รวมพลัง ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ชุบชีวิต ‘เศรษฐกิจฐานราก’ อนุรักษ์-พัฒนา ‘มรดกภูมิปัญญา’

รวมพลัง ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ชุบชีวิต ‘เศรษฐกิจฐานราก’ อนุรักษ์-พัฒนา ‘มรดกภูมิปัญญา’

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วประทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อยทั้งผู้ผลิต และผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย ในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Tambon One Product (OTOP) ซึ่งเป็น “เศรษฐกิจฐานราก” ขาดโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่มือผู้บริโภค และประสบกับปัญหาการระบายสินค้า ทำให้ปี 2563 มียอดจำหน่ายลดลงร้อยละ 11.60 เมื่อเทียบกับปี 2562

เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโอทอป (OTOP)

สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำโดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ เป็น “ปฐมบท” ของการดำเนินงานโครงการ ที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกจังหวัด รวมไปถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ/เอกชน และประชาชน

คนไทยร่วมใจแต่งผ้าไทย

 

Advertisement

จากปฐมบทของโครงการ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้เสนอเรื่อง มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ลงมติเห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน

ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยทุกจังหวัดมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น สร้างการรับรู้ ผ่านกิจกรรมการแต่งผ้าไทยทั้งกิจกรรม Road Show การรณรงค์ การประชุม การจัดนิทรรศการ ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และรวบรวมเนื้อหาสาระข้อมูลเกี่ยวกับผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่จังหวัด จัดทำเป็นแคตตาล็อก, คลิปวีดิโอ, แผ่นพับ และหนังสือ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจด้วย
ความสำเร็จผลิดอกออกผลอย่างงดงาม โดยมีมากถึง 56 จังหวัดทั่วประเทศ ที่กำหนดมาตรการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน รองลงมา คือ ให้แต่งกายทุกวัน 13 จังหวัด และแต่งผ้าไทย 3 วัน 6 จังหวัด

Advertisement

พระมหากรุณาธิคุณ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทย ว่า

“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ “ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้เป็นที่นิยม สู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส”

รวมทั้งได้พระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน แก่พสกนิกรชาวไทยเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และพระราชทานพระอนุญาตให้เป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิภาค ให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้

กรมการพัฒนาชุมชนจึงน้อมนำพระดำริมาดำเนินการขับคลื่อนงาน โดยมีวัตถุประสงค์ 1.ประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 2.ประชาสัมพันธ์ แบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้เป็นที่รู้จักเพื่อนำไปเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น

3.เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย โดยมีเป้าหมาย ช่วยเหลือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในพื้นที่จังหวัด/อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็นที่รู้จักและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปหันมานิยมสวมใส่ และอนุรักษ์ผ้าไทยหรือผ้าในพื้นถิ่น

โดยกรมพัฒนาชุมชนได้มอบลายผ้าผ่านผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อส่งมอบต่อให้กับกลุ่มทอผ้า 76 จังหวัด ปัจจุบันมีกลุ่มที่นำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ไปต่อยอดและเป็นต้นแบบ 2,745 กลุ่ม สร้างรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 จำนวน 108,849,566 บาท
และจากการดำเนินการประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของทุกจังหวัด ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มียอดจำหน่ายรวม 5,826,641,460 บาท

จาก “อนุรักษ์” สู่ “ต่อยอดพัฒนา”

จากการอนุรักษ์ได้นำมาสู่การ “ต่อยอด” ภูมิปัญญาการแปรรูปผ้าไทยผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัดและชุมชน อาทิ จัดโครงการประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน, โครงการ CDD Young Designer Contest ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าไทย ผสมผสานสู่แฟชั่นเครื่องแต่งกายที่สามารถสวมใส่ได้จริงจากนักออกแบบรุ่นใหม่, จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โดยจัดประกวดระดับภาค 4 ภาค โดยมีจำนวนผ้าที่จังหวัดรับสมัครเข้าประกวดทั้งหมด 3,215 ผืน โดยจะมีพิธีมอบรางวัลวันที่ 11 สิงหาคม 2564, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP เป็นต้น

“ผ้าไทย” ดอกผลที่ผลิบาน

จากการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 –มิถุนายน 2564 มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

จังหวัดที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ 1.ขอนแก่น 2.นครราชสีมา 3.ชัยภูมิ

สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับประโยชน์ พบว่า สมาชิกของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลประโยชน์จากการจำหน่ายผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองจำนวนทั้งสิ้น 110,925 คน จังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ 1.บุรีรัมย์ 2.สุรินทร์ 3.ร้อยเอ็ด

ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และคนไทยทุกคน ช่วยกันอนุรักษ์ และพัฒนา “ผ้าไทย” ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image