรับว่าตำรวจที่จะเข้าใจความละเอียดอ่อนตรงนี้ยังมีน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังมาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ อาจมองเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เช่นเดียวกับคดีทางเพศต่างๆ ซึ่งยืนยันมาจากผู้เสียหายที่เข้ามาที่มูลนิธิหลายคน

บอกว่าตำรวจทำเพียงไกล่เกลี่ย บางคนโทษเหยื่อ หรือบางคนมีความใกล้ชิดกับผู้กระทำ ฉะนั้นกรณีอัมพวาโมเดล ถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่อยากให้ขยายไปยังสถานีตำรวจอื่นๆ”   

อย่างไรก็ตาม จะเด็จ อดห่วงไม่ได้ว่า อย่าให้อัมพวาโมเดลเป็นเพียงตำนาน ขอเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีนโยบายจากส่วนกลาง อย่างขณะนี้ที่ สตช.มีนโยบายให้ทุกสถานีตำรวจมีโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจร ทำอย่างไรจะใส่ปัญหาอื่นๆ ไปด้วย เช่น ความรุนแรง ติดเกมส์ ติดพนัน ติดสุรา เพราะชุมชนไม่ได้มีปัญหาแค่มิติเดียว

  ต้องเดินหน้าต่อ

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอัมพวา จ.สมุทรสงคราม
อัมพวาโมเดล
อัมพวาโมเดล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image